โควิดสัปดาห์เดียวดับ5 หลังสงกรานต์พุ่ง2เท่า
สธ.เข้มจัดงานคอนเสิร์ต ปาร์ตี้ ป้องกัน ‘โควิด’ ระบาดซ้ำ ย้ำเน้นเว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนคนเข้างานพร้อมทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม กรมควบคุมโรคเผยหลังสงกรานต์ สัปดาห์เดียว ยอดป่วยโควิดพุ่ง 2 เท่า ตาย 5 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 ไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย ส่วนหนุ่ม เมียนมาดับ พบปอดอักเสบ ไม่ได้รักษา ไม่ได้ฉีดวัคซีน เร่งสอบสวนโรคละเอียด แจงสายพันธุ์ XBB.1.16 อาการเหมือน โอมิครอนตัวอื่น อาการ ‘ตาแดง’ พบได้บ้าง สายพันธุ์อื่นในอดีตก็เจอ ‘ชัชชาติ’ ชวน คนกรุงฉีดเข็มกระตุ้น เตรียมประสานเอกชนตั้งหน่วยบริการเพิ่ม
สธ.เข้มคอนเสิร์ต-ปาร์ตี้สกัดโควิด
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่พบการระบาดในไทยเพิ่มขึ้น แม้ประเทศไทยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 แล้ว ทำให้หลายพื้นที่กลับมาจัดงานต่างๆ กัน มากขึ้น เช่น การจัดคอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา หรือการจัดงานมหรสพรื่นเริง ทำให้มีการ รวมตัวของคนจำนวนมาก ซึ่งเดินทางมาจากหลายพื้นที่ อาจมีการสัมผัสใกล้ชิด การร้องเพลงหรือตะโกน รวมถึงระยะเวลาการร่วมกิจกรรมใช้เวลานาน เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ได้
นพ.อรรถพลกล่าวต่อว่า กรมอนามัยขอให้ผู้จัดงานยังคงปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเว้นระยะห่างและกำหนดจำนวนคนต่อพื้นที่ไม่ให้หนาแน่นจนเกินไป โดยเฉพาะในอาคารพื้นที่ปิดที่อาจมีการระบายอากาศไม่ดี ต้องใส่ใจเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะจุดสัมผัสร่วม เช่นโต๊ะ เก้าอี้ ไมโครโฟน ราวบันได ที่จับประตู ปุ่มกดลิฟต์ และห้องน้ำห้องส้วม จัดให้มีจุดบริการล้างมือเพียงพอ และกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกสุขลักษณะทุกวัน เพื่อลดการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อไปในวงกว้าง ส่วนประชาชนหากมีอาการเสี่ยงหรืออาการระบบทางเดินหายใจให้เลี่ยงเข้าร่วมงาน ผู้ที่เข้าร่วมงาน สามารถป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ หลังสัมผัสจุดสัมผัสร่วม และเมื่อกลับถึงบ้านควรเปลี่ยนเสื้อผ้าและอาบน้ำทันที
“หากมีอาการ ไอ เจ็บคอ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ หายใจลำบาก ให้ตรวจ ATK ถ้าผลเป็นบวก ให้สวมหน้ากากเมื่อใกล้ชิดผู้อื่น หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 และสถานที่มีคนจำนวนมาก หากอาการ มากขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาในร.พ. สำหรับกลุ่ม 608 ให้รีบไปพบแพทย์และติดตามอาการ อย่างใกล้ชิด” นพ.อรรถพลกล่าว
หลังสงกรานต์ป่วยโควิดพุ่ง2เท่า
ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์ 1 สัปดาห์ว่า จากระบบรายงานสัปดาห์ที่ 16 คือวันที่ 16-22 เม.ย.2566 พบว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารักษาในร.พ.เพิ่มขึ้นเป็น 1,088 ราย หรือประมาณ 2 เท่ากว่าๆ มีผู้เสียชีวิตอีก 5 ราย ส่วนใหญ่หรือ 4 ราย พบว่าเป็นกลุ่ม 608 ผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวที่ไม่ได้รับวัคซีนเลย อีกรายหนึ่งฉีดกระตุ้นไปนานแล้ว ดังนั้นก็ตรงกับที่คาดการณ์ว่าหลังเทศกาลที่มีการเดินทางไปมาหาสู่และมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ก็คงมีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วย จึงอยากเชิญชวนให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งคิดว่าจะเริ่มฉีดเป็นรอบพร้อมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในช่วงเดือนพ.ค. โดยเตรียมวัคซีนทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและชนิด 2 สายพันธุ์ สามารถไปรับที่สถานพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน
หนุ่มเมียนมาดับไม่ได้ฉีดวัคซีน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีข่าวคนงานเมียนมาที่เสียชีวิตและพบผลตรวจ ATK 2 ขีด อาจเป็น XBB.1.16 ผลตรวจสอบเป็นอย่างไร นพ.ธเรศกล่าวว่า เราได้ข้อมูลเบื้องต้นจากร.พ.จุฬา ลงกรณ์ว่า มีลักษณะของปอดอักเสบ มีติดเชื้อแน่นอน แต่กำลังสอบสวนรายละเอียดว่า ผู้ป่วยดูเหมือนจะไม่ได้รับการรักษาเลย และ ไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย กำลังไปสอบสวนรายละเอียด จึงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนเป็นประโยชน์ในการลดอาการรุนแรงและการเสียชีวิต ส่วนจะทราบผลเมื่อไรตรงนี้อยู่ที่ทาง ร.พ.จุฬาฯ
เมื่อถามว่าลักษณะอาการของสายพันธุ์ XBB.1.16 มีข้อแตกต่างออกมาชัดเจนแล้วหรือยัง นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลปัจจุบันอาการก็ยังเหมือนเดิมกับโอมิครอนสายพันธุ์อื่น แต่มีรายงานว่า บางคนอาจจะมีอาการตาแดง ขี้ตา แต่เท่าที่เห็น 20 กว่ารายในประเทศไทยยังไม่ชัดเจนว่ามีอาการตาแดง มีแต่รายงานในอินเดียที่เป็นเด็ก และผู้ใหญ่ 1-2 คนที่เป็นข่าวในโซเชี่ยลมีเดีย แต่คนทั่วไปที่ติดสายพันธุ์ XBB.1.16 มีอาการเหมือนกับการติดโควิดโอมิครอนตัวอื่นๆ คือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว อาการคล้ายกัน มีอาการตาแดงในบางคนที่ถือว่าเป็นส่วนน้อย มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่เด็กน่าจะมากขึ้นถ้าหากมีการเปิดเทอมในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า แต่ตอนนี้คนไปร่วมกิจกรรมเป็นวัยรุ่นวัยทำงาน
สธ.สั่งเตรียมพร้อมยา-เตียง
นพ.ธเรศกล่าวต่อว่า จะติดตามอีกประมาณสัปดาห์หนึ่ง เราจะรู้ว่าหลังสงกรานต์สถานการณ์จะประมาณไหน โดยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ.ประชุมอีโอซีและสั่งการในเรื่องการเตรียมทั้งยา ทรัพยากรต่างๆ และการเตรียมเตียงไว้รองรับ ถ้าดูอัตราการเฉลี่ยการป่วยยังอยูในระดับที่เราแบ่งเป็นสีต่างๆ ก็ยังอยู่ในอัตราสีเขียวอยู่
เมื่อถามถึงกรณี นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ โพสต์ภาพดวงตาทำให้คนกังวลว่าจะเกิดอาการอักเสบของดวงตาเช่นนั้นหรือไม่ นพ.ธเรศกล่าวว่า ข้อมูลของ XBB.1.16 ที่ป่วยในไทยยังไม่พบอาการตาอักเสบเยอะนัก แต่มีรายงานในต่างประเทศพบในเด็กส่วนมาก แต่ไม่ได้มีการรักษาที่ตาเฉพาะ พอรักษาไวรัสหายก็หายเลย ยืนยันว่าเรื่องตาไม่ใช่ข้อบ่งชี้หลักของสายพันธุ์
เมื่อถามต่อว่านอกจากอินเดียแล้ว ประเทศอื่นมีรายงานเรื่องตาหรือไม่ นพ.โสภณกล่าวว่า ไม่ค่อยมีประเทศไหนพูดถึงโดยเฉพาะ แต่ในอดีตเราเคยเจอโควิดที่ตาแดงตาอักเสบได้เหมือนกัน แต่เป็นส่วนน้อยมากๆ อย่างไร
ก็ตาม เดี๋ยวสักพักจะมีผู้ป่วยที่เราต้องติดตามดูอาการ จะมีข้อมูลของไทยเรา
นพ.ธเรศตอบคำถามกรณี ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ แนะนำว่าการรับมือ XBB วัคซีนต้องถึงเข็ม 4 แต่การฉีดเข็ม 4 ของไทยอยู่ที่ 11% จะมีมาตรการอะไรเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้นว่า ตอนนี้เราใช้เข็มกระตุ้น เราวางระบบตั้งแต่พ.ค.เป็นต้นไป จะให้ฉีดพร้อมกัน ทั้งวัคซีนโควิด และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2 ข้างในกลุ่มเสี่ยง คนทั่วไปสามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ทั้งโมโนและไบวาเลนต์ได้ในทุกแห่ง แนวทางของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้นประจำปี
เมื่อถามว่าผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยมีเท่าไร นพ.โสภณกล่าวว่า มีประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญ อย่างที่เสียชีวิต 5 ราย 4 คนไม่ได้รับวัคซีน
ด้านนพ.ธเรศย้ำว่า ต้องขอสื่อช่วยกันรณรงค์ให้เห็นความสำคัญ และใช้กลไก อสม.เข้าไป โดยปีนี้เป็นปีสุขภาพผู้สูงวัย อสม.จะเข้าไปประเมินและใช้กลไกนี้เชิญชวนกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยหรือยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้นเข้ามา ปลัด สธ.ก็กำชับสถานพยาบาลทุกแห่งในการจะเชิญชวนคนมาฉีด โดยคนที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนหากมารับวัคซีนประจำปีก็จะแนะนำให้ฉีด 2 เข็ม ทั้งนี้ การฉีดทั้งสองตัวมีความปลอดภัย อย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็ฉีดมาแล้วหลายปีปลอดภัยชัด โควิดก็เช่นกัน เราฉีดวัคซีนมา 2-3 ปีแล้ว คิดว่าข้อมูลความปลอดภัยเทียบกับผลที่ได้ ในการลดความรุนแรงของโรคและลดการเสียชีวิต มีผลว่าคุ้มค่ามาก และมีการทดลองแล้วว่าฉีดด้วยกันได้ ไม่เกิดปัญหาเรื่องภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น ขอเชิญชวนมาฉีดทีเดียวได้ทั้งสองโรค มีการศึกษาที่จะผลิตทั้งสองตัวอยู่ในหลอดเดียวกันเพื่อฉีด แต่อยู่ในขั้นตอนการศึกษา
โคราชป่วยโควิดเพิ่ม 3 เท่า
ด้านนพ.เจษฏ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผอ. โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และหัวหน้าศูนย์วัคซีนโควิด-19 โคราช เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ว่าช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์มีจำนวนผู้ป่วยที่เป็น กลุ่มเสี่ยงสูงขอรับยาต้านไวรัสและใบรับรองแพทย์ขอเข้ารับบริการตรวจคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจต่อวัน 10-20 ราย หลังสงกรานต์ตัวเลขประมาณ 50 ราย เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2-3 เท่า ถือเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ไว้ ล่วงหน้า และช่วงเดือนพ.ค.จำนวนผู้ป่วยจะค่อยๆ ลดลงจนเข้าสู่สภาวะปกติ สิ่งสำคัญ การเดินทางไปสถานที่ที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก การด์อย่าตกต้องสวมหน้ากากหมั่นใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ สามารถป้องกันได้ทั้งโควิด โรคไข้ไหวัดใหญ่ โรคติดเชื้อทางระบบเดินหายใจหรือการสัมผัส ส่วนกลุ่มเสี่ยง 608 และบุคคลทั่วไปขอเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันได้ตามสถานพยาบาลใกล้บ้าน
แพทย์มข.เตือนระวัง’XBB.1.16′
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ข่าวโรคระบาดของโควิด-19 ก็กลับมาอีกครั้ง หนึ่งในผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จ.ขอนแก่น ระบุว่าหลังเทศกาลสงกรานต์ คนสนิทติดเชื้อโควิด-19 จึงเฝ้าระวังและตรวจหาเชื้อวันแรกก็ยังไม่พบ ก่อนที่วันที่ 2 จะเริ่มมีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย และวันที่ 3 อาการเริ่มชัดเจน อ่อนเพลียมากขึ้น มีไข้สูง 38.5 องศาเซลเซียส จึงตรวจ ATK อีกครั้งแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 หลังจากตรวจพบก็มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย และไข้สูงต่อเนื่อง จึงกินยาลดไข้ตามอาการ โดยซื้อยาเอง และโทรศัพท์ปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล
ผู้ติดเชื้อคนดังกล่าว ระบุว่า แม้จะฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม แอสตราเซนเนกา 1 เข็มแล้ว แต่ครั้งนี้ก็ยังติดเชื้อ โดยเป็นการติดครั้งแรก ส่วนตัวกังวลกับสถานการณ์ โควิด-19 โดยเฉพาะเมื่อคนใกล้ชิดติด แล้วตัวเองติดด้วย ขณะเดียวกันยังมีรายงานข่าวเกี่ยว
กับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อีก และคาดว่าหลังเทศกาลสงกรานต์เชื้ออาจจะแพร่กระจายจนทำให้ผู้ติดเชื้อมีปริมาณเพิ่มขึ้น
