เขตคลองสามวาแก้ปัญหาเผาป่าในซอยคู้บอน 38 รณรงค์ขอความร่วมมือห้ามเผาทุกกรณี
นายพันธ์ศักดิ์ เจริญสุข ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา กทม.กล่าวกรณีผู้พักอาศัยในหมู่บ้านแลนซีโอ นอฟ ซอยคู้บอน 38 เขตคลองสามวา ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากการจุดไฟเผาป่าบริเวณพื้นที่สวนฝั่งตรงข้ามคลอง ด้านหลังหมู่บ้านว่า จากการตรวจสอบพื้นที่ที่มีการจุดไฟเผาป่าอยู่ในพื้นที่เขตคันนายาว ฝ่ายเทศกิจ เขตคลองสามวา จึงได้ประสานฝ่ายเทศกิจ เขตคันนายาว ลงพื้นที่ตรวจสอบ กวดขัน พร้อมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ห้ามเผาในบริเวณดังกล่าวอย่างเด็ดขาด หากมีการเผาเกิดขึ้นในจุดดังกล่าวอีกจะดำเนินการตามกฎหมายทันที โดยแนวทางการดำเนินการทางกฎหมาย ภายใต้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เทศกิจ จะลงตรวจสอบพื้นที่ที่มีการเผา อันสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนในบริเวณรอบข้างและได้รับผลกระทบจากการเผา เบื้องต้นจะว่ากล่าวตักเตือน พร้อมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือห้ามเผาในทุก ๆ กรณี หากยังมีการเผาอีกครั้ง จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ เพื่อจับกุมและดำเนินคดีต่อไป
ทั้งนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการเผาในทุก ๆ กรณี สามารถแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue (https://liff.line.me/1645278921-kWRPP32q/?accountId=traffyfondue) หรือหากพบเหตุไฟไหม้หญ้า สามารถแจ้งเหตุทางโทรศัพท์สายด่วน 199
กทม.เดินหน้าจับมือภาคีเครือข่ายปลูกป่าชายเลนบางขุนเทียน พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 233 ไร่
นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กทม.กล่าวกรณีนักวิชาการระบุการปลูกป่าชายเลนยังไม่มากพอที่จะทำหน้าที่ชะลอความแรงของคลื่นและเพิ่มการตกตะกอนจนนำไปสู่การเกิดแผ่นดินงอกใหม่ว่า จากผลการดำเนินงานปลูกป่าชายเลนบางขุนเทียน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 – 2566 จากการปักแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่นบริเวณหน้าทะเล ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนได้ 233 ไร่ และเกิดดินตะกอนสะสมหลังแนวไม้ไผ่เพิ่มขึ้นประมาณ 80 – 120 เซนติเมตร (ซม.) ทับถมแนวสะพานไม้ไผ่ในแปลงปลูกจากที่เดิมสูงจากพื้นดิน 50 ซม.ต้องเพิ่มความสูงของสะพานไม้ไผ่เป็น 150 ซม. ต้นโกงกางที่ปลูกในแปลงที่ 1, 2, 5 และ 6 มีความเจริญเติบโตได้ดี มีอัตราการรอดร้อยละ 90 เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน เพิ่มอัตราการรอดของต้นกล้าโกงกางในแปลงปลูกที่ 3, 4, 7 และ 8 ซึ่งเป็นแปลงประสบปัญหาต้นกล้าเสียหายจากความแรงของคลื่นทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 โดยปรับรูปแบบการปลูกเป็นการปลูกในท่อซีเมนต์ เพื่อช่วยยกระดับต้นกล้าไม่ให้จมน้ำเป็นเวลานาน เลียนแบบการปลูกตามธรรมชาติและใช้ท่อซีเมนต์ช่วยชะลอคลื่นแทนแนวไม้ไผ่ที่มีอายุการใช้งานระยะสั้น
สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการกัดเซาะ สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ดูแลต้นโกงกางในแปลงปลูกที่ 1 – 8 ให้มีความเจริญเติบโต เช่น การเปลี่ยนไม้หลักที่ชำรุด การเติมดินเลนในท่อซีเมนต์ การเพาะพันธุ์ต้นกล้า เพื่อปลูกเพิ่มและทดแทนต้นที่เสียหาย เป็นต้น ขณะเดียวกันได้ประสานหน่วยงานภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ทั้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นิคมสหกรณ์บ้านไร่ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งสร้างศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลนบางขุนเทียน เพื่อใช้เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยรูปแบบเป็นการทำแนวทางเดินสะพานไม้ไผ่ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อให้สามารถสัมผัสกับระบบนิเวศน์ป่าชายเลนบางขุนเทียนอย่างใกล้ชิดให้ผู้มาเยี่ยมชมเกิดความตระหนักถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง หากไม่ได้รับความร่วมมือในการแก้ไขจะส่ง ผลกระทบกับประชาชนต่อไปในอนาคต