รามาฯ-กทม. MOU ส่งต่อองค์ความรู้ ต่อยอดการบริการสาธารณสุขร่วมกัน
ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 อาคารสิริกิติ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) กับกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาการบริการวิชาการสาธารณสุข ขั้นพื้นฐาน ขั้นสูง และภาวะฉุกเฉินหรือสาธารณภัยให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงองค์กรต่างๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสาธารณสุขพื้นฐานของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยมี ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงฯ พร้อมด้วย ศ.พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา รองคณบดีฝ่ายศูนย์ความ เป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และนางสาวผุสดี พรหมายน รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม ร่วมลงนามเป็นพยาน
สำหรับความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความสำคัญในการยกระดับสุขภาพชุมชนและการให้บริการสาธารณสุขของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่การดูแลตนเอง ครอบครัว และชุมชน ไปจนถึงการดูแลในโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งตรงกับเป้าหมายการยกระดับที่สอดคล้องกับนโยบายของคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครในด้านสร้างสรรค์ดีและสุขภาพดี
โดยกรุงเทพมหานครและคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จะดำเนินการร่วมกัน ในการจัดรูปแบบการเป็นพี่เลี้ยง การให้คำปรึกษา การส่งเสริมการฝึกอบรมให้แก่ บุคลากรในสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมทั้ง การจัดการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริบาล ผู้สูงอายุให้แก่ประชาชนทั่วไป จำนวน 420 ชั่วโมง เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอดของประเทศไทย พร้อมผลิตสื่อวีดิทัศน์ให้ความรู้ในด้านปัญหาการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงที่พบบ่อย และผลิต นวัตกรรมหุ่นจำลองเพื่อเป็นสื่อการสอน ในการดูแลรักษาผู้ป่วยแผลกดทับ โดย ประชาชนที่ได้รับการอบรมจนจบหลักสูตร จะได้รับประกาศนียบัตรการรับรองอาชีพหรือวิชาชีพด้วย
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า รพ.รามาฯ ถือเป็นแนวหน้าในเรื่องของ innovation หรือนวัตกรรม ฉะนั้น หากมีสิ่งใดที่กทม.สามารถร่วมมือได้ เราก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง
“สำหรับปัญหาหลักที่พบในกทม.คือเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น จึงต้องแก้ที่การศึกษา และการให้บริการทางสุขภาพ ซึ่งโครงการความร่วมมือในวันนี้เป็นการนำทั้ง 2 เรื่องมารวมกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าว กทม.มีโรงเรียนฝึกอาชีพหลายแห่ง แต่ที่ผ่านมาเราสอนแต่ทำผม ทำขนมเค้ก ตัดเสื้อผ้า แต่ยังไม่มีการฝึกอาชีพผู้ดูแล (Caregiver/Caretaker) ให้เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าจะมี demand (อุปสงค์) จากทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นการสร้างทางเลือก ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยสร้างอาชีพด้านผู้ดูแล และยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนอีกด้วย” ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าว
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 28 เม.ย. 2566