ผศ.นพ.วันทิน ศรีเบญจลักษณ์ อายุรแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะ
แพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โควิด-19 ที่มีกระแสข่าวว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่นั้น ยังเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน โดย สายพันธุ์ที่ถูกพูดถึงมาก คือสายพันธุ์ XBB.1.16 เป็นการกลายพันธุ์เล็กๆ น้อยๆ บริเวณตำแหน่งที่เรียกว่าโปรตีนหนาม ซึ่งอาจทำให้เชื้อมีคุณสมบัติแพร่กระจายได้เร็วขึ้น แต่เบื้องต้นยังไม่มีข้อมูลว่าก่อให้เกิดโรครุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น อย่างไรก็ตาม หลังสงกรานต์มีรายงานว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นถึง 158 เท่าในประเทศไทย แต่ต้องย้ำว่าก่อนสงกรานต์เป็นช่วงที่โรคเงียบสงบ ดังนั้น 158 เท่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ยังเป็นจำนวนหลักร้อยคน ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า โควิดสายพันธุ์ใหม่ติดเชื้อง่ายขึ้น แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดิม หากถามว่าต้องกังวลไหม อาจตอบว่าตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ไปก่อน
ผศ.นพ.วันทินกล่าวด้วยว่า อาการของ โควิด-19 นั้น อาจจะแยกความแตกต่างกับอาการไข้หวัดใหญ่ได้ยาก เนื่องจากมีอาการใกล้เคียงกัน คือมีทั้งไข้ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว และล่าสุดสำหรับสายพันธุ์ XBB.1.16 มีรายงานว่า ผู้ติดเชื้อมีอาการตาแดงด้วย แต่อาการนี้อาจไม่เกิดขึ้นกับทุกคน ซึ่งการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ก็ยังสามารถยืนยันการติดเชื้อได้ไม่ว่าจะสายพันธุ์ใด สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ภายใน 3 เดือน หรือฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จนทำให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงมากแล้ว ก็มีโอกาสน้อยที่จะติดเชื้อใหม่ เพราะแม้ว่าเชื้อจะกลายพันธุ์แต่การหลบภูมิคุ้มกันยังไม่โดดเด่น แต่หากติดเชื้อและฉีดวัคซีนนานแล้ว ก็มีโอกาสติดเชื้อซ้ำหรือติดเชื้อใหม่ได้ การป้องกันการติดเชื้อกลายพันธุ์อาจต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิดใหม่ คือวัคซีน Bivalent ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดผสมกันระหว่างสายพันธุ์อู่ฮั่นและโอมิครอน โดยมีผลข้างเคียงไม่ได้แตกต่างจากวัคซีนชนิดเดิม ซึ่งจะเป็นตัวช่วยลดการติดเชื้อรุนแรงได้
“หากใครยังมีภูมิคุ้มกันดีก็ให้พิจารณาแล้วแต่บุคคล แต่กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงบุคลากรการแพทย์หน้าด่านที่ต้องดูแล ผู้ป่วย และผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน ก็จำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงของตัวเองแล้วฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด หากมีแนวโน้มการระบาดระลอกใหม่ ประชาชนก็ต้องปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันการติดเชื้อโดยสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงที่ชุมชน หรือแออัด ซึ่งมาตรการ ต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในเวลานั้นๆ” ผศ.นพ.วันทิน กล่าว
หากประชาชนพิจารณาแล้วว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็สามารถเดินทางมาฉีดวัคซีนชนิดใหม่ Bivalent ของไฟเซอร์ ที่งานเวชกรรมสังคม ชั้น 2 อาคารเรียนรวม โรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า ตั้งแต่วันที่ 19-30 เม.ย. 2566 ช่วงบ่ายของทุกวัน ยกเว้น วันหยุดราชการ
บอร์ดสปสช.ออกแพ็กเกจ 1 พ.ค.
