ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 วันนี้ (13 ก.ค.66) : นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ส.ก.เขตคลองสามวา เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาปรับเปลี่ยนรถราชการที่มีเครื่องยนต์เผาไหม้แบบสันดาปเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานราชการที่มีรถราชการ เช่น รถตู้โดยสาร รถเก็บขนมูลฝอย รถบรรทุกน้ำ รถบรรทุกต่าง ๆ จำนวนรวมทั้งสิ้นกว่า 4,000 คัน ซึ่งรถดังกล่าวใช้เครื่องยนต์เผาไหม้แบบสันดาปหรือเครื่องยนต์ดีเซลที่เป็นต้นกำเนิดการปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สูงกว่าร้อยละ 49 นอกจากนี้ รถที่มีการใช้งานในปริมาณมากทำให้เครื่องยนต์ชำรุดสึกหรอจากการขาดการบำรุงรักษาที่ไม่ดีเท่าที่ควร เกิดการเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ เป็นสาเหตุให้เกิดมลพิษจากไอเสียเกินค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน กรุงเทพมหานครจึงควรมีการดัดแปลงรถยนต์ดีเซลเดิมให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อยืดอายุการใช้งานรถยนต์ ที่มีอยู่เดิมออกไปได้ หรือพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแทนรถยนต์เดิมที่หมดอายุการใช้งานหรือที่จะต้องจัดซื้อใหม่ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดมลพิษทางอากาศและปัญหาฝุ่นละอองได้โดยตรง อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณค่าเชื้อเพลิงซึ่งมีราคาสูง โดยอาจมีการนำร่องในพื้นที่เขตที่มีค่าความเข้มข้นมลพิษทางอากาศสูงเกินมาตรฐาน
“เมื่อต้นปีเขตคลองสามวาได้ขึ้นชื่อว่าติด Top 5 ของเขตที่มีค่า PM 2.5 สูงที่สุดในกรุงเทพฯ ทั้งที่เรามีรถโดยสารสาธารณะเพียง 2-3 สายเท่า เมื่อพิจารณาแล้วทำให้เห็นว่าในพื้นที่เขตมีรถราชการของกรุงเทพมหานครจำนวนมาก ทั้งรถขยะ ขนาด 5 ตัน 2 ตัน รถหน่วยเบสท์ รถน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถดีเซล นอกจากนี้ยังมีรถกระบะของเทศกิจ รถตู้ ซึ่งทำให้เกิดค่ามลพิษสูง โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จะปล่อยค่า PM2.5 ถึง 0.10 มคก./ลบ.ม. ทั้งนี้ ค่า PM2.5 นอกจากจะมีผลกระทบต่อคุณภาพอากาศแล้วยังมีผลต่อคุณภาพสุขภาพ และคุณภาพการใช้ชีวิตของประชาชน การปรับเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าจะช่วยให้สุขภาพของผู้ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับรถดีขึ้นด้วย เช่น พนักงานเก็บขนขยะที่ต้องทำงานต่อเนื่องทุกวัน และยังสามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ด้วย หากกทม.สามารถตั้ง Station เอง เราจะสามารถให้บริการได้ทั้งรถของเราเองและให้ประชาชนได้ด้วย เบื้องต้นสามารถกำหนดเป็น Sand box เพื่อทำเป็นโมเดลจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนรถราชการเป็นรถไฟฟ้า โดยอาจเริ่มจากเขตที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ปริมาณประชากร เช่น ในพื้นที่คลองสามวา สายไหม หนองจอก และลาดกระบัง” ส.ก.นฤนันมนต์ กล่าว
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้เริ่มนำรถไฟฟ้ามาใช้ตั้งแต่ปี 64 ตามมติคณะรัฐมนตรี และได้เวียนให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติ โดยเฉพาะการจัดซื้อรถยนต์ให้จัดซื้อเป็นรถไฟฟ้า รวมถึงการจัดหารถเช่าไฟฟ้าที่เป็นรถเก็บขนมูลฝอย และสำนักการคลังกับสำนักการโยธาได้พยายามที่จะปรับปรุงข้อบัญญัติเพื่อติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ภายในปี 68 สำนักการคลังคาดว่าจะมีรถราชการไฟฟ้ามาทดแทนไม่น้อยกว่า 500 คันในอนาคต
————-