กทม.เฝ้าระวังผลกระทบจากเหตุไฟไหม้บ่อขยะที่อยุธยา เตรียมพร้อมมาตรการป้องกันในศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวว่า จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะขนาดใหญ่ภายในศูนย์จัดการขยะมูลฝอย อบจ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา สสล.ได้ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องทุกวัน ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.66 เวลา 14.00 น. คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพารามิเตอร์ และมีระดับคุณภาพอากาศดีมากถึงปานกลางในทุกพื้นที่ที่มีการตรวจวัด โดยค่าฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ 16 – 38 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) ค่าฝุ่นละออง PM10 ตรวจวัดได้ 33 – 77 มคก./ลบ.ม. (มาตรฐานไม่เกิน 120 มคก./ลบ.ม.) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ : CO ตรวจวัดได้ 0.56 – 1.78 ppm (มาตรฐานไม่เกิน 30 ppm) และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ : NO2 ตรวจวัดได้ 12 – 54 ppb (มาตรฐานไม่เกิน 100 ppb) อย่างไรก็ตาม สสล.ได้บูรณาการข้อมูลร่วมกับกรมควบคุมมลพิษในการรายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์คุณภาพอากาศ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบทุกวันผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความห่วงกังวลของประชาชน รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลฝุ่นละอองก่อนออกจากบ้านแบบเรียลไทม์ เพื่อวางแผนการทำงาน หรือการทำกิจกรรม หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีปริมาณค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานและมีแนวโน้มเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ลดระยะเวลา หรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบทางสุขภาพ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ www.airbkk.com, www.pr-bangkok.com เพจเฟซบุ๊ก : กรุงเทพมหานคร, กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร แอปพลิเคชัน : AirBKK LINE ALERT และ LINE OA : @airbangkok รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในสวนสาธารณะ หากประชาชนพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถแจ้งเบาะแสผ่านทาง Traffy Fondue
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมป้องกันเหตุเพลิงไหม้บริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของ กทม.รวมทั้งสถานที่กำจัดขยะและสถานที่แปรรูปเชื้อเพลิงขยะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้ โดย สสล.ได้จัดประชุมเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์กำจัดมูลฝอยทุกแห่งและเจ้าหน้าที่บริษัทที่เป็นคู่สัญญากับ กทม.เพื่อวางแผนเตรียมความพร้อมป้องกันการเกิดเหตุให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามแผนระงับอัคคีภัยที่กำหนดได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงตรวจสอบเครื่องมือ อุปกรณ์ดับเพลิงให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีอยู่เสมอ และฝึกซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยเป็นประจำทุกปี
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวว่า สนอ.ได้ประสานสำนักสิ่งแวดล้อมให้เข้มงวดการดำเนินมาตรการป้องกันเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่ศูนย์กำจัดขยะของ กทม.ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยสายไหม และสถานที่ฝังกลบมูลฝอยของ กทม.ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา รวมทั้งโรงงานเตาเผามูลฝอยและโรงงานเตาเผาขยะติดเชื้อที่รับผิดชอบโดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดังนี้ (1) จัดหน่วยเฝ้าระวังตรวจตราป้องกันการเกิดเพลิงไหม้สถานที่ดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมทั้งเตรียมพร้อมอุปกรณ์สำหรับการดับเพลิง การฝึกซ้อมดับเพลิงและการอพยพหนีไฟตามแผนฯ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง (2) ให้คำแนะนำกับผู้ดำเนินการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของ กทม.เรื่องการจัดการด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบการและการจัดทำแผนตอบโต้เหตุฉุกเฉิน กรณีเกิดเพลิงไหม้ หรือสารเคมีและวัตถุอันตรายรั่วไหล (3) เตรียมความพร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษในบรรยากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่พักอาศัยบริเวณโดยรอบพื้นที่เกิดเหตุ (5) กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ ศูนย์บริการสาธารณสุข สนอ.ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่จะดูแลสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยให้คำแนะนำการป้องกันตนเอง แจกหน้ากากอนามัย การอพยพเคลื่อนย้ายประชาชนกรณีคุณภาพอากาศเลวร้าย เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ขณะเดียวกันได้จัดอบรมให้ความรู้บุคลากร กทม.เกี่ยวกับแผนป้องกันและบรรเทาภัยด้านสารเคมีและวัตถุอันตราย (ระดับประเทศและระดับกรุงเทพมหานคร) ฝึกซ้อมเขียนแผนฯ และฝึกซ้อมแผนตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย สำหรับประชาชน โดยเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจวัดความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
ส่วนการเตรียมความพร้อมป้องกันเหตุเพลิงไหม้บริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของ กทม.สถานที่กำจัดขยะและสถานที่แปรรูปเชื้อเพลิงขยะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้ สนอ.ได้ให้คำแนะนำผู้ดำเนินการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของ กทม.เรื่องการจัดการด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบการและการจัดทำแผนตอบโต้เหตุฉุกเฉิน กรณีเกิดเพลิงไหม้ หรือสารเคมีและวัตถุอันตรายรั่วไหล พร้อมทั้งให้ฝึกซ้อมตามแผนฯ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวว่า สปภ. ได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย รถดับเพลิง รถบรรทุกน้ำ เครื่องมือเครื่องใช้ในการดับเพลิงและกู้ภัย เพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้บริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของ กทม.รวมทั้งสถานที่กำจัดขยะสถานที่แปรรูปเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ทุกขนาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้ พร้อมทั้งกำชับให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยทุกแห่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนเกิดความตระหนักและมีส่วนร่วมป้องกันเหตุอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นในบ้านเรือนและพื้นที่บริเวณโดยรอบชุมชนของตนเอง ตลอดจนเร่งรัดดับเพลิงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กทม.รณรงค์สร้างความปลอดภัยการใช้ทางม้าลาย ปรับปรุงด้านกายภาพ – ติดกล้อง CCTV ตรวจจับผู้ฝ่าฝืน
นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม.กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์รถโดยสารประจำทางไม่หยุดรถบริเวณทางม้าลายถนนดินสอว่า สำนักงานเขตฯ ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ทั้งประชาชนที่ใช้ทางข้าม (ทางม้าลาย) และผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกชนิด โดยเน้นย้ำการเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ขับขี่ฝ่าสัญญาณจราจร หยุดรถในทางข้าม ไม่หยุดรถในจุดห้ามจอด ไม่จอดทับทางข้าม ชะลอเมื่อยังมีคนข้ามถนน เป็นต้น เพื่อสร้างวินัยจราจร ลดปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมทั้งได้ประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ท้องที่ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวว่า สจส.ได้ประสานความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างต่อเนื่องในการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่จอดรถให้คนเดินข้ามถนนบริเวณทางข้าม ขณะเดียวกันได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายรณรงค์เสริมสร้างความปลอดภัยการใช้ทางข้าม และ สจส.ยังได้นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายด้วยการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ตรวจจับผู้ฝ่าผืนไม่จอดรถให้คนเดินข้ามถนนบริเวณทางข้าม และส่งข้อมูลภาพผู้กระทำผิดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีจับปรับตามกฎหมายในอัตราโทษสูงสุด
นอกจากนั้น ยังปรับปรุงกายภาพทางข้ามให้มีความปลอดภัยกับคนเดินข้ามถนน โดยเร่งรัดปรับปรุงเพิ่มความชัดเจนของทางข้ามด้วยสีโคลด์พลาสติกแดง ล้างทำความสะอาดเครื่องหมายจราจรทางข้าม ติดตั้งสัญญาณไฟแบบกดปุ่ม หรือสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้าม พร้อมไฟส่องสว่างทางข้าม รวมทั้งพิจารณากำหนดพื้นที่จำกัดความเร็วของรถ (Speed Limit Zone) บริเวณโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด และชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่เปราะบางและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินข้ามถนน
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กล่าวว่า สนท.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และ สน.ท้องที่เกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประชาชน ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต จัดทำโครงการดูแลและอำนวยความสะดวกประชาชนในการใช้รถใช้ถนนและทางเท้า รวมทั้งสำรวจบริเวณพื้นที่ที่มีประชาชนหนาแน่นและได้จัดทำทางข้ามสำหรับประชาชน โดยเฉพาะบริเวณหน้าโรงเรียน จุดฝืด หรือแหล่งชุมชนต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยในการสัญจรและช่วยลดอุบัติเหตุบนถนน
นอกจากนั้น สนท.ได้จัดทำโครงการเทศกิจอาสาจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วน ช่วงเช้าระหว่างเวลา 06.00 – 08.00 น. และช่วงเย็นระหว่างเวลา 15.00 – 16.00 น. และดูแลความปลอดภัยให้กับนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปบริเวณหน้าโรงเรียน สถานศึกษา ประกอบด้วย โรงเรียนสังกัด กทม. 437 จุด โรงเรียนสังกัด สพฐ. 97 จุด โรงเรียนสังกัดเอกชน 205 จุด และโรงเรียนสังกัดกระทรวง/อื่นๆ อีก 5 จุด ส่วนจุดวิกฤต/จุดฝืด หรือจุดที่มีปัญหาการจราจรติดขัดบ่อยครั้ง (Friction Spot) ประกอบด้วย จุดวิกฤต 24 จุด จุดฝืด 915 จุด ทางร่วม ทางแยก 1,011 จุด
กทม.กำชับไซต์งานก่อสร้างบนถนนวิทยุปรับปรุงมาตรการป้องกันฝุ่นละออง
นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม.กล่าวกรณีมีการเผยแพร่คลิปฝุ่นจากพื้นที่ก่อสร้างแห่งหนึ่งบนถนนวิทยุปลิวฟุ้งในอากาศ โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น หรือป้องกันวัสดุตกหล่นว่า สำนักงานเขตฯ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างบนถนนวิทยุได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย.66 เกิดเหตุลมพายุฤดูร้อน ลักษณะเป็นลมกรรโชกแรงพัดเข้าที่โครงการก่อสร้างดังกล่าว ก่อให้เกิดฝุ่นขนาดใหญ่ปลิวออกจากตัวอาคาร จากการตรวจสอบพบว่า อาคารก่อสร้างมีมาตรการป้องกันโดยติดตั้ง Mesh sheet หรือผ้าใบก่อสร้างป้องกันแต่ละชั้นทุกอาคาร แต่เนื่องจากวันเกิดเหตุมีลมกระโชกแรง ทำให้ผ้าใบบางจุดหลุดจากการผูกมัดไว้ เกิดเป็นช่องโหว่ให้ฝุ่นในอาคารปลิวออกมา ประกอบกับผ้าใบเดิมสะสมฝุ่นจำนวนมาก ทำให้ฝุ่นหลุดจากตัวแผ่นและปลิวฟุ้งในอากาศ จึงได้แจ้งให้โครงการก่อสร้างดังกล่าวแก้ไขจุดที่ผ้าใบ Mesh Sheet หลุด โดยซ่อมแซมให้กลับเข้าที่เดิม พร้อมกำชับให้โครงการดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเร่งด่วน ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ จะตรวจสอบแพลนท์ปูน พร้อมทั้งประเมินปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 บริเวณไซต์งานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการดัดแปลงอาคารตึก 87 ชั้น ชั้นใต้ดิน 4 ชั้น (10 ทาวเวอร์) จำนวน 1 หลัง เพื่อใช้เป็นอาคารอยู่อาศัยรวม 3,354 ห้อง โรงแรม 3,207 ห้อง สำนักงานสรรพสินค้าพาณิชย์ ร้านค้า แสดงสินค้า โรงมหรสพ ห้องประชุม ภัตตาคาร สระว่ายน้ำ และจอดรถยนต์ของบริษัทแห่งหนึ่ง โดยอาคารก่อสร้างที่ปรากฏในคลิปเป็นอาคารทาวเวอร์ที่ 6 (C3A/H3) สูง 50 ชั้น จากการตรวจสอบอาคารมีมาตรการป้องกัน โดยติดตั้ง Mesh sheet ในแต่ละชั้น แต่ในวันเกิดเหตุดังกล่าว Mesh sheet ของชั้นที่ 35 – 40 บางจุดหลุดจากการผูกมัดไว้ สนย.จึงได้มีหนังสือแจ้งกำชับเจ้าของโครงการ ผู้รับเหมา และผู้ควบคุมงานให้ปรับปรุงแก้ไขมาตรการป้องกันฝุ่นละอองจากงานก่อสร้างโดยเร่งด่วน รวมทั้งได้แจ้งสำนักงานเขตปทุมวัน พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
