ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2566 : นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดในกรุงเทพมหานคร นำคณะกรรมการวิสามัญฯ รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญฯ
นางสาวนิภาพรรณ จึงเลิศศิริ ส.ก.เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการวิสามัญฯ กล่าวถึงรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญฯ ว่า คณะกรรมการวิสามัญได้ศึกษาปัญหาสัตว์จรจัดในกรุงเทพมหานครจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการแก้ไขปัญหาทั้งภาคราชการและเอกชนที่ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการวิสามัญฯ คือ ปศุสัตว์กรุงเทพมหานคร กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีแนวทางแก้ไขปัญหาโดยเน้นการนำไปใช้ปฏิบัติจริงมากกว่าการจัดทำรายงานให้ความรู้ทางวิชาการ
สำหรับประเด็นที่รายงานในครั้งนี้ อาทิ การป้องกันโรคและควบคุมจำนวนสุนัขและแมว โดยการฉัดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและทำหมัน สามารถดำเนินการได้ทั้งในสถานที่และนอกสถานที่ ซึ่งการดำเนินการควรทำในพื้นที่หนึ่งให้เห็นผลแล้วย้ายพื้นที่ไป จะได้ผลมากกว่าการกระจายลงหลายพื้นที่ และควรให้บริการทั้งสุนัขที่มีเจ้าของและสุนัขจรจัด และเมื่อทำหมัน ฉีดวัคซีนให้สุนัขจรจัดแล้วควรนำไปปล่อยที่จุดเดิมพร้อมกับทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ในการอยู่ร่วมกันกับสุนัข เพราะหากนำสุนัขไปยังศูนย์พักพิงดูแลสุนัขจะทำให้การดูแลทำได้อยาก จึงต้องสร้างสมดุลในการอยู่ร่วมกัน ทั้งนี้ในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เป็นปัจจุบันและกำหนดมาตรการบังคับใช้ เพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการลงพื้นที่ทำหมันสัตว์ ทั้งนี้คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้เสนอแก้ไขข้อบัญญัติเดิมและเสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. … เพื่อให้สภากรุงเทพมหานครได้พิจารณาต่อไป
“ขอขอบคุณคณะกรรมการวิสามัญทุกท่านที่ได้ร่วมกันศึกษาและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัด จากการพูดคุยกับภาคีเครือข่ายหลายองค์กรพบว่ามีการการดำเนินการหลายอย่างไปแล้วอาทิ การปรับรูปแบบการทำงานของสำนักอนามัยให้เป็นแบบซอยด๊อก จะสามารถลดจำนวนสัตว์จรจัดได้ ประกอบกับข้อบัญญัติในอนาคตที่จะออก จะสามารถสอดรับกันเพื่อแก้ปัญหาสัตว์จรจัดและเห็นผลได้อย่างชัดเจนในอีก 2-3 ปี ต่อไป” นายนภาพล กล่าว
• ส.ก.ลาดกระบัง เสนอตั้งสายด่วนรับปัญหาสัตว์จรจัด
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง กล่าวว่า ตามประสบการณ์ที่พบสุนัขจรจัดได้รับการ ประสานสำนักอนามัยพบว่ารถที่จะไปรับสัตว์เสียใช้งานไม่ได้ และลูกดอกที่จะใช้เป่ายาสลบไม่มี ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ และได้รับความช่วยเหลือจากสมาคมผู้พิทักษ์สัตว์ไทย ซึ่งประชาชนมักไม่ทราบขั้นตอนส่วนใหญ่จะติดต่อผ่านเขต ทำให้สัตว์ที่ถูกทารุณจะตาย ถึงเวลาแล้วที่กทม.จะเป็นเจ้าภาพหลักในการรักษาสัตว์จรจัดที่ได้รับบาดเจ็บอย่างเป็นรูปธรรมและประสานช่วยเหลือส่งต่อไปยังกรมปศุสัตว์ นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้อาศัยช่องทางนี้ในการหาผลประโยชน์กับประชาชน กทม.จึงควรเปิดช่องทางสื่อสารเป็นเบอร์สายด่วน หรือไลน์ด่วนที่ประสานงานระหว่างกทม.กับกรมปศุสัตว์โดยตรง
ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับญัตติและจะส่งให้ฝ่ายบริหารกทม.ดำเนินการต่อไป