วันเดียวกัน พล.อ.อ.สุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์ 904 พร้อมด้วยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นสักขีพยานลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญ สำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ ระหว่างนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ. จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์
นางพงษ์สวาทกล่าวว่า ในเรือนจำมีความเป็นอยู่ที่แออัด ระบบสุขภาพจึงสำคัญ การเข้าถึงตั้งแต่การเสริมสร้างป้องกัน เฝ้าระวัง เมื่อเกิดโรคระบาดจะต้องเข้าไปแก้ไขให้ทันท่วงที วันนี้การลงนามบันทึก MOU จึงสำคัญมากในการช่วยดูแลผู้ต้องขังให้มีสุขภาพดีเป็นมาตรฐานสากล แม้เป็นผู้กระทำความผิดก็ต้องดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนให้ครบถ้วน
ด้านนายอายุตม์กล่าวว่า ช่วงโควิด เรือนจำมีผู้ต้องขังติดเชื้อหลักแสนคน เราฉีดวัคซีน 1 ล้านกว่าโดส บางเรือนจำมีการฉีดถึงเข็ม 5 แล้ว จะเห็นจากสถิติการเสียชีวิตผู้ต้องขังจากโควิด 207 คน คิดเป็น 0.02% สำหรับเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 ราย ส่วนจากนี้ที่จะฉีดวัคซีนประจำปี กรมควบคุมโรคยืนยันว่ามีวัคซีนพร้อม กรมราชทัณฑ์จึงแจ้งเรือนจำทั่วประเทศให้ประสาน ผอ.ร.พ.แม่ข่ายขอวัคซีนมาฉีด และได้รับการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ทำให้สามารถฉีดเองได้ในเรือนจำ สำหรับการติดซ้ำมีประมาณ 2-3 ครั้ง แต่ไม่รุนแรง ส่วนโรคอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค นั้น การเข้ามาใหม่ต้องคัดกรองตรวจสุขภาพ มีโรคประจำตัวหรือไม่ ฉีดวัคซีน กี่เข็ม หรือยังไม่ฉีด มีจิตเวชหรือไม่ เพื่อลงข้อมูลไว้สำหรับการรักษาในช่วงอยู่ในเรือนจำ
นพ.ธเรศกล่าวว่า โรคหลักๆ ในเรือนจำ จากข้อมูลกองระบาดวิทยาปี 2565 มีรายงานการระบาด 33 เหตุการณ์ ผู้ต้องขังป่วย 3,586 ราย และเสียชีวิต 2 ราย โรคที่รายงานมากที่สุด คือโรคไข้หวัดใหญ่รายงาน 18 ครั้ง ป่วย 2,119 ราย ส่วนปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 2566 ผู้ต้องขังป่วย 1,377 ราย เสียชีวิต 4 ราย พบอาหารเป็นพิษมากสุด 911 ราย ไข้หวัดใหญ่ 435 ราย จึงหารือกรมราชทัณฑ์และสปสช.ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์การฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง ส่วนการคัดกรองเช่นวัณโรค ซิฟิลิส โรค ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ มีความร่วมมือกันมาก่อนแล้ว ส่วนการฉีดวัคซีนโควิดประจำปีใน เรือนจำ ก็จะฉีดพร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เริ่มในพ.ค.เช่นกัน เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อยู่กันเยอะ เป้าหมายคนในเรือนจำประมาณ 2.7 แสนกว่าคนในการกระตุ้นต่อปี
เรือนจำเร่งฉีด 2 วัคซีน
เมื่อถามถึงการจัดแพ็กเกจเพื่อจูงใจคนฉีดวัคซีนโควิดควบคู่ไข้หวัดใหญ่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า เรากำลังเตรียมการตามนโยบายรมว.สธ. ที่อยากให้ความสะดวกแก่ผู้มาฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิด อาจใช้กลไกการเงินที่เรามี และดู กิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับ สธ. กำลังทำอยู่ใน ภาพรวม โดยจะเข้าบอร์ด สปสช.วันที่ 1 พ.ค.นี้ จะเร่งทำการบ้าน โดยปรึกษากับ สธ.ว่าจะจัดระบบอย่างไร ซึ่งเรามีงบของ โควิด-19 ประมาณ 1,560 ล้านบาทตั้งแต่ ต้นปี ก็กระจายเป็นก้อนๆ ทั้งการตรวจ ATK การรับบริการ Telemedicine การไปรับบริการร้านยา ค่าฉีดวัคซีนโควิด
