“การแสวงหาความสุข” นับเป็นเรื่องสุดท้าทายแห่งยุค เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงหลากหลายด้าน ทั้งการเพิ่มของประชากร เศรษฐกิจเป็นทุนนิยมมากขึ้น และมีอุตสาหกรรมมากขึ้น หรือในเรื่องของการสื่อสารที่ง่ายมากกว่าเดิม รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ ดังนั้น คนในยุคนี้จึงต้องตามให้ทัน และต้องรู้จักวางแผนเพื่อคงความสุขเอาไว้
อาจกล่าวได้ว่า ทุกอย่างล้วนมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลก ไม้เว้นแม้แต่ “ความสุข” ที่ทุกคนต้องกลับมาค้นหาและนิยามกันใหม่อีกครั้ง จนกลายเป็นประเด็นที่ใครหลายคนต่างไขว่คว้าหาคำตอบ ไม่ปล่อยให้สงสัยนาน ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน กับ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) ภายใต้งานเสวนา “สร้าง ทำ สุข” ชูประเด็นขับเคลื่อนสังคม 3 มิติ ทั้งสื่อ สังคมสูงวัย และการออกแบบเมืองให้มีสุขภาวะ พร้อมพัฒนาหลักสูตรปั้นนักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ
ศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งมั่นสร้าง นักสร้างเสริมสุขภาวะมืออาชีพ โดยสั่งสมความรู้นี้มาตลอด 20 ปี สกัดออกมาเป็นองค์ความรู้ผ่านทางสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริม สุขภาพ ถือเป็นศูนย์การเรียนรู้สร้างเสริมสุขภาพครบวงจร
ภารกิจหลักของสถาบันฯ คือ พัฒนาศักยภาพ สร้างการเรียนรู้ สู่การเป็นนักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ ให้ทุกคนได้รู้เท่าทันการจัดการปัญหา การออกแบบชีวิตให้มีสุขภาวะ และขยายผลไปยังชุมชน ซึ่งต้องอาศัยการประสานงานร่วมกันในเชิงนโยบาย การเมือง การปกครอง รวมถึงคนที่สนใจงานพัฒนาให้เกิดสุขภาวะในสังคม นอกจากนี้ ยังสร้างองค์ความรู้อื่นๆ อีกกว่า 50 หลักสูตร เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีพ ผ่านการพัฒนาศักยภาพภาคี เครือข่าย องค์กร และหน่วยงานภาครัฐ
หนึ่งในก้าวสำคัญเพื่อขยายความแข็งแกร่งสู่สังคม คือ การจัดเวทีเสวนา “สร้าง ทำ สุข” ถือเป็นการร่วมมือหาทางออก ใน 3 มิติ ของสังคม เริ่มจาก มิติที่ 1 สื่อสร้างสุข สร้างแรงจูงใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแก่สาธารณะผ่านภารกิจหลักของ สสส. ที่สื่อเข้ามามีบทบาทอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนะแนวทางการสื่อสารให้เกิด สุขภาวะ การรู้เท่าทัน และเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม
ต่อเนื่องกับ มิติที่ 2 สังคมผู้สูงอายุในเมืองใหญ่ สะท้อนปัญหา การรับมือ และพัฒนานโยบายของผู้สูงอายุในเขตเมือง โดยมีวิธีจัดการอย่างไรให้ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมแก้ไขปัญหาจากการใช้ชีวิตในสังคมเมืองให้ผู้สูงอายุทุกเพศ ทุกวัย สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอย่างเท่าเทียม
ปิดท้ายด้วย มิติที่ 3 การออกแบบอาคารสาธารณะ เน้นปัจจัยด้านกายภาพเพื่อตอบโจทย์การอยู่อย่างมีสุขภาวะ รวมถึงสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข ผ่านการออกแบบอาคารและพื้นที่สาธารณะถูกออกแบบมาให้ทุกคนในสังคมไทย ประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลายได้ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด
“ผู้เข้าร่วมจะได้แนวทางขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะ องค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งเกิดนวัตกรรมการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และสะท้อนการทำงานของสถาบันการเรียนรู้ การสร้างเสริมสุขภาพ ด้านพัฒนาศักยภาพ ออกแบบหลักสูตร สร้างเสริมสุขภาวะ” ศ.ดร.นพ.นันทวัช เล่า
ในส่วนของประเด็นสื่อสร้างสุข รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ แห่งประเทศไทย (ส.ส.ท) บอกว่า นิยามของสื่อสร้างสุข คือ การเป็นสื่อที่มีความหมาย (Meaningful Media) สามารถยกระดับทั้งบุคคล สังคม ไปจนถึงสร้างคุณธรรมในจิตใจเพื่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม ดังนั้น จึงพยายามดึงทุกคนให้มีความเข้าอกเข้าใจ เพื่อเป็นเจ้าของในการแก้ปัญหาร่วมกัน
ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนก็ต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับคน เพื่อสร้างประชาชนให้เป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ซึ่ง ตรงกับที่ สสส. ทำมาตลอด เพราะการเกิดพลเมืองตื่นรู้จะเป็น กำลังสำคัญในการเปลี่ยนสังคมอย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งคนทำสื่อต้องเข้าใจบทบาทสื่อเพื่อตอบรับความท้าทายนี้ได้อย่างเต็มที่ โดยอาศัยกลไกเชิงนโยบาย การสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ รวมถึงแพลตฟอร์มราคาจับต้องได้ เพื่อสร้างคุณธรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีคุณภาพอย่างไรก็ตาม ประเด็นผู้สูงอายุในเมืองใหญ่ยังคงเป็นปัญหาน่าหนักใจสำหรับทุกฝ่าย ซึ่ง ดร.นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ ว่า ปัญหาของผู้สูงอายุในเขตเมืองมีบริบทแตกต่างกับเมืองอื่นๆ ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาสังคม ดำเนินแผนพัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุเพื่อให้เป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ (Active Aging) ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ โดยใช้การวิจัย และนวัตกรรมมาเป็นตัวผลักดันให้เมืองนี้ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุมากที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมก่อนวัยเกษียณ (Pre-Aging) เพื่อสนับสนุนและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้เป็นผู้สูงอายุ ที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็น การจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ 1 เขต 1 ชมรม การปฏิสัมพันธ์เพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโรคสมองเสื่อม ส่งเสริม ผู้สูงอายุเป็นปราชญ์แผ่นดิน สร้างพื้นที่ทำงานเพื่อให้มีรายได้ ขยายโรงพยาบาลคลินิกผู้สูงอายุ รวมถึงพัฒนาเมืองให้มีความปลอดภัยมากที่สุด
กล่าวได้ว่า ภารกิจสำคัญของสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ คือ งานพัฒนาศักยภาพคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติเพื่อสร้างสุขภาวะในสังคม ผ่านการจับมือกับหลากหลายภาคส่วน ทั้งนี้ สสส. พร้อม เคียงข้างสร้างฝันไปสู่ความสำเร็จอย่างมีความสุข รวมถึงมุ่งหวังให้ผลลัพธ์กระจายไปไม่ใช่เฉพาะในสังคมไทย แต่ต้องการให้ก้าวไกลไปทั่วโลก
บรรยายใต้ภาพ
ศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล
ดร.นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 4 พ.ค. 2566 (กรอบบ่าย)