ศูนย์เอราวัณ กทม.พร้อมร่วมมือเครือข่ายในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม.พัฒนาการปฏิบัติงานร่วมกันในพื้นที่
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงแนวทางการพิจารณาแก้ไขปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญูและมูลนิธิเพชรเกษม กรุงเทพฯ เนื่องจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ทับซ้อนว่า ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ เป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ ซึ่งเป็นเครือข่ายในระบบการแพทย์ฉุกเฉินในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ รวมทั้งบริการรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมทีมกู้ชีพในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือและลำเลียงผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม ผ่านทางศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน สายด่วน 1669 ทั้งนี้ ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ พร้อมบูรณาการความร่วมมือเครือข่ายในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินระดับพื้นฐาน 8 มูลนิธิในระบบฯ ประกอบด้วย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิอาสาหนองจอก (ศูนย์ราชพฤกษ์) มูลนิธิหงส์แดง มูลนิธิกูบแดง มูลนิธิจีเต็กลิ้ม ฮู้ก๊กตึ๊ง (พิรุณ) มูลนิธิสยามรวมใจ และมูลนิธิกู้ภัยร่มไทร เพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานร่วมกันในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีข้อตกลงร่วมกัน ประกอบด้วย (1) การแบ่งพื้นที่ของมูลนิธิที่ตกลงร่วมกัน เพื่อทำงานในระบบฯ ตามมติคณะกรรมการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินระดับพื้นฐานของกรุงเทพมหานคร (2) ศูนย์เอราวัณ เป็นผู้ประเมินประสานสั่งการตามการร้องขอรถพยาบาลที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ พร้อมประสานมูลนิธิเจ้าของพื้นที่และประสานโรงพยาบาลปลายทางให้เตรียมพร้อมรับผู้ป่วย และ (3) ศูนย์เอราวัณ มีหน้าที่ควบคุมมาตรฐานการให้บริการและตรวจประเมินคุณภาพการบริการของผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร
นอกจากนั้น สถานพยาบาลสังกัด กทม.ยังมีแนวทางการให้บริการ เพื่อรองรับประชาชนให้สามารถเข้าถึงบริการในสถานพยาบาลสังกัด กทม.ได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และลดความแออัด โดยมีบริการต่าง ๆ เช่น การพบแพทย์หน้าจอ การบริการรักษาทางไกลผ่านระบบ Telemedicine พัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” ที่สามารถพบแพทย์ผ่าน video conference ได้ โดยทำงานร่วมกับระบบการรักษาพยาบาลปกตินัดหมาย จองคิว ชำระค่าบริการ เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน และเปิดให้บริการ “สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กทม.โทร.1646” ให้บริการคำปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตลอด 24 ชั่วโมง
กทม.คุมเข้มย้ายคนต่างด้าวเข้าทะเบียนบ้าน
นางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางรัก กทม.กล่าวกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจขยายผลเครือข่ายทุนจีนสีเทา ผลการสอบสวนพบการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่เขตบางรักว่า เจ้าหน้าที่เขตบางรักที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวได้เข้าให้ปากคำกับสถานีตำรวจนครบาล (สน.) บางรัก เมื่อวันที่ 7 เม.ย.66 โดยชี้แจงถึงขั้นตอนการดำเนินการทางทะเบียนของบุคคลสัญชาติจีนที่ขอเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้าน (ท.ร.13) ซึ่งมีนางสาวนวพร ภาเกียรติสกุล เป็นผู้พามาติดต่อและเป็นการเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 ข้อ 106 ระบุว่า “ผู้ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามกฎกระทรวง ซึ่งออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 ขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.13) ให้ยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ที่กำหนดต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องให้ดำเนินการ ดังนี้ (1) สอบสวนผู้ร้องให้ทราบถึงเหตุผลความจําเป็นที่ขอเพิ่มชื่อและเรียกหลักฐาน แสดงตัวบุคคลของหน่วยงานที่ควบคุม หรือหลักฐานที่รัฐบาลประเทศนั้น ๆ ออกให้ประกอบการพิจารณา (2) ให้นายทะเบียนเพิ่มชื่อลงในทะเบียนบ้านและสําเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน พร้อมทั้งหมายเหตุในช่องย้ายเข้ามาจากว่า “คําร้องที่… ลงวันที่…” แล้วให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกํากับไว้ (3) กําหนดเลขประจําตัวประชาชนให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ตามแบบพิมพ์ที่กําหนดให้ ข้อ 134 (23) และ (4) รายงานตามระเบียบที่กําหนดในข้อ 132 (6)
