กทม.เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เมียนมา แนะวิธีรับมือแผ่นดินไหว
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนในการรับมือหากเกิดแผ่นดินไหวว่า สปภ.ในฐานะฝ่ายเลขานุการของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ได้ประสานกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในทะเลบริเวณนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งทำให้ประชาชนที่ทำงาน หรือพักอาศัยอยู่บนอาคารสูงในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ ได้รับความรู้สึกสั่นไหวที่สัมผัสได้ เช่น ตัวอาคารสั่นไหว โคมไฟแกว่ง หรือมีอาการเวียนหัวจนรู้สึกได้ เป็นต้น ดังนั้น ขณะเกิดแผ่นดินไหวขอให้ประชาชนที่ทำงาน หรือพักอาศัยอยู่บนอาคารสูงพยายามหาที่กำบัง เช่น ให้หลบเข้าใต้โต๊ะทำงาน หรือใต้เตียง อย่าวิ่งถลันออกไปภายนอกอาคาร เพราะบันไดอาจพังถล่มลงได้ และห้ามใช้ลิฟต์ หรือหากออกจากอาคารไม่ได้ให้พยายามยืนชิดติดกับเสาที่แข็งแรง หากอยู่ภายนอกอาคารพยายามอยู่ในที่โล่งแจ้ง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับอาคารสูง กำแพง และเสาไฟฟ้า เป็นต้น และหลังจากการสั่นไหวหยุด ให้รีบออกจากอาคารทันที ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากเหตุแผ่นดินไหว หรือประสบเหตุสาธารณภัยต่าง ๆ สามารถขอความช่วยเหลือผ่านโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กทม.เร่งสร้างความเข้าใจการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียแก่สถานประกอบการประเภทที่ 3
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของ กทม. สถานประกอบการในประเภทที่ 3 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนน.ได้เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ถึงการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ก่อนจะประกาศจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่จะจัดเก็บในระยะแรก ประกอบด้วย (1) หน่วยงานของรัฐ หรืออาคารที่ทำการของเอกชน หรือองค์กรระหว่างประเทศ (2) สถานประกอบการที่มีการใช้น้ำไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/เดือน (3) โรงแรม โรงงาน และสถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเกินกว่า 2,000 ลบ.ม./เดือน และ (4) แหล่งกำเนิดน้ำเสียที่เจ้าของ หรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียได้ขอรับบริการบำบัดน้ำเสียของ กทม.เรียบร้อยแล้ว หรือมีความประสงค์จะขอรับบริการบำบัดน้ำเสียของ กทม. อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสีย หากมีความประสงค์ที่จะเดินระบบด้วยตนเองและพิสูจน์ได้ว่า เดินระบบบำบัดน้ำเสียเป็นไปตามมาตรฐาน จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย เป็นไปตามระเบียบ กทม.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย หรือหากผู้ประกอบการประสงค์เลือกใช้บริการบำบัดน้ำเสียของ กทม.จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียขั้นต้น แล้วยื่นคำขออนุญาตต่อเชื่อมท่อน้ำเสียเข้ากับระบบรวบรวมน้ำเสียของ กทม.พร้อมชำระค่าธรรมเนียมรายเดือนตามอัตราที่กำหนด ซึ่งจากการศึกษาของ กทม.พบว่า การชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยถูกกว่าการเดินระบบบำบัดน้ำเสียของตนเอง อีกทั้งยังช่วยผู้ประกอบการไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลเดินระบบและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานอีกทางหนึ่งด้วย
สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพฯ ครอบคลุมพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสีย 22 เขต ได้แก่ เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางรัก เขตสาทร เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตดินแดง เขตราชเทวี เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตห้วยขวาง เขตหนองแขม เขตบางแค เขตภาษีเจริญ เขตดุสิต เขตทุ่งครุ เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ และเขตหลักสี่ ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายในการเดินระบบและบำรุงรักษามากกว่า 700 ล้านบาท/ปี ประกอบกับ กทม.มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ประชาชนที่ก่อให้เกิดน้ำเสียและก่อมลพิษลงสู่แหล่งน้ำตามคูคลองได้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาน้ำเสีย พร้อมทั้งเป็นการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม กทม.จึงจำเป็นต้องจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียจากผู้ประกอบการ เพื่อลดภาระงบประมาณ กทม.ที่สูญเสียไปกว่า 700 ล้านบาท/ปี ซึ่งงบประมาณดังกล่าวสามารถนำไปใช้งานบริการด้านสาธารณะอันเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไป
เขตสวนหลวงเร่งประสานหน่วยงานร่วมแก้ปัญหาจักรยานยนต์กลับรถทางม้าลายปากซอยพัฒนาการ 29
นางสุภมาส เลขาจารกุล ผู้อำนวยการเขตสวนหลวง กทม. กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์กลับรถบริเวณทางม้าลายบริเวณปากซอยพัฒนาการ 29 ว่า สำนักงานเขตฯ ได้นำเสากั้นรถจักรยานยนต์มาปักไว้ เพื่อป้องกัน มิให้รถจักรยานยนต์กลับรถบริเวณดังกล่าว รวมทั้งได้ประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) คลองตัน เพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยกวดขันจับกุมผู้กระทำผิดทุกวัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานเขตฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดประชุมศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนเขตสวนหลวง เพื่อหารือประเด็นปัญหาการกลับรถบริเวณทางม้าลายบริเวณปากซอยพัฒนาการ 29 ซึ่งผู้แทนจาก สน.คลองตัน ได้เสนอความเห็นว่า ควรปิดจุดกลับรถบริเวณดังกล่าวถาวร โดยให้รถที่วิ่งมาจากถนนพัฒนาการมุ่งหน้าแยกคลองตันให้ไปกลับรถบริเวณสามแยกพัฒนาการ 25 ที่มีสัญญาณไฟจราจรแทน ส่วนรถที่วิ่งมาจากแยกพัฒนาการ 25 มุ่งหน้าถนนลาดกระบังให้ไปกลับรถในอุโมงค์กลับรถบริเวณซอยพัฒนาการ 39 อย่างไรก็ตาม การพิจารณาดำเนินการตามความเห็นดังกล่าว รวมถึงการเปิดจุดกลับรถเพิ่มยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากช่องการจราจรที่มีจำกัดและพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย จะต้องจัดทำแผนและประสานสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักวิศวกรรมจราจร สำนักการโยธา และ สน.ลงพื้นที่ เพื่อร่วมกำหนดแนวทาง การแก้ไขปัญหาต่อไป