กทม.เดินหน้ายกระดับมาตรฐานศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน อบรมส่งเสริมศักยภาพอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวถึงการยกระดับมาตรฐานสถานรองรับเด็กและดูแลผู้รับบริการว่า กรุงเทพมหานคร โดย สพส.ในฐานะหน่วยงานผู้กำกับดูแลศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชนของ กทม. ปัจจุบันมีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน จำนวน 274 ศูนย์ มีเด็กก่อนวัยเรียนที่ต้องดูแล 17,414 คน โดย กทม.ได้จัดสรรงบประมาณปรับปรุงสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีภาคเอกชนให้ความช่วยเหลือปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กฯ ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีและมีความปลอดภัย ขณะเดียวกัน สพส.ได้ยกระดับมาตรฐานต่าง ๆ ของศูนย์พัฒนาเด็กฯ โดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการดูแลเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย เพื่อส่งเสริมศักยภาพอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กให้มีความรู้ในการดูแล เฝ้าระวัง และสามารถประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องการดำเนินการตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ แผนการเผชิญเหตุ แนวทางป้องกันในศูนย์พัฒนาเด็กฯ การส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยคู่มือ DSPM และโภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัย โดยวิทยากรจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักอนามัย และสำนักการศึกษา กทม.
นอกจากนั้น ยังได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ มาใช้เป็นแนวทางในการประเมินผลการดำเนินงาน การพัฒนาคุณภาพการบริการ การดูแล การพัฒนาการจัดการศึกษามาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ประกอบด้วย มาตรฐาน 3 ด้าน ได้แก่ มาตรฐานด้านที่ 1 การบริหารจัดการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย มาตรฐานด้านที่ 2 ครู/ผู้ดูแลเด็กให้การดูแล จัดประสบการณ์การเรียนรู้ การเล่นเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย และมาตรฐานด้านที่ 3 คุณภาพของเด็กปฐมวัย
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดย สพส.และสำนักงานเขต ได้นำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ไปใช้ตรวจประเมินการให้บริการด้านต่าง ๆ ในศูนย์พัฒนาเด็กฯ การจัดประชุมทำความเข้าใจร่วมกับสำนักงานเขต โดยกำชับศูนย์พัฒนาเด็กฯ บริหารจัดการสภาพแวดล้อมให้เกิดความปลอดภัยแก่เด็ก และปฏิบัติตามประกาศ กทม. เรื่อง มาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาของ กทม.และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม.อย่างเคร่งครัด เช่น การปิดประตูในระหว่างเรียนตลอดเวลา และจัดให้มีการซักซ้อม อบรม ชี้แจงให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนในศูนย์พัฒนาเด็กฯ เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เดือน/ครั้ง อีกทั้งร่วมกับสำนักการศึกษา กทม.เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนานโยบายคุ้มครองเด็ก เมื่อวันที่ 22 – 24 พ.ค.66 เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กทุกหน่วยงานจัดทำนโยบายคุ้มครองเด็กขององค์กรภายในปี 2568 และเพื่อให้เด็กได้รับการคุ้มครอง ลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดอันตราย หรือความไม่ปลอดภัยกับเด็กทุก ๆ ด้าน โดยได้คัดเลือกโรงเรียนในสังกัด กทม.จำนวน 9 โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กฯ จำนวน 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กฯ ล็อค 6 ศูนย์พัฒนาเด็กฯ แฟลต 12 เขตคลองเตย และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนเกณฑ์วชิรราชวิทยายน (วัดพรหมสุวรรณสามัคคี) เขตบางแค เพื่อนำร่องการดำเนินงานด้านคุ้มครองเด็ก กทม.
กทม.เตรียมปรับปรุงคุณภาพรถ BRT ใช้รถ EV เพิ่มจุดจอดรถ ประสานตำรวจจราจรห้ามรถส่วนบุคคลวิ่งช่องเดินรถ BRT
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวถึงแผนการปรับปรุงการเดินรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) รวมถึงแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถ BRT เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางว่า การเดินรถ BRT โดยบริษัทเอกชนจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ส.ค.66 และขณะนี้อยู่ระหว่าง สจส.พิจารณาทบทวนแนวทางการเดินรถ BRT ใหม่ เพื่อปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ โดยการเดินรถ BRT ใหม่จะใช้รถบัสพลังงานไฟฟ้า EV ที่มีชานพักต่ำ ตามมาตรฐานการเดินรถสากลร่วมกับการใช้เทคโนโลยีใหม่มาบริหารจัดการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงจะเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ทำให้ทราบเวลาขึ้น-ลงรถได้ และหากมีช่วงเวลาใดที่ผู้โดยสารหนาแน่น ระบบจะเพิ่มการปล่อยรถออกมาให้มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มจุดจอดรถรับ-ส่งอีก 2 จุด
นอกจากนั้น ยังได้ประสานความร่วมมือกับตำรวจจราจรควบคุมห้ามไม่ให้รถยนต์ส่วนบุคคลเข้ามาวิ่งในช่องทางเดินรถ BRT เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและสามารถใช้บริการ BRT ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว อย่างไรก็ดี กทม.ยังคงให้บริการเดินรถ BRT ในรูปแบบเดิมไปก่อนอีก 1 ปี
กทม.เร่งหารือแก้ปัญหารถจักรยานยนต์รับจ้างขับขี่บนทางเท้าซอยพหลโยธิน 40
นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม.กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์มีผู้ฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าซอยพหลโยธิน 40 ว่า สำนักงานเขตจตุจักร ได้ตรวจสอบผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะบริเวณวินรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะซอยพหลโยธิน 40 ขณะตรวจสอบไม่พบผู้กระทำผิด จึงได้แจ้งประธานวินรถจักรยานยนต์รับจ้างดังกล่าวให้เชิญผู้กระทำความผิดมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อเปรียบเทียบปรับต่อไป ขณะเดียวกันคณะอนุกรรมการประจำกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 เขตจตุจักร ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก เทศกิจ กอ.รมน.กทม (ทหาร) สถานีตำรวจนครบาลพื้นที่ ได้เชิญผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะในพื้นที่ประชุมหารือการแก้ไขปัญหาผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะใช้รถป้ายขาว ซึ่งได้แจ้งให้ทราบแล้วว่า เป็นการกระทำผิดกฎหมายและให้นำรถไปจดทะเบียนให้ถูกต้อง หากพบว่าฝ่าฝืนจะจับกุมต่อไป ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ตั้งจุดกวดขันห้ามขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าและติดป้ายประชาสัมพันธ์ห้ามขับขี่ หรือจอดรถบนทางเท้า รวมกำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจกวดขันอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด