กทม.เชิญชวนผู้ปกครองนำบุตรหลานรับวัคซีน MMR ตามเกณฑ์ที่กำหนดช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตือน 5 จังหวัดที่มีอัตราป่วยโรคหัดสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ยโสธร ภูเก็ต ยะลา นราธิวาส และกรุงเทพฯ พาบุตรหลานรับวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนดว่า สนพ.ได้กำหนดแนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด (MMR) ซึ่งเป็นวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด (Measles) คางทูม (Mumps) และหัดเยอรมัน (Rubella) ให้กับเด็กและเน้นย้ำแนวทางการให้บริการแก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเชื่อมั่นมาตรฐานการให้บริการอย่างปลอดภัย พร้อมแจ้งศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ในการดูแลของ กทม.ติดตามเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนล่าช้า มารับวัคซีนอย่างเร่งด่วน เพื่อยกระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนให้สูงเพียงพอต่อการป้องกันโรค ทั้งนี้ จากการศึกษาในประเทศไทยพบว่า เด็กอายุ 7 เดือน ไม่พบภูมิต้านทานโรคหัดที่ได้รับจากมารดาสู่ทารกแล้ว เมื่ออายุ 9 เดือน เด็กจึงไม่มีภูมิดังกล่าวที่จะรบกวนการสร้างภูมิต้านทานของโรคหัดในทารกเมื่อฉีดวัคซีน ดังนั้น การให้วัคซีน MMR เข็มแรกที่อายุ 9 เดือน จึงเหมาะสมที่สุด หลังการให้วัคซีน 2 เข็มในเด็ก จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหัดจนถึงในเด็กวัยเรียนและผู้ใหญ่ ส่วนภูมิคุ้มกันต่อโรคคางทูม หลังได้รับเข็มที่ 2 จะมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ร้อยละ 66 – 95 ขณะที่โรคหัดเยอรมัน หลังได้รับวัคซีนเพียง 1 เข็ม จะมีภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ป่วยโรคหัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2565 พบผู้ป่วยโรคหัด 118 คน คิดเป็นอัตราป่วยร้อยละ 2.15/แสนประชากร และในปี 2566 จำนวน 25 คน คิดเป็นอัตราป่วยร้อยละ 0.45/แสนประชากร ไม่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ โรคหัดติดต่อผ่านทางเดินหายใจ โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดคือ มีไข้ ไอแห้ง ๆ มีน้ำมูก และตาแดง หลังจากมีไข้ประมาณ 3 – 4 วัน จะเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้นที่ใบหน้า แล้วค่อยลามไปแขนและขา เมื่อผื่นขึ้นประมาณ 1 – 2 วัน ไข้จะเริ่มลดลง โดยในผู้ป่วยบางรายสามารถพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด (MMR) ตั้งแต่วัยเด็ก จึงขอแนะนำประชาชนพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนดที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใน Well Baby Clinic ในวันอังคารและพฤหัสบดี ระหว่างเวลา 13.00 – 15.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
กทม.เตรียมติดตั้งกล้อง CCTV ตรวจจับผู้กระทำผิดบริเวณทางม้าลาย
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวกรณีประชาชนขอให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหารถจักรยานยนต์กลับรถบริเวณทางข้าม (ทางม้าลาย) ถนนพหลโยธิน โดยเฉพาะหน้าธนาคารออมสินและหน้าบิ๊กซี สะพานควายว่า สจส.ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ท้องที่ เพื่อกวดขันวินัยจราจรบริเวณดังกล่าว แต่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากเมื่อไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่บริเวณทางม้าลาย จะมีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บางรายที่ขาดจิตสำนึกและวินัยจราจรลักลอบใช้เป็นทางกลับรถ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ และหากติดตั้งเสากั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้วีลแชร์ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎจราจร สจส.จะปรับปรุงกายภาพของทางม้าลายทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ให้มีความปลอดภัย ขณะเดียวกันจะติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เพื่อตรวจจับผู้กระทำผิดบริเวณทางม้าลาย รวมทั้งกรณีรถจักรยานยนต์ลักลอบกลับรถบนทางม้าลายด้วย ส่วนทางม้าลายบางแห่งที่มีคนข้ามจำนวนมาก จะติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณไฟจราจรสำหรับคนข้าม เพื่อเพิ่มความปลอดภัย พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้วีลแชร์โดยจัดทำทางลาดและปรับปรุงกายภาพของเกาะกลางถนนให้ผู้ใช้วีลแชร์สัญจรได้โดยสะดวก
กทม.รุกให้บริการวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นและ LAAB กลุ่มผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการอำนวยความสะดวกการให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด 19 แก่ผู้สูงอายุในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนอ.ได้กำชับให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) เร่งสำรวจและนำผู้สูงอายุในชุมชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้มารับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว รวมทั้งติดตามผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 นานกว่า 3 เดือนให้มาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยลดอาการเจ็บป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิตของผู้สูงอายุจากการติดเชื้อโควิด 19 ขณะเดียวกันได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้สมาชิกในครอบครัว รวมถึงผู้ดูแลใกล้ชิดให้ตระหนักถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 และนำผู้สูงอายุมารับวัคซีน ตามกำหนด โดย กทม.ได้เปิดให้บริการจุดฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 หรือฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB (Long Acting Antibody) แบบนัดหมายล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน QueQ หรือแบบ walk in ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง ๖๙ แห่ง ทุกวันพุธและวันศุกร์ ระหว่างเวลา 09.๐๐ – ๑๕.๐๐ น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันเสาร์ เวลา 08.00 – 12.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) 51 เขตจตุจักร, ศบส.38 เขตดุสิต, ศบส.21 เขตวัฒนา, ศบส.43 เขตมีนบุรี, ศบส.29 เขตจอมทอง และ ศบส.40 เขตบางแค ขณะเดียวกันยังให้บริการฉีดวัคซีน เข็มกระตุ้นที่สถานดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขเคยให้บริการประจำ รวมทั้งให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่บ้านผู้ป่วย กรณีเป็นผู้ป่วยติดเตียงด้วย