(5 ก.ค.66) ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 : นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา ได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดลักษณะอาคารและพื้นที่ว่างนอกอาคารเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …
ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครประสบปัญหาขาดแคลนพื้นที่สีเขียวเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานที่องค์การสหประชาชาติประกาศกำหนด แม้กรุงเทพมหานครและหน่วยงานของรัฐอื่นจะมีการตั้งงบประมาณเพื่อก่อสร้างปรับปรุงสวนในทุกปี แต่กรุงเทพมหานครก็ยังมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวที่ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร เพื่อกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบของที่ว่างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ให้มีส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่สีเขียว อันจะเกิดประโยชน์แห่งการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดีของประชาชน จึงควรตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ ทั้งนี้หลักการสำคัญในร่างข้อบัญญัติฉบับที่ได้เสนอเข้าสู่สภากรุงเทพมหานครในครั้งนี้ ได้แก่ คำนิยม การกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำที่ว่างภายนอกอาคารของอาคารแต่ละหลัง การคำนวณขนาดของพื้นที่สีเขียว เป็นต้น
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีกฎหมายแม่ควบคุมในเรื่องพื้นที่สีเขียวอยู่แล้ว โดยมีพรบ.ผังเมืองรวมและพรบ.อาคารควบคุม เรื่องนี้ต้องคิดว่าข้อบัญญัติของกทม.ที่ออกมาจะขัดกับกฎหมายใหญ่หรือไม่ โดยกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 มีทั้งส่วนที่กำหนดพื้นที่สีเขียว พื้นที่โล่ง เข้าใจว่าสมาชิกอยากได้พื้นที่สีเขียว แต่ต้องดูว่าการออกกฎหมายสำหรับบังคับใช้ในกทม.จะไปขัดแย้งกับกฎหมายใหญ่หรือไม่ โดยคณะกรรมการควรพิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งเชื่อว่าส.ก.ทุกคนอยากเห็นพื้นที่สีเขียวเหมือนกันทั้งหมด
นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า เล็งเห็นถึงเจตนาดีของผู้เสนอญัตติ แต่มีหลายส่วนที่ทำให้ผู้ใช้อาคารมีความลำบากมากขึ้น ในส่วนของนิยามยังไม่ครอบคลุม และหลายข้อยังต้องมีการตีความ อาจส่งผลในทางปฏิบัติ จึงอยากให้ข้อบัญญัติไม่ขัดต่อกฎหมายหลัก สอดคล้องกับกฎหมายที่มีอยู่ ขอฝากคณะกรรมการพิจารณาให้พิจารณาให้รอบคอบ
นายพุทธิพัชร์ กล่าวยืนยันต่อที่ประชุมว่า ข้อบัญญัติฉบับนี้ไม่ขัดกฎหมายใหญ่ทั้งหมด เป็นการยกมาจากพรบ.ใหญ่ทั้งหมด ที่เสนอในวันนี้เป็นเพียงร่างเท่านั้น หลังตั้งคณะกรรมการพิจารณาจะมีการปรับปรุงรายละเอียดโดยหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อนำเข้าสู่สภากทม.ในวาระต่อไป
ทั้งนี้สภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบในหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดลักษณะอาคารและพื้นที่ว่างนอกอาคารเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. … และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ จำนวน 17 ท่าน
——–