ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 : นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตยานนาวา ได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ… เพื่อใช้บังคับในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ จากสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศที่มาจากสารมลพิษที่ปล่อยออกจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัดหรือแบบสันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีการเผาไหม้ภายใน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลของประชาชนทั่วไปหรือรถโดยสารประจำทางที่ใช้ขนส่งประชาชนทั่วกรุงเทพมหานคร ส่งผลสืบเนื่องให้เกิดฝุ่นละอองและควันกระจายทั่วไปในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เป็นอันตรายแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก เพื่อควบคุมปริมาณมลพิษที่ออกจากรถยนต์ ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อประชาชน จึงเห็นควรมีมาตรการกำหนดให้รถโดยสารประจำทางปรับปรุงเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ไม่ส่งผลกระทบต่อมลภาวะทางอากาศ และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาทางเทคโนโลยีของรถยนต์ทั่วโลก บังคับใช้ในกรุงเทพมหานคร
“ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนเป็นจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุนี้ ซึ่งไม่ได้รับการดูแลอย่างเอาจริงเอาจังจากหน่วยงานภาครัฐ ประกอบกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นพรบ.ควบคุมมลพิษบังคับใช้มาแล้วหลายสิบปี สำหรับฝุ่นในกทม.เกิดจากยานพาหนะ 60% และ 90% ของไอเสียจากรถคือ ฝุ่นละออง PM 2.5 การปรับปรุงให้รถเมล์ดีขึ้น จะทำให้คนหันมาใช้เยอะขึ้น ใช้รถส่วนตัวน้อยลง ฝุ่นน้อยลง ปัญหาก็จะหายเป็นโดมิโน ทั้งนี้ปัญหาฝุ่นทุกคนรับเท่ากันหมด ไม่ว่าจะรวยหรือจน การออกข้อบัญญัติเป็นการปักหมุดจุดเริ่มต้นทำให้ทุกคนรู้ว่าอำนาจบริหารมาจาก ส.ก. 50 เขต เพื่อพัฒนากทม.แก้ปัญหาที่จุดเริ่มต้น ให้เปลี่ยนแปลงอย่างถาวร
ด้าน นายฉัตรชัย หมอดี ส.ก.เขตบางนา กล่าวว่า รถเมล์ไฟฟ้าจะทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ก่อให้เกิดการจ้างงานและการลงทุนที่มากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการเดินรถถูกลง
นายสราวุธ อนันต์ชล ส.ก.เขตพระโขนง กล่าวว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรังของกทม.ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ในกรุงเทพฯมีรถยนต์รวมจักรยานยนต์มากกว่า 10 ล้านคน ซึ่งอาจเกิดจากภาครัฐที่ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมคุณภาพรถหรือไม่ การออกข้อบัญญัตินี้อาจกำหนดระยะเวลาการใช้บังคับเพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวเพื่อลดความเดือดร้อน ซึ่งกทม.เป็นเมืองใหญ่ควรที่จะต้องมีกฎหมายควบคุมของตัวเองเพื่อคืนอากาศสดชื่นให้ประชาชนและภาคเอกชนมีหลักในการประกอบธุรกิจ
นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ กล่าวว่า ข้อบัญญัติฉบับนี้จะ เป็นข้อบัญญัติที่จะส่งผลต่อลูกหลาน 20-30 ปี การรับหลักการจะทำให้เรามีอากาศสะอาดในอีก 7 ปี และคืนอากาศสะอาดให้ประชาชนกว่า 10 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีส.ก.ที่ร่วมอภิปรายเห็นด้วยกับญัตตินี้อีกหลายท่าน ประกอบด้วย นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท
ทั้งนี้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ลงมติเห็นชอบรับหลักการแห่งข้อบัญญัติและให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. … จำนวน 17 ท่าน กำหนดเวลาแปรญัตติภายใน 7 วัน และพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 60 วัน
——-