นอกจากนั้น สนย.ร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบการปฏิบัติการตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการก่อสร้างที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EIA โดยตลอดระยะเวลาการก่อสร้างได้กำหนดเป็นเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตก่อสร้างอาคารให้ปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) แก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และจะต้องฉีดพ่นละอองน้ำบนอาคารและบริเวณรอบสถานที่ก่อสร้างอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ
กทม.เก็บตัวอย่างผู้ติดเชื้อในบ้านพักซอยจรัญฯ 40 ส่งตรวจสายพันธุ์โควิด 19 แนะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันป่วยหนัก
นางสาวอารียา เพ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตบางพลัด กทม.กล่าวกรณีพบหญิงชราเสียชีวิตในบ้านพัก ซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 แยก 4 ผลตรวจ ATK พบขึ้น 2 ขีดว่า สำนักงานเขตบางพลัดได้ประสานศูนย์บริการสาธารณสุข 31 และกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย ร่วมลงพื้นที่สอบสวนโรคบริเวณบ้านหลังดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 เม.ย.66 เวลา 14.00 น. ทราบว่ามีผู้เสียชีวิต 1 ราย อายุ 93 ปี มีอาการไข้ต่ำช่วงเช้า วันที่ 23 เม.ย.66 จึงตรวจ ATK ผลเป็นบวก โดยรักษาที่บ้านภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลเจ้าพระยา ซึ่งผู้เสียชีวิตดังกล่าวมีประวัติการรักษาเป็นผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และมีโรคประจำตัว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง มะเร็งอยู่ระหว่างเคมีบำบัด และโรคอัลไซเมอร์ ใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคอง และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 เม.ย.66 เวลา 12.16 น.ญาติจึงได้ติดต่อมูลนิธิเพื่อดำเนินการจัดการศพ โดยมีผู้ป่วยที่พักอาศัยในบ้านหลังเดียวกัน 3 ราย ซึ่งทั้ง 3 ราย ได้รับการรักษาอาการป่วยโควิด 19 จากโรงพยาบาลเจ้าพระยาและกักตัวอยู่ที่บ้าน ไม่มีรายใดมีอาการรุนแรง ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้มอบถุงยังชีพและหน้ากากอนามัยแก่ผู้ป่วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น รวมทั้งเน้นย้ำแนวทางการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมป้องกันโรค โดยทำความสะอาดบ้านพักอาศัย เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวว่า ศูนย์บริการสาธารณสุข 31 เขตบางพลัด ได้ลงพื้นที่สอบสวนกรณีดังกล่าว พบว่า ผู้เสียชีวิตได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19 จำนวน 2 เข็ม โดยฉีดเข็มสุดท้ายที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเดือน ธ.ค.64 และญาติปฏิเสธรับวัคซีนเพิ่ม จากนั้นได้ตรวจพบติดเชื้อโควิด 19 เมื่อวันที่ 23 เม.ย.66 โดยรับการรักษาและรับยาที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาร่วมกับสมาชิกในบ้านอีก 3 คน และเมื่อวันที่ 27 เม.ย.66 เวลา 12.00 น. ผู้ป่วยนอนนิ่งนานกว่าปกติ ญาติจึงจับชีพจรพบว่า เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ศูนย์บริการสาธารณสุข 31 ได้เก็บตัวอย่างจากญาติจำนวน 1 ตัวอย่าง เพื่อทำ RT-PCR ตรวจหาสายพันธุ์ ติดตามอาการ รวมถึงรอผลชันสูตรศพจากโรงพยาบาลศิริราช
ทั้งนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้านโดยความสมัครใจของผู้ป่วยและญาติ รวมถึงเปิดบริการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่งในวันพุธและวันศุกร์ โดยขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ที่ยังไม่เคยรับวัคซีนให้มารับวัคซีนโดยเร็ว หรือถึงกำหนดฉีดเข็มกระตุ้นแล้วให้มารับเข็มกระตุ้นโดยเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงอาการหนักและเสียชีวิต