(12 เม.ย.66) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) คณะผู้บริหารกทม. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง
ในที่ประชุม ประธานสภากรุงเทพมหานครได้แจ้งต่อที่ประชุม ว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้รายงานผลการดำเนินการตามญัตติของส.ก. 5 เรื่อง ประกอบด้วย ญัตติของนางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ส.ก.เขตคลองสามวา เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาสถานที่จัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนในช่วงปิดภาคเรียน ญัตติของนายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณารูปแบบจุดกลับรถเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ญัตติของนายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาสำรวจพื้นที่เพื่อก่อสร้างถนนเป็นทางลัดและทางเชื่อมเพื่อช่วยระบายการจราจร ญัตติของนายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครมีมาตรการด้านความปลอดภัยในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และญัตติของนางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ส.ก.เขตคลองสามวา เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในชุมชนจดทะเบียน แต่ถนน ตรอก ซอย ไม่เป็นที่สาธารณะ
*ถามสดแนวทางแก้ไขปัญหาฝาท่อระบายน้ำบนถนนสายหลัก
นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท ได้ยื่นกระทู้ถามสด เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาฝาบ่อพักท่อระบายน้ำที่อยู่กลางถนน เนื่องจากถนนบางสายมีการขยายช่องจราจรเพิ่มขึ้น ทำให้ฝาบ่อพักท่อระบายน้ำซึ่งเดิมเคยอยู่ริมถนนย้ายมาอยู่กลางถนนหรือจากสาเหตุอื่น ส่งผลให้ถนนไม่เรียบ รวมถึงถนนบางสาย ฝาบ่อพักท่อระบายน้ำที่อยู่กลางถนนนูนสูงหรือต่ำกว่าระดับปกติของถนน ทำให้รถต้องชะลอความเร็วลงวิ่งช้ากว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่รถบริเวณถนนดังกล่าว และยังส่งผลทำให้ช่วงล่างของรถชำรุดเร็วกว่าการใช้ถนนปกติ จึงขอสอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่ามีแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
“เชื่อว่าทุกเขตมีฝาท่อระบายน้ำกลางถนนแทบทุกสาย ปัญหานี้มีมานานกว่า 20 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝาท่อแบบเหล็กบนถนนสายหลักที่ไม่มีมาตรฐาน ก่อให้เกิดความเสียหายกับรถของประชาชน ที่เห็นคือบนถนนพหลโยธิน ถนนเจริญกรุง ถนนวิทยุ ถนนพระราม4 แต่ละฝามีมูลค่ากว่า 14,000 บาท และเมื่อรวมค่าเจาะบ่อ ต้องใช้งบประมาณบ่อละกว่า 30,000-40,000 บาท ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงขอทราบแนวทางการแก้ไขปัญหา และเหตุผลความจำเป็นของการดำเนินการ” นายพีรพล กล่าว
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงว่า ลักษณะของฝาท่อระบายน้ำบนถนนพหลโยธิน แบ่งเป็น 3 แนว โดยฝาท่อแนวกลาง เดิมเป็นพื้นที่เกาะกลาง ต่อมาสำนักการโยธาและสำนักการระบายน้ำได้ปรับปรุงเกาะกลางถนนและปรับปรุงท่อระบายน้ำใต้เกาะกลาง จึงทำให้มีฝาท่อเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ ในแง่หลักการเห็นด้วยที่ว่า กลางถนนไม่ควรมีการวางฝาบ่อ ยกตัวอย่างถนนพหลโยธินมีฝาบ่อจำนวนมาก ระยะห่างควร 15 เมตร แต่ข้อเท็จจริงพบฝาท่อในระยะห่างทุก 5-6 เมตร เบื้องต้นจึงมีโครงการที่จะปิดฝาบ่อบริเวณถนนพหลโยธินที่ไม่จำเป็น รวมถึงสำนักการโยธาได้กำหนดแบบมาตรฐานของฝาบ่อแล้วโดยไม่ให้มีฝาบ่อกลางถนน และสำนักการระบายน้ำมีงบประมาณค่าใช้สอย ซึ่งจะใช้ดำเนินโครงการที่จะปิดและพัฒนาฝาบ่อท่อระบายน้ำ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทำได้ตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป
*สอบถามแนวทางแก้ไขทางข้ามม้าลายและไฟฟ้าส่องสว่าง
นางสาวปิยะวรรณ จระกา ส.ก.เขตสวนหลวง ยื่นกระทู้ถามสดขอทราบความชัดเจนการแก้ปัญหาจุดเสี่ยง ซึ่งได้อภิปรายไปแล้วเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และฝ่ายบริหารได้มีหนังสือรายงานผลการดำเนินการตอบมา แต่คำตอบไม่ได้ปรากฎข้อมูลที่ชัดเจน ครบถ้วน จึงขอสอบถามความคืบหน้าการเปลี่ยนหลอดไฟในถนนสายหลักและซอยว่าขณะนี้ดำเนินการถึงขั้นตอนใด และศาลาที่พักผู้โดยสารที่ไม่มีไฟส่องสว่างและไม่มีที่นั่งพัก กทม.ได้ดำเนินการอย่างไร ในส่วนของทางม้าลายที่สีซีดจาง ในปีงบประมาณ66 กทม.จะดำเนินการให้แล้วเสร็จได้หรือไม่
รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนหลอดไฟเป็นLED ขณะนี้สำนักการโยธาและเขตดำเนินการเปลี่ยนแล้ว 25,000 ดวง คงเหลืออีกกว่า 1,000 ดวง ซึ่งจะให้สำนักการโยธาและเขตส่งรายงานการเปลี่ยนโดยละเอียดให้ส.ก.ได้ทราบ
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กล่าวว่า ในส่วนของศาลาที่พักผู้โดยสารมีจำนวนทั้งสิ้น 2,247 หลัง สจส.ได้ทำสัญญากับเอกชน จำนวน 691 หลัง กทม.ดูแลเอง 1,556 หลัง โดยศาลาที่พักผู้โดยสารชั่วคราว ขณะนี้สจส.ได้ขอจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดทำศาลาที่พักถาวรแทนที่และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนก.ย. 66 นี้ สำหรับการปรับปรุงทางม้าลายที่มีสีซีดจาง แบ่งเป็น 6 กลุ่มโซน สจส.ได้ขอจัดสรรงบกลางไว้ดำเนินการแล้ว
ซึ่งทางล้าลายในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวนกว่า 2,800 แห่ง ลักษณะทางกายภาพโดยปกติเป็นสีขาวและสีแดงล้อมสีขาว นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ที่ช่วยเสริมความปลอดภัยเพิ่มเติม ได้แก่ สัญญาณ และไฟส่องสว่าง ในปีงบประมาณ 66 สจส.ได้ให้ความสำคัญและเตรียมงานปรับปรุงทางข้ามม้าลาย 4 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย การทาสีขาวที่ซีดจาง หรือการทาสีทางม้าลายใหม่ตามที่ประชาชนร้องขอ ดำเนินการแล้วกว่า 1,000 แห่ง ปี66 จะดำเนินการเพิ่ม 500 แห่ง การทาสีแดงล้อมสีขาว ดำเนินการแล้ว 885 แห่ง และจะดำเนินการเพิ่ม 210 แห่ง ล้างทำความสะอาดสีขาวและแดง ดำเนินการแล้ว 421 แห่ง และจะดำเนินการเพิ่มอีก 500 แห่ง การติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเพื่อเสริมความปลอดภัยให้กับทางข้ามเพื่อให้ได้มาตรฐาน อาทิ ทางข้ามที่มีสัญญาณไฟจราจรทางแยก ทางข้ามที่มีสัญญาณไฟจราจรทางข้ามถนนชนิดปุ่มกดและทางข้ามที่มีสัญญาณไฟกระพริบเตือนทางข้าม ดำเนินการแล้ว 1785 แห่ง และจะดำเนินการเพิ่มอีก 1,889 แห่ง ทั้งนี้ทุกกิจกรรมจะดำเนินการเพิ่มเติมต่อเนื่องถึงปี 2569 และสามารถติดตามความก้าวหน้าได้ทางเว็บไซต์ของสจส. ซึ่งเป็น Open DATA และเป็นไปตามแผนงานการปรับปรุงทางข้ามม้าลายที่กำหนดไว้
“ฝากกทม.เกี่ยวกับเรื่องของสีทางม้าลาย เมื่อทาไปสักระยะสีจะซีดจางซึ่งในสัญญาระบุให้ผู้รับจ้างดูแลด้วย จึงควรกวดขันให้ผู้รับจ้างได้ดูแลและกทม.กำหนดรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน และอาจเคลือบสีเพื่อให้สามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น” ส.ก.ปิยะวรรณ กล่าว
*ขอฝ่ายบริหารเร่งแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียเขตหนองจอก แหล่งเกษตรกรรมหลักของกทม.
นายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก ได้ยื่นกระทู้ถามสดแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำในลำคลองพื้นที่เขตหนองจอกเน่าเสียทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
“หนองจอกเป็นเขตใหญ่ ประชาชนส่วนใหญ่ทำการเกษตร มีการทำนากว่า 50,000 ไร่ ขณะนี้พบว่ามีน้ำที่เน่าเสียเกิดจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ปล่อยน้ำที่ไม่ได้บำบัดลงคลอง ปัญหาน้ำเน่าเสียสำหรับเกษตรกรเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จึงขอสอบถามแนวทางการแก้ไขของกทม. และขอสอบถามการควบคุมและบริหารจัดการฝายกั้นน้ำ STOP LOG เพื่อให้มีน้ำใช้ในพื้นที่ตลอดทั้งปี” นายณรงค์ กล่าว
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวว่า หมู่บ้านจัดสรรทุกแห่งต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียตามที่กฎหมายกำหนด และเขตฯพื้นที่ต้องสุ่มตรวจสอบ เพื่อบังคับและแก้ไขตามกฎหมายโดยจะมอบหมายเขตพื้นที่เข้าไปตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป สำหรับ STOP LOG พบว่าสามารถใช้งานได้ แต่ปัญหาขณะนี้คือไม่มีน้ำ กรมชลประทานได้แก้ปัญหาโดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อให้ระบบของน้ำหมุนเวียน แต่ยังไม่ครบทุกแห่ง ซึ่งสำนักการระบายน้ำจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำ โดยเป็นเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่แล้วให้ครบทุกแห่ง เพื่อดันน้ำเสียให้ออกจากพื้นที่และดึงน้ำดีเข้ามาเพื่อให้ประชาชนสามารถนำมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้กรุงเทพมหานครจะพิจารณาใช้แนวทางการยกแผ่นคอนกรีตเพื่อระบายน้ำซึ่งส.ก.เสนอในการดำเนินการ พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเพื่อร่วมใช้งานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
——