สำหรับเอกสารและหลักฐานประกอบการดำเนินการเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้าน (ท.ร.13) ของนายหมิงชุน หม่า ประกอบด้วย หนังสือเดินทางสาธารณรัฐประชาชนจีน บุคคลสัญชาติจีน ซึ่งภายหลังทราบว่า เป็นการปลอมแปลงการลงตราวีซ่า สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านเลขที่ 491/13 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ โดยมีนางสาวนวพร เป็นเจ้าบ้าน มาแสดงตนยินยอมให้ย้ายเข้า พร้อมด้วยพยานบุคคล 2 ราย ได้แก่ เจ้าบ้านและลูกจ้างของนางสาวนวพร ซึ่งรู้จักกับผู้ขอเพิ่มชื่อ ขณะเดียวกันได้สอบปากคำบุคคลที่เกี่ยวข้องข้างต้น เพื่อทราบถึงเหตุผลความจำเป็นที่ขอเพิ่มชื่อ ประกอบการพิจารณาดำเนินการ
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้เน้นย้ำและมอบนโยบายการปฏิบัติหน้าที่ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นประจำในการปฏิบัติหน้าที่ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภารกิจความรับผิดชอบ โดยให้ทุกคนยึดถือปฏิบัติให้ถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หรือหนังสือสั่งการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หากตรวจพบว่า เจ้าหน้าที่รายใดดำเนินการส่อไปในทางทุจริต สำนักงานเขตฯ มีมาตรการเบื้องต้นสำหรับป้องกัน ดังนี้ (1) ให้เจ้าหน้าที่ที่มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตหยุดปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบก่อน และให้ไปปฏิบัติหน้าที่อื่นจนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดขึ้นอีก (2) มอบหมาย หรือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริง กรณีการทุจริตที่เกิดขึ้น หากพบว่าเจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตไม่ว่าในขั้นตอนใด จะดำเนินการตามระเบียบ อำนาจหน้าที่ทั้งทางด้านทะเบียน วินัย และอาญา (3) จัดประชุมเจ้าหน้าที่ เพื่อแจ้งระเบียบ วิธีการ ขั้นตอน รวมถึงร่วมกันหาสาเหตุ แนวทาง และวิธีการป้องกัน และแจ้งให้ทราบถึงมาตรการการลงโทษ หากใช้ตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ และ (4) การดำเนินการทางทะเบียน มีแนวทางป้องกันทางทุจริตตามระเบียบและหนังสือสั่งการของสำนักทะเบียนกลาง ซึ่งกำหนดให้รายงานการปฏิบัติหน้าที่ให้ผู้บังคับบัญชาทราบเป็นประจำทุกวัน ส่วนการเพิ่มชื่อบุคคลเข้าทะเบียนบ้าน จะต้องรายงานผลให้ผู้อำนวยการเขตทราบทุกวันที่ 15 และสิ้นเดือน
นายสุพจน์ หล้าจำศิล ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน (สปท.) กทม.กล่าวว่า สปท.ได้ประสานส่วนป้องกันและปราบปรามการทุจริตการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อตรวจสอบข้อมูลกับกรมการปกครอง และสำนักทะเบียนกลาง มีหนังสือ ลงวันที่ 12 เม.ย.66 ขอให้สำนักทะเบียนกรุงเทพมหานครแจ้งสำนักทะเบียนท้องถิ่นดำเนินการ ดังนี้ (1) สำนักงานเขตบางรัก ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.13) ของนายหมิงซุน หม่า และบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย จำนวน 23 ราย ที่มีชื่ออยู่เลขที่ 491/13 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก ว่าเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร และ (2) สำนักงานเขตปทุมวัน ตรวจสอบการเพิ่มชื่อของนางสาวนวพรว่า เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร หากพบว่า เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายให้ปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 12 ก.พ.57 อย่างเคร่งครัด หากพบว่า มีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่า น่าจะมีการกระทำทุจริตทางทะเบียนเป็นจำนวนมาก ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงขยายผลและแจ้งผลให้สำนักทะเบียนกลางทราบ ขณะเดียวกัน สปท.ได้กำชับและเน้นย้ำแนวทางการปฏิบัติของฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขต ให้ถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการทุจริตทางทะเบียน ตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทยอย่างเคร่งครัดต่อไป
เขตพระนครกวดขันดูแลรักษาความสะอาดรอบพระบรมมหาราชวัง-สนามหลวงไม่ให้มีขยะตกค้าง
นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพและข้อความระบุบริเวณรอบพระบรมมหาราชวังและสนามหลวงมีขยะตกค้างว่า สำนักงานเขตพระนคร ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะตรวจสอบ พร้อมทั้งจัดเก็บขยะที่ตกค้างและทำความสะอาดบริเวณดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่ให้ดูแลความสะอาดพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้มีขยะตกค้าง ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง