ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2566 : นายฉัตรชัย หมอดี สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางนา เสนอญัตติขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการนำเทคโนโลยี IOT (Internet of Things) เข้ามาปรับใช้ในการปฏิบัติงานด้านการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
เนื่องจากปัญหาการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร เป็นปัญหาหลักของประชาชนมาโดยตลอด ซึ่งการปฏิบัติงานด้านการระบายน้ำต้องใช้แรงงานมนุษย์และความเชี่ยวชาญของบุคลากรเป็นสำคัญ ในการจัดการปัญหาดังกล่าวอาจทำให้มีความคลาดเคลื่อนและไม่ทันท่วงที จึงจำเป็นต้องศึกษาถึงการนำระบบเทคโนโลยี IOT เข้ามาปรับใช้กับการวิเคราะห์ประสิทธิภาพอัตราการไหลของน้ำ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์การลอกท่อระบายน้ำและวางแผนรับมือฝนตกหนักได้ จึงขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการนำเทคโนโลยี IOT เข้ามาปรับใช้การปฏิบัติงานด้านการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
“ในฐานะคณะกรรมการระบายน้ำสภากรุงเทพมหานคร จากการศึกษาสาเหตุน้ำท่วมในกทม.พบว่าการลอกท่อโดยกรมราชทัณฑ์มีความล่าช้ากว่า หากเทียบกับบริษัทเอกชน จึงขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนโดยการนำเทคโนโลยี IOT เข้ามาใช้ ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการติดต่อและรับส่งข้อมูลเชื่อมต่อกันได้อัตโนมัติ เช่นเดียวกับการทำงานของ smart watch และการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการดูแลไฟ LED ของฝ่ายบริหาร หากพบจุดที่ไฟดับจะสามารถตรวจสอบและสามารถเข้าแก้ไขได้ทันที จึงเสนอให้มีการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ในระบบท่อระบายน้ำ เพื่อสำรวจการไหลของน้ำ อัตราการไหล ปริมาณดินเลนในท่อซึ่งจะสามารถลดขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ และการทำงานมีมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมในกทม.มีมากถึงปีละ 20,000 ล้านบาท จึงอยากให้เขตบางนาเป็นโมเดลในการนำเทคโนโลยี IOT มาปรับใช้” นายฉัตรชัย กล่าว
ทั้งนี้มีส.ก.ร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตติ ประกอบด้วย นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ และนางสาวปิยะวรรณ จระกา ส.ก.เขตสวนหลวง จากนั้นที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการนำเทคโนโลยี IOT (Internet of Things) เข้ามาปรับใช้การปฏิบัติงานด้านการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 17 ท่าน และกำหนดระยะเวลาการศึกษา 90 วัน