(28 เม.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว Kick Off โครงการ สานพลังขับเคลื่อนเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มุ่งสร้างกิจกรรมหรือพื้นที่ต้นแบบขยายผลสู่วงกว้าง เพื่อลดแหล่งกำเนิด PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมี นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว มีนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ภาคีเครือข่าย และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีแถลงข่าว ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังพิธีแถลงข่าวว่า กรุงเทพมหานครยินดีเป็นเจ้าภาพดำเนินการประสานงานกับทุกกลุ่ม ซึ่งมีกิจกรรมที่ต้องทำหลายอย่าง อาทิ การปลูกต้นไม้ เปลี่ยนรถยนต์เป็นระบบ EV การติดตั้งมอนิเตอร์เรื่องฝุ่น การพยากรณ์ฝุ่น การกำจัดต้นตอฝุ่น เป็นต้น วาระแห่งชาติเรื่องฝุ่นมีอยู่แล้วแต่หลายหน่วยงานอาจรู้สึกว่าไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของตนเอง กรุงเทพมหานครจึงมีหน้าที่ในการกระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมมือกัน โดยเฉพาะภาคเอกชนเป็นสิ่งสำคัญ การแก้ปัญหาไม่ใช่การวิ่งระยะสั้นแต่เป็นการวิ่งมาราธอน แก้ปัญหาระยะยาว ถ้าปลูกฝังให้เยาวชนมีจิตสำนึกในการช่วยแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นได้จะสามารถช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้ เช่น การปลูกต้นไม้ ถ้าคนกรุงเทพฯ ทุกคนช่วยกันปลูกคนละต้นจะได้ต้นประมาณ 5 ล้านต้น เมืองจะดีขึ้นอย่างแน่นอน หรือการเปลี่ยนรถเป็นรถ EV ถ้าทุกคนช่วยกัน มีค่าใช้จ่ายไม่แพง และขยายผลในระยะยาวได้จะดี ส่วนการติดตั้งมอนิเตอร์ฝุ่นเพื่อเอาข้อมูลมาวิจัยหรือพยากรณ์ฝุ่น ถ้าทุกคนร่วมติดเป็น Crowdsourcing จะทำให้มีพลังมากขึ้น ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครปฏิเสธความร่วมผิดชอบไม่ได้ ต้องเป็นเจ้าภาพ ซึ่งหน้าที่ของกรุงเทพมหานครคือการประสานงาน จัดโครงการ จัดทรัพยากรที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการ
สำหรับการเปลี่ยนเครื่องยนต์รถของกรุงเทพมหานครเป็นรถ EV หัวใจหลักคือการใช้กองโรงงานช่างกล และโรงเรียนฝึกอาชีพ จะมีการปรับการเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้อยู่ในต้นทุนที่รับได้ เบื้องต้นมีการดำเนินจากจักรยานธรรมดาเป็นจักรยานไฟฟ้า ส่วนเรื่องเครื่องยนต์หัวใจคือแบตเตอรี่ ถ้าทำให้แบตเตอรี่ราคาถูกลงก็จะทำได้ง่ายขึ้น และถ้าทำให้คนมีความรู้เพิ่มมากขึ้น มีจุดเปลี่ยนระบบเครื่องยนต์ได้มากขึ้น ก็จะทำให้สามารถขยายผลได้ดีขึ้น นอกจากนี้มีแนวคิดว่าจะนำที่ดินของภาคเอกชนที่ไม่ได้ใช้งานและไม่อยากเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สามารถเสนอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาทำเป็นพื้นที่สาธารณะได้แต่ต้องเป็นแบบระยะยาวอย่างน้อย 7 ปี ไม่ใช่เป็นเพียงการทำเพื่อเลี่ยงภาษีในระยะสั้น ซึ่งหากเป็นพื้นที่ในชุมชนใกล้ประชาชนก็จะดีเพราะสามารถเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและช่วยเรื่องฝุ่นได้
—————————- (พัทธนันท์…สปส. ร
ายงาน)