ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 วันนี้ (5 ก.ค.66) นายยิ่งยงค์ จิตเพียรธรรม ส.ก.เขตทวีวัฒนา ได้เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครสำรวจเพื่อติดตั้งป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางและศาลาที่พักผู้โดยสารให้ครอบคลุม เนื่องจากกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะพื้นที่เขตรอบนอกประชาชนได้รับความลำบากในการใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ เพราะถนนบางสายในบางจุดไม่มีป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางหรือมีแต่ระยะห่างกันและบางจุดไม่มีศาลาที่พักผู้โดยสาร ทำให้ผู้เดินทางได้รับความเดือดร้อน ต้องยืนตากแดดตากฝนรอรถโดยสารประจำทาง เช่น กรณีถนนศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา ได้รับความไม่สะดวกในการเดินทางไปทำงานหรือไปสถานที่ต่าง ๆ ถนนบางสายไม่มีรถโดยสารประจำทางผ่าน ทำให้ประชาชนต้องใช้รถยนต์ส่วนบุคคลหรือใช้บริการรถแท็กซี่ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง กรุงเทพมหานครจึงควรสำรวจเพื่อติดตั้งป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางและศาลาที่พักผู้โดยสารให้ครอบคลุม รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจเพื่อพิจารณาให้บริการเส้นทางเดินรถขนส่งสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและปลอดภัยจากการใช้รถขนส่งสาธารณะ
“ภาพรวมการคมนาคมขนส่งของเขตทวีวัฒนา มีถนนสายหลัก สายรอง รถไฟฟ้า โดยถนนแต่ละสายมีทั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัยและห้างสรรพสินค้า ยกตัวอย่าง รถโดยสารสาย 165 วิ่งเชื่อมเส้นทาง จากท่ารถ ผ่านถนนศาลาธรรมสพน์ เชื่อมไปสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 3 ไปสู่ถนนเพชรเกษม และไปสู่บางแคเป็นจุดสุดท้าย จากการสอบถามข้อมูลพบว่าอำนาจกำหนดเส้นทางเดินรถเป็นของกรมการขนส่งทางบก แต่อำนาจในการตั้งจุดจอดรถโดยสารเป็นของกรุงเทพมหานคร เมื่อกำหนดจุดจอดรถเบื้องต้น โดยนำข้อมูลไปหารือกับประชาชนที่มีส่วนได้เสียในพื้นที่ และศึกษาข้อมูลจากทฤษฎี Last Mile คือการทำให้ประชาชนได้ใช้การเดินทางที่สะดวกและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่สุด และเห็นควรให้มีป้ายรถโดยสาร 14 จุด และ Bike rack 2 จุด ทั้งนี้เพื่อยกระดับการเดินทางให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ สำหรับในระยะยาวอาจใช้รูปแบบของ Feeder เพื่อเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งสาธารณะ ดึงคนจากชุมชนเข้าสู่ระบบหลัก การเพิ่ม EV Bus และยกระดับป้ายรถประจำทางให้มีพื้นที่นั่งรอ มีป้ายบอกการเดินรถที่ได้มาตรฐาน ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนได้รับประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 10,000 ครัวเรือน หรือประมาณ 25,000 คน สำหรับระยะเร่งด่วนควรติดตั้ง GPS ระบบสองแถว เชื่อมต่อ VIA Bus และสร้างแผนที่การเดินทางทวีวัฒนาและเชื่อมต่อกับพื้นที่อื่น” ส.ก.ยิ่งยงค์ กล่าว
จากนั้นส.ก.ได้ร่วมอภิปรายในญัตตินี้หลายท่าน ประกอบด้วย
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง กล่าวว่า รถ Feeder ที่ฝ่ายบริหารจัดไว้ให้มีประโยชน์มาก แต่พบว่ามีปัญหาการเดินรถไม่ตรงเวลา
นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน กล่าวว่า ในพื้นที่เขตคลองสานมีศาลาผู้โดยสารที่มีปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างหลายจุด การกำหนดจุดป้ายรถโดยสารไม่มีความเหมาะสม บางแห่งมีเสาของรถไฟฟ้าบัง แต่ยังไม่มีการย้ายศาลาที่พักผู้โดยสารไปยังจุดที่เหมาะสม
นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า เข้าใจว่าการกำหนดจุดจอดรถ ต้องได้รับความเห็นชอบจากหลายหน่วยงาน หลายจุดต้องดูว่าป้ายรถโดยสารที่มีอยู่ก่อให้เกิดความสะดวกสบายกับประชาชนจริงหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปดูว่าสิ่งที่มีอยู่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่หรือไม่
นายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก กล่าวว่า ประชาชนฝากขอบคุณสำนักการจราจรและขนส่งที่ได้ไปตั้งป้ายรถเมล์ให้ใหม่กว่า 60 จุด แต่ยังขาดในเรื่องไฟฟ้าส่องสว่างและการปรับระดับของศาลากับพื้นถนนให้เหมาะสม ซึ่งมั่นใจว่าในอนาคตกทม.จะไม่มีที่พักผู้โดยสารชั่วคราวในลักษณะเต็นท์อีกต่อไป รวมถึงการปรับปรุงสัมปทานรถสองแถวโดยสารให้เป็นรถEV และการเพิ่มเวลาเดินรถให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน
รวมถึง นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ส.ก.เขตคลองสามวา นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง และนางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม ได้ร่วมอภิปรายเพื่อให้กรุงเทพมหานครพิจารณาดำเนินการสำรวจเพื่อเพิ่มจำนวนศาลาที่พักผู้โดยสารและปรับปรุงให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อความปลอดภัยให้กับประชาชนด้วย
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่เราได้มีการพูดถึงเส้นเลือดฝอย ทั้งเรื่อง ฟุตบาททางเท้า ทางข้าม สะพานลอยคนข้าม Feeder เป็นปัญหาจริงของพี่น้องประชาชนนโยบายเรื่อง Feeder และศาลาที่พักผู้โดยสารเป็นนโยบายที่ต้องทำ เป้าหมายคือ 2,000 แห่งต้องดีขึ้น และจะเร่งดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ได้ทำรูปแบบ Prototype ออกมาแล้ว และจะเริ่มดำเนินการในปีนี้รวมถึงวางแผนในระยะยาวด้วย ทั้งนี้หากส.ก.มีข้อมูลจุดที่ต้องเริ่มดำเนินการให้ประชาชนสามารถแจ้งได้ และฝ่ายบริหารจะรับไปดำเนินการในทันที
รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในเรื่องของรูปแบบป้าย สำนักการจราจรและขนส่งได้ดำเนินการออกแบบมา เป็นศาลารูปแบบเสาเดี่ยว และรูปแบบขนาด S M L ขึ้นกับขนาดพื้นที่ รวมถึงมีการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างและข้อมูลรถโดยสารที่จะผ่าน โดยแต่ละจุดจะพิจารณาจากลักษณะพื้นที่เป็นหลัก และคำนึงถึงข้อจำกัดในการก่อสร้าง อาทิ ทางเท้าแคบ บดบังอาคาร/ร้านค้า หรือติดระบบสาธารณูปโภค การเลือกจุดจะดำเนินการโดยคณะกรรมการกำหนดจุดป้ายที่พักผู้โดยสารซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วน เช่น กรมการขนส่งทางบก ตำรวจจราจร สำนักงานเขต รวมถึงข้อมูลประกอบจากส.ก.ในพื้นที่ ซึ่งในปี 66-67 จะมีศาลาที่พักผู้โดยสารรูปแบบใหม่ จำนวน 302 หลัง และจะเพิ่มจำนวนให้มากถึง 476 หลัง ในปี 68
—————-