กทม.ประสาน รฟม.เร่งจัดซ่อมทางเท้าคืนผิวจราจรถนนลาดพร้าวแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีผู้ใช้ทางสัญจรขอให้เร่งคืนพื้นผิวจราจรและปรับปรุงทางเท้าบริเวณถนนลาดพร้าวตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองว่า สนย.ได้ตรวจสอบและประสานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทราบว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงถนนลาดพร้าวอยู่ระหว่างเร่งจัดซ่อมและคืนผิวจราจร โดยถนนลาดพร้าวฝั่งขาเข้าจะคืนผิวจราจรได้ทั้งหมดภายในเดือน มิ.ย.66 ส่วนฝั่งขาออกจะมีการก่อสร้างของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมด้วย และอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการ คาดว่าจะสามารถคืนผิวจราจรแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือน ก.ย.66
กทม.บูรณาการความร่วมมือจัดระเบียบแก้ปัญหาคนเร่ร่อน – ขอทานในพื้นที่สาธารณะ
นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนปัญหาขอทานต่างด้าวในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะบริเวณย่านธุรกิจ ใกล้ห้างสรรพสินค้า ตลาด และแหล่งชุมชน รวมถึงบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า สำนักงานเขตฯ ได้บูรณาการความร่วมมือกับสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ปทุมวัน สน.ลุมพินี สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกันแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนขอทานบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หน้าศาลพระพรหม และหน้าวัดปทุมวนาราม ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 โดยจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจตราเฝ้าระวังและผลักดันให้ออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการไปยังสำนักเทศกิจ กทม. นอกจากนั้น ยังได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบกวดขันการกระทำที่มีลักษณะผิดกฎหมายบริเวณทางเท้าและที่สาธารณะ โดยจัดเจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจเทศกิจลงพื้นที่กวดขันไม่ให้ขอทานต่างด้าวและผู้ค้านำรถเข็น หรือแผงค้าเข้ามาใช้พื้นที่กีดขวางทางสัญจรของประชาชนบริเวณหน้า สตช.และทางเท้าในพื้นที่เขตปทุมวัน ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาขอทานจะพิจารณาจากสัญชาติ หากเป็นคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง จะนำส่ง สตม. ซึ่งการจับกุมขอทานต้องใช้การเจรจาที่สุภาพและเชิญไป สน.พื้นที่ ส่วนขอทานคนไทย สำนักงานเขตฯ ได้ประสานส่งต่อการช่วยเหลือไปยัง พม.เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ในขอทาน เด็ก คนพิการ และคนไร้ที่พึ่ง พร้อมทั้งหาทางช่วยเหลือ หรือส่งสถานสงเคราะห์ตามกระบวนการ
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวว่า สพส.ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบผู้ทำการขอทานในพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ สำนักงานเขต สำนักเทศกิจ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย กรมสุขภาพจิต สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี พม. สตช. สตม. และ สน.ในพื้นที่ โดย สพส.ได้จัดเจ้าหน้าที่ร่วมลงพื้นที่จัดระเบียบผู้ทำการขอทานในพื้นที่ที่มีผู้ทำการขอทานย่านธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า ตลาด และแหล่งชุมชน ขณะเดียวกันได้สำรวจ คัดกรอง จัดทำประวัติ ให้คำปรึกษาแนะนำ และทำความเข้าใจกับผู้ที่เข้ามาพักอาศัยหลับนอน หรือใช้พื้นที่สาธารณะ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ส่งผลกระทบให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน โดยอำนาจหน้าที่ดำเนินการด้านคนขอทานเป็นของ พส. พม. เจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าพนักงานปกครอง และผู้อำนวยการเขต หากพบผู้ทำการขอทานต่างด้าวจะนำส่ง สน.ในพื้นที่ เพื่อสอบสวน บันทึกการจับกุม เปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 และส่งไปยัง สตม.เพื่อผลักดันกลับประเทศต้นทางต่อไป
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวว่า สนท.ได้เข้าร่วมประชุมตรวจตราและเฝ้าระวังผู้ทำการขอทานไทยและต่างด้าวในกรุงเทพฯ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สตช. ตม. กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กทม. กองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 สำนักงานเขต 50 เขต สน.ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้หารือการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 กรณีคนขอทานที่เป็นคนไทย เมื่อฝ่าฝืนทำการขอทานตามมาตรา 13 จะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 19 คือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีคนขอทานต่างด้าวจะถูกดำเนินคดีข้อหากระทำการฝ่าฝืน มาตรา 13 และมาตรา 19 เมื่อสิ้นสุดคดีแล้วให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งตัวไปยังกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง หรือส่งกลับประเทศต้นทาง ซึ่งดำเนินการโดยตำรวจ เจ้าหน้าที่เทศกิจ สังกัดสำนักงานเขต (เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559)
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้กำชับสำนักงานเขต 50 เขต ให้เข้มงวดตรวจตราคนไร้บ้านในพื้นที่รับผิดชอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาขอทาน สร้างความเดือดร้อนและความไม่ปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบกวดขันการกระทำที่มีลักษณะผิดกฎหมายในบริเวณทางเท้าและที่สาธารณะผ่านโครงการตรวจตราคนไร้บ้านและขอทานเมือง
กทม.สุ่มตรวจอาคารที่ได้รับใบรับรอง พร้อมติดตั้งเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนใน รพ.และอาคารสาธารณะ
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีเหตุแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งเมียนมาเกิดแรงสั่นสะเทือนรับรู้ถึงอาคารสูงในกรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนย.ได้ประสานความร่วมมือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติดตั้งเครื่องวัดความสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่ชั้น 36 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม.2 เขตดินแดง เพื่อตรวจวัด บันทึกข้อมูล วิเคราะห์ และแจ้งเตือนกรณีมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนี้มี รศ.ดร.ฉัตรพันธุ์ จินตราภักดี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อมรเทพ จิรศักดิ์จำรูญศรี อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมตรวจสอบค่าจากเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนของอาคารธานีนพรัตน์ ชั้น 36 ศาลาว่าการ กทม.2 เขตดินแดง วัดได้ 3.5 milli-g และบริเวณชั้น 4 ของอาคารภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัดได้ 1.5 milli-g โดยค่าดังกล่าวที่คนสามารถรู้สึกได้ชัดเจนถึงแรงของแผ่นดินไหวจะอยู่ที่ 1-2 milli-g ซึ่งสอดคล้องกับค่าที่วัดได้ที่ 1.5-3.5 milli-g สำหรับความต้านทานแรงแผ่นดินไหว หากเป็นอาคารที่สร้างภายหลังการออกกฎกระทรวงปี 2550 นั้น จะสามารถรับค่าความเร่งได้ถึง 50 milli-g เมื่อวัดที่ฐานของโครงสร้างและสามารถรับค่าความเร่งได้ถึง 150 milli-g เมื่อวัดที่ยอดของโครงสร้าง ทั้งนี้ สนย.ได้ส่งเจ้าหน้าที่สุ่มสำรวจตรวจสอบอาคารที่อาจได้รับผลกระทบจากแรงแผ่นดินไหว พบว่าไม่มีอาคารใดได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้น โดยสรุปแล้วแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับที่ทำให้คนรู้สึกได้ชัดเจนและเกิดความวิตกต่อผู้ใช้อาคาร แต่ยังไม่รุนแรงพอที่จะส่งผลทำให้เกิดความเสียหายของโครงสร้างอาคารได้
สำหรับเจ้าของอาคาร 9 ประเภทที่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคาร เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยผู้ตรวจสอบอาคารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมโยธาธิการและผังเมืองและยื่นให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาออกใบรับรองการตรวจสอบอาคาร ซึ่งประกอบด้วย อาคารสูง (อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ขึ้นไป อาคารชุมนุมคน (อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการชุมนุมคนที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตร.ม.ขึ้นไป หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป) โรงมหรสพ โรงแรมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้น สถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตร.ม.ขึ้นไป อาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป โรงงานที่มีความสูงมากกว่าหนึ่งชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตร.ม.ขึ้นไป และป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตร.ม.ขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคา หรือดาดฟ้า หรือส่วนของอาคารที่มีพื้นที่ 25 ตร.ม.ขึ้นไป ซึ่ง สนย.จะสุ่มตรวจอาคารที่ได้รับใบรับรองการตรวจสอบอาคาร เพื่อส่งเสริมและให้ความรู้ประชาชนเพิ่มเติมอีกช่องทางหนึ่ง และหากพบความผิดปกติของอาคาร จะได้ให้ข้อเสนอแนะและวิธีแก้ไขปัญหาต่อไป นอกจากนั้น กทม.ยังมีแผนติดตั้งเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนในอาคารโรงพยาบาลของ กทม.และอาคารสาธารณะต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อนำมาประมวลผลแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เพื่อป้องกันเหตุได้อย่างทันท่วงที
เขตดินแดงกวดขันผู้ค้าตลาดห้วยขวางห้ามตั้งวางจำหน่ายสินค้ากีดขวางทางสัญจร
นายชูชาติ พุ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตดินแดง กทม.กล่าวกรณีประชาชนขอให้กวดขันและจัดระเบียบทางเท้าบริเวณหน้าตลาดห้วยขวางว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบบริเวณดังกล่าวพบว่า ผู้ค้าบางรายเช่าพื้นที่ของการเคหะแห่งชาติ และบางรายเป็นผู้ค้านอกจุดผ่อนผัน ซึ่งอยู่ระหว่างจัดระเบียบและหาสถานที่รองรับที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้จัดประชุมผู้ค้าบริเวณดังกล่าว พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งให้ทราบข้อกฎหมายและแนวทาง การแก้ไข ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือผู้ค้าจัดระเบียบและห้ามตั้งวางจำหน่ายสินค้ากีดขวางทางสัญจร หากมีผู้ฝ่าฝืนจะจับ-ปรับ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป