กทม.เตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. 14 พ.ค.นี้
นายสุพจน์ หล้าจำศิล ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน (สปท.) กทม. กล่าวถึงการบริหารจัดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.66 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุดว่า ภาพรวมการจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ล่วงหน้า เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค.66 ในส่วนที่กรุงเทพมหานครรับผิดชอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีเพียงบางจุดที่พบปัญหาและอุปสรรคเรื่องสภาพอากาศที่ร้อนจัด สถานที่คับแคบ และบางพื้นที่มีการจราจรติดขัด เนื่องจากบางแห่งมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิจำนวนมาก ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้สำนักงานเขตนำพัดลมและเต็นท์พักคอยไปติดตั้งบริเวณหน่วยเลือกตั้งต่าง ๆ ในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.66 เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยบรรเทาความร้อนจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด รวมทั้งให้ตรวจสอบการติดตั้งเต็นท์ ป้ายกระดาน ตลอดจนป้ายประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ที่สำนักงานเขตนำไปติดตั้งไว้ในบริเวณต่าง ๆ ในพื้นที่ ให้มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย กรณีมีเหตุอันเกิดจากพายุฝนฟ้าคะนอง หรือลมกระโชกแรง ให้จัดเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (หน่วย BEST) ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาที่อาจมีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เรียบร้อยโดยเร็ว
สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิลงคะแนนล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถไปใช้สิทธิลงคะแนนเมื่อวันที่ 7 พ.ค.66 ได้ จะไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.66 ได้อีก ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกจำกัดสิทธิตามกฎหมายจะต้องดำเนินการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง (วันที่ 14 พ.ค.66) โดยยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตท้องที่ไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง โดยสามารถแจ้งผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้ (1) ยื่นด้วยตนเอง (2) ทำเป็นหนังสือมอบหมายให้บุคคลอื่นไปยื่นแทน (3) จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน และ (4) แจ้งโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด ผ่านเว็บไซต์ของ กกต.หรือสำนักทะเบียนกลาง
กทม.เร่งลดระดับน้ำในคูคลอง ตรวจสอบต้นไม้ใหญ่เตรียมป้องกันผลกระทบจากพายุฤดูร้อน
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์จากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนน.ได้เร่งลดระดับน้ำในคูคลอง บ่อสูบน้ำ และแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จัดเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) เข้าพื้นที่ขณะที่มีฝนเริ่มตก ขณะเดียวกันได้เร่งระบายน้ำบริเวณจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่จุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวัง และบริเวณอุโมงค์ทางลอดต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดเก็บขยะหน้าตะแกรง ช่องรับน้ำฝน ขยะหน้าตะแกรงหน้าสถานีสูบน้ำ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขัง จัดเก็บขยะวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวกรวดเร็ว
นอกจากนั้น ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมสถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ และบ่อสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองประจำสถานีสูบน้ำกรณีไฟฟ้าขัดข้อง เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) รถเครน รถบรรทุกติดตั้งเครนยกไฮโดรลิก บอลลูนไลท์ เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อติดตั้งและตรวจสอบแก้ไขเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ การจัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอสำหรับเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลที่ใช้งานในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม เพื่อติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังสภาพอากาศตามการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาและตรวจสอบติดตามกลุ่มฝนด้วยเรดาร์ตรวจอากาศของกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและภายนอก กทม.ช่วยเหลือประชาชนกรณีเกิดปัญหาต้นไม้ใหญ่หักโค่น ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่โค่นล้ม และปัญหาน้ำท่วมขัง
อีกทั้งยังได้เปิดช่องทางการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนและอิทธิพลของพายุฤดูร้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ เพื่อขอรับความช่วยเหลือ หากประสบเหตุสาธารณภัยที่เกิดขึ้นจากพายุฤดูร้อนผ่านเว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th/, www.prbangkok.com, Facebook : @BKK.BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter : @BKK_BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร.02 248 5115 หรือแจ้งผ่านระบบทราฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) และสายด่วน กทม.1555
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวว่า สสล.ได้แจ้งเตือนสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ที่รับผิดชอบการดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกบริเวณทางเท้าและเกาะกลางของถนนสายหลัก สายรอง และที่สาธารณะย่านชุมชน รวมทั้งแจ้งหน่วยงานในสังกัด สสล.ที่ดูแลสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวในที่สาธารณะที่มีต้นไม้ใหญ่ใกล้เส้นทางสัญจรของประชาชนและย่านชุมชนให้เร่งตรวจตราต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่รับผิดชอบ ประเมินความเสี่ยง หากพบความเสี่ยงที่จะมีกิ่งฉีกหัก หรือโค่นล้มเมื่อเกิดพายุฤดูร้อน ลมกระโชกแรง ให้เร่งตัดแต่ง โดยสางโปร่งเพื่อเปิดช่องให้ลมพัดผ่าน ไม่ต้านลม ลดโอกาสหัก ฉีก โค่นล้ม หากพบกิ่งผุและกิ่งที่เสี่ยง หักโค่นให้ตัดแต่งตามหลักรุกขกรรม หากพบต้นเอนเอียงเข้าเส้นทางถนนสายหลัก สายรองที่ประชาชนสัญจรให้พิจารณาดำเนินการค้ำยัน
ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ และเครื่องมือประจำหน่วยเร่งด่วนฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง พร้อมออกปฏิบัติงาน เพื่อแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนทันที หากมีเหตุพายุฤดูร้อนทำให้ต้นไม้โค่นล้ม กิ่งหักลงถนนกีดขวางเส้นทางสัญจรของประชาชน หรือทำความเสียหายแก่บ้านเรือน รวมถึงได้ประสานความร่วมมือสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เตรียมชุดปฏิบัติการเร่งด่วนฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง เพื่อร่วมมือกับ สสล.แก้ไขปัญหาต้นไม้ล้ม กิ่งไม้หักกีดขวางถนน พร้อมเปิดเส้นทางสัญจรให้ประชาชนได้โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครขอความร่วมมือประชาชนร่วมตรวจสอบสภาพต้นไม้ กิ่งไม้ในพื้นที่ส่วนบุคคล รวมถึงพื้นที่สาธารณะ หากพบต้นไม้อยู่ในสภาพเสี่ยงที่จะหัก โค่นล้ม หรือพบเห็นต้นไม้โค่นล้ม หรือเสี่ยงที่จะโค่นล้ม สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ หรือสายด่วน กทม.1555 หรือผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตัดแต่งต้นไม้ กิ่งไม้ รวมถึงเก็บกวาดกิ่งไม้ หรือต้นไม้ที่หักโค่นกีดขวางในที่สาธารณะ โดยหากประชาชนประสงค์ขอรับบริการตัดแต่งต้นไม้ในบ้าน สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตพื้นที่ ซึ่งมีอัตราค่าบริการตามระเบียบที่ กทม.กำหนดไว้
เขตบึงกุ่มเร่งตรวจสอบแก้ปัญหาโรงงานน้ำแข็งใน ซ.นวมินทร์ 111 ส่งเสียงดังรบกวน
นายนันทพงศ์ แก้วศรี ผู้อำนวยการเขตบึงกุ่ม กทม. กล่าวกรณีผู้พักอาศัยในซอยนวมินทร์ 111 แยก 15 – 2 เขตบึงกุ่ม ได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานน้ำแข็งทำงานเสียงดังยามวิกาลว่า สำนักงานเขตบึงกุ่มได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโรงงานน้ำแข็งที่ถูกร้องเรียน ตั้งอยู่เลขที่ 18/39 ซอยนวมินทร์ 111 แยก 15 – 2 ถนนนวมินทร์ แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และได้รับอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจาก กทม. โดยสำนักงานเขตฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนแจ้งว่า ได้รับผลกระทบจากเสียงดังที่เกิดจากการประกอบกิจการของโรงงาน เจ้าหน้าที่จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ส่วนกรณีเสียงดังที่เกิดจากเครื่องจักรและพัดลมระบายอากาศของโรงงาน สำนักงานเขตฯ โดยฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ได้ตรวจวัดระดับเสียงบริเวณที่ประชาชนแจ้งว่า ได้รับผลกระทบ 2 จุด พบว่า จุดที่ 1 มีค่าเกินมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด จึงได้ออกคำสั่งให้บริษัทผู้ประกอบการปรับปรุงแก้ไขและหามาตรการป้องกันเสียงดังรบกวนบริเวณข้างเคียง โดยสำนักงานเขตฯ ได้ติดตามวัดระดับเสียงหลังจากการปรับปรุงแก้ไขแล้ว พบว่าระดับเสียงมีค่าไม่เกินมาตรฐาน ส่วนในจุดที่ 2 ตรวจวัดระดับเสียงแล้ว พบค่าเกินมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน จึงได้ออกคำสั่งให้บริษัทผู้ประกอบการปรับปรุงแก้ไข ขณะนี้สำนักงานเขตฯ ร่วมกับสำนักอนามัย กทม.อยู่ระหว่างติดตามตรวจวัดระดับเสียง หลังจากโรงงานดังกล่าวได้ปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่ง พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบเรียบร้อยแล้ว
ส่วนกรณีเสียงดังจากการขนส่งน้ำแข็ง สำนักงานเขตฯ โดยฝ่ายเทศกิจ ได้ตรวจสอบช่วงเวลาประมาณ 02.00 – 03.00 น. พบว่า ขณะที่มีรถเข้ามารับน้ำแข็งมีเสียงดังบ้างเล็กน้อย จึงได้กำชับให้ผู้ประกอบการระมัดระวังการเคลื่อนย้ายน้ำแข็ง ถังน้ำแข็ง และกำชับคนงานไม่ให้ตะโกนคุยกันเสียงดัง ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามตรวจวัดระดับเสียงโดยสำนักงานเขตฯ ร่วมกับสำนักอนามัย กทม.รวมทั้งได้แจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบแล้ว ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ จะติดตามตรวจสอบเป็นระยะ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานดังกล่าว