“ส่วนกรณีผู้ต้องขัง การลงนามจะมีกลไกการคุยเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของผู้ต้องขัง ด้วยข้อจำกัดของการอยู่ร่วมกันในเรือนจำ ทำให้บางครั้งสิทธิประโยชน์มีความแตกต่างจากคนอื่น เช่น ไม่สามารถไปรับบริการได้ ต้องปรับยุทธวิธีเชิงรุก กลไกการเงินเราจะปรับให้เหมาะกับผู้ต้องขังที่อยู่เป็นกลุ่มรวมกัน แทนที่จะเปิดให้ผู้ต้องขังไปข้างนอก การเงินก็ต้องปรับ เราทำมาหลายปีแล้ว แต่แง่สิทธิประโยชน์จะเน้นมากขึ้น อย่างวัณโรคเราเอกซเรย์ปอดทุกปี เพราะรู้ว่าคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ไม่เหมือนคนภายนอกที่เชิญไปตรวจ”นพ.จเด็จกล่าว
กทม.เล็งเปิดจุดฉีดวัคซีนเพิ่ม
วันเดียวกัน ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกทม.ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า จากรายงานขณะนี้โรค โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง โดยเปรียบเทียบช่วงก่อนสงกรานต์พบผู้ติดเชื้อ ประมาณ 300 รายต่อวัน หลังเทศกาลสงกรานต์พบ ผู้ติดเชื้อประมาณ 1,000 รายต่อวัน อยาก จะเน้นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็มบูสเตอร์ ประกอบกับใกล้เปิดเทอมแล้ว คาดว่าจะมีประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีดหลักล้านคน ที่ผ่านมากทม.จำเป็นต้องปิดศูนย์ฉีดวัคซีนที่ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เนื่องจากใช้พื้นที่สำหรับการเตรียมเลือกตั้งส.ส. ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานภาคเอกชนใช้พื้นที่ตั้งหน่วยฉีดวัคซีนเพิ่มเติม นอกจากที่ร.พ.สังกัดกทม. และศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง
ด้านน.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ช่วงสงกรานต์มีคนติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น โดยช่วงเดือนมี.ค.ติดเชื้อ 100 ราย ต่อวัน วันที่ 10 เม.ย. ติดเชื้อ 300 รายต่อวัน ช่วงวันที่ 17-18 เม.ย.ยอดติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1,000 รายต่อวัน หลังจากนั้นลดเหลือ 500 ราย ต่อวัน ซึ่งอนุมานได้ว่าช่วง 1 สัปดาห์ที่ ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อ 1,000 รายต่อวัน เป็นการ แพร่ระบาดที่เร็วและติดเชื้อง่าย โดยเฉพาะกลุ่ม 607 และ 608 ติดเชื้อง่าย จึงขอความร่วมมือคนที่เข้าร่วมกิจกรรมและใกล้ชิด กับคนที่มีโรคประจำตัวกระชับมาตรการป้องกันมากขึ้น
“ปัจจุบันอัตราการรับผู้ป่วยเข้ารับรักษาอยู่ที่ 40% เหลืออีก 60% ถ้าหากอัตราการครองเตียงสูงขึ้นถึง 80% กทม.เตรียมพร้อมโดยจะเพิ่มเตียงอีก 2 เท่า อย่างไรก็ตามอยากให้ประชาชนที่ฉีดเข็มบูสเตอร์ล่าสุดเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ให้ไปฉีดเข็มบูสเตอร์เพื่อป้องกัน ได้ที่ร.พ.สังกัดกทม. เปิดให้บริการวันจันทร์วันศุกร์ ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ทุกวันพุธ และวันศุกร์ เวลา 09.00-15.00 น. นอกจากนี้กทม.เตรียมเปิดโซนฉีดวัคซีนเพิ่ม อีก 6 โซนในวันเสาร์ และเตรียมเจรจากับห้างเซ็นทรัล และห้างเทอร์มินอล 21 เปิดจุดให้บริการฉีดวัคซีนอีกครั้ง” น.ส.ทวิดากล่าว
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 25 เม.ย. 2566