ผู้ว่าฯ สัญจร สำนักงานตรวจสอบภายใน หัวใจคือความโปร่งใสและความมีประสิทธิภาพ เล็งนำเทคโนโลยีมาใช้ ควบคู่การพัฒนาองค์ความรู้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเป็นประธานกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักงานตรวจสอบภายใน (สตน.) สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกทม. ว่า สำนักงานตรวจสอบภายใน เป็นหน่วยงานที่สำคัญในการตรวจสอบ ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครว่ากระบวนการต่างๆ ครบถ้วนตามระเบียบปฏิบัติหรือไม่ โครงการต่างๆ ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าหรือไม่ โดยมี เจ้าหน้าที่ประมาณ 60 คน มีหน่วยรับตรวจ 750 แห่งในความรับผิดชอบ แบ่งได้ดังนี้ การบริหารการคลังและการพาณิชย์ การสาธารณสุข การสาธารณูปโภคและป้องกันภัย สังคมและ สิ่งแวดล้อม การศึกษา สำนักงานเขต 1 (กลุ่มกรุงเทพเหนือ กลุ่มกรุงเทพตะวันออก และกลุ่มกรุงเทพกลาง) สำนักงานเขต 2 (กลุ่มกรุงเทพใต้ กลุ่มกรุงธนเหนือ และกลุ่มกรุงธนใต้) และพิเศษ (ติดตามผลตามข้อสั่งการของผู้บริหารกทม. ติดตามผลตามข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และภารกิจอื่นที่ได้รับมอบหมาย) ซึ่งถือเป็นภาระที่หนัก เพราะกทม.มีหน่วยย่อยจำนวนมาก การทำงานตรวจสอบภายในจึงเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในความโปร่งใส จึงได้ให้นโยบายไปดังนี้
เรื่องที่ 1 ให้ใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น เพื่อให้เราตรวจสอบได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบ เรื่องที่ 2 ฝ่ายตรวจสอบต้องมีความพร้อม เพราะงานหลายอย่างของกทม.เป็นเชิงเทคนิคสูง เช่น สมมุติว่าเราจะไปตรวจสอบเรื่องอุโมงค์ระบายน้ำ เจ้าหน้าที่ก็ต้องมีความเข้าใจพื้นฐานในหลักวิศวกรรม ซึ่งสำนักงานตรวจสอบภายในได้ร้องขอให้มีผู้เชี่ยวชาญมา สนับสนุน ดังนั้น ทางส่วนกลางก็จะสนับสนุนเรื่องเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้อย่างเข้มข้นมากขึ้น เรื่องที่ 3 หน่วยรับตรวจต้องมีความเข้าใจในเรื่องระบบบัญชี ฉะนั้น ทางส่วนกลางต้องมีการอบรมให้ความรู้แก่หน่วยรับตรวจ เพื่อให้เข้าใจวิธีการลงบัญชีทรัพย์สินต่างๆ และทำให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ เรื่องที่ 4 นอกจากเรื่องความโปร่งใส ต้องเน้นเรื่องประสิทธิภาพในการให้บริการด้วย เพราะประชาชนคาดหวังประสิทธิภาพในการให้บริการว่าตอบสนองกับความต้องการได้เร็วแค่ไหน ดังนั้น ในการลงไปตรวจ นอกจากจะตรวจสอบเรื่องการเงินแล้ว ต้องตรวจสอบในมิติการให้บริการประชาชนว่าหน่วยงานของเราทุจริตเวลาให้บริการประชาชนหรือไม่ แต่ต้องดูด้วยว่ากำลังพลเพียงพอหรือไม่ด้วย ซึ่งส่วนกลางคงต้องให้ความช่วยเหลือทั้งด้านกำลังพลและด้านเทคโนโลยี
“ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเดินหน้า เพราะหัวใจสำคัญที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนคือบุคลากรทั้ง 80,000 คน ของกทม.ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การให้ บริการมีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใส” นายชัชชาติ กล่าว
พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า การตรวจสอบภายในไม่ใช่การจับผิด เป็นการตรวจเพื่อให้คำแนะนำและเชิงป้องกัน ดังนั้น ความร่วมมือในการดำเนินการทั้งผู้รับตรวจและผู้ตรวจ ต้องเป็นความสัมพันธ์ อย่างตรงไปตรงมา และเป็นไปอย่างถูกต้องตามที่ควรจะเป็น อะไรที่ต้องแก้ไขปรับปรุงทางหน่วยตรวจก็จะแจ้งไปตาม ลำดับขั้น หน่วยรับตรวจก็จะต้องไปศึกษาแล้วดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า แล้วก็สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 29 มิ.ย. 2566