ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2566 : นายเอกกวิน โชคประสพรวย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตราชเทวี เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนทุกมิติทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร
เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรไทยโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีอัตราที่ถดถอยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมีอัตราของผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้นในสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนเพื่อเป็นแรงงานและพลเมืองที่สำคัญของกรุงเทพมหานครรวมถึงประเทศ จึงเป็นวาระที่สำคัญที่ควรจะได้รับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเร่งด่วน ด้วยปัญหาของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของกรุงเทพมหานครนั้นมีความซับซ้อนและหลากหลายในมิติต่าง ๆ เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนบุคคล สวัสดิการของครูประจำศูนย์ก่อนวัยเรียน อัตราเงินเดือน จึงเป็นการสมควรที่จะต้องทำการแก้ไขปัญหาที่โครงสร้างอย่างตรงจุด เพื่อพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนที่จะก้าวขึ้นเป็นพลเมืองที่สำคัญในอนาคต จึงขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนทุกมิติทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร
“กรุงเทพมหานครมีศูนย์เด็กเล็กในความดูแล 200 กว่าแห่ง มีครูอาสา 2,000 กว่าคน แต่ทั้งครูและเด็กอยู่ภายใต้ข้อจำกัดในการพัฒนา เนื่องจากบางศูนย์ไม่สามารถใช้งบประมาณเพื่อแก้ไขได้ ทั้งในเรื่องระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้าง จากการลงพื้นที่พบว่าศูนย์เด็กแต่ละแห่งมีปัญหาแตกต่างกันหลากหลายมิติ แบ่งได้ 3 ส่วน คือ ปัญหาทางกายภาพ ได้แก่ อาคาร สถานที่ตั้ง การขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน การขาดแคลนงบประมาณ การขาดแคลนความปลอดภัย ปัญหาสวัสดิการครู และปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์สำหรับการพัฒนาการของเด็ก ซึ่งการขาดแคลนงบประมาณทางด้านกายภาพจะส่งผลต่อความปลอดภัยของเด็ก จากการลงพื้นที่และตรวจสอบข้อมูล 37 แห่ง พบว่าการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กของกทม.ให้เทียบเท่าเอกชนจะใช้งบประมาณแต่ละแห่งเฉลี่ยศูนย์ละ 200,000 – 300,000 บาท ซึ่งเข้าใจว่ากทม.มีเงื่อนไขในการใช้งบประมาณ แต่หากเราจำนนต่อข้อจำกัดดังกล่าวเราจะไม่สามารถพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั้งหมดได้เลย การตั้งงบประมาณเพื่อพัฒนาศูนย์เด็กเล็กจะไม่มีเรื่องขาดทุน เพราะกำไรคือศักยภาพของเด็ก” นายเอกกวิน กล่าว
ทั้งนี้นายฉัตรชัย หมอดี ส.ก.เขตบางนา นายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง นางสาวปิยะวรรณ จระกา ส.ก.เขตสวนหลวง ได้ร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการลงทุนน้อยแต่ได้ผลตอบแทนสูงตามที่ท่านส.ก.ได้กล่าวไว้ เรื่องการปรับค่าอาหารกลางวันก็เป็นนโยบายที่ได้ทำตั้งแต่เข้ามาในช่วงแรก ๆ
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตอบข้อซักถามของส.ก.ในประเด็นต่าง ๆ ว่า เรื่องของศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน กทม.มีนโยบายที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วและไม่ได้อยู่ในความดูแลของสำนักพัฒนาสังคมเท่านั้น ยังมีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งเน้นการพัฒนาเด็กปฐมวัย 0-6 ขวบ และยังอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และสำนักการศึกษา ทั้งนี้คณะกรรมการดังกล่าวได้หารือกันใน 5 ประเด็น คือ เรื่องกายภาพ ค่าตอบแทน สวัสดิการอาสาสมัคร ค่าอาหารกลางวัน สื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับเรื่องงบประมาณศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชน กทม.ได้ใช้ระเบียบกทม.ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนาชุมชน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2565 ในการดูแล แต่ก็พบว่างบประมาณยังไม่เพียงพอ จึงได้ใช้วิธีการร่วมกับภาคเอกชน ประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เรื่องของการปรับขึ้นค่าจ้างอาสาสมัครขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ในส่วนข้อมูลของส.ก.ในวันนี้จะนำไปประกอบการดำเนินการเพื่อพัฒนาด้านกายภาพของศูนย์ฯ ต่อไป เรื่องของมาตรฐานแนวทางของหลักสูตรการเรียนการสอนสำนักพัฒนาสังคมได้จัดทำคู่มือส่งเสริมและพัฒนาเด็กปฐมวัยกรุงเทพมหานครเพื่อเป็นแนวทางให้ศูนย์ฯประยุกต์ใช้เป็นครั้งแรก และยังได้ร่วมกับหลายหน่วยงานดำเนินการ sandbox 6 แห่ง และจะขยายผลต่อไป ร่วมกับการกำหนดแนวทางประเมินผลต่อไป
“ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นเพียงหนึ่งหน่วยที่ดูแลเด็กเล็ก กรุงเทพมหานครมีแผนที่จะทำโรงเรียนให้เป็นแม่ข่ายสำหรับเด็กปฐมวัยเพื่อดูแลศูนย์เด็กเล็กในชุมชนทั้งหมดในลักษณะ cluster และอาสาสมัครจะมีครูที่อยู่ในโรงเรียนเป็นพี่เลี้ยงอีกทีด้วย ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการ” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว
ทั้งนี้สภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบกับญัตตินี้และจะส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการต่อไป
—–