กทม.เดินหน้ามาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังโควิด 19 แนะรับวัคซีนโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุก เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในกรุงเทพฯ ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในกรุงเทพฯ ช่วงเดือน ต.ค.65 ประจำสัปดาห์ที่ 44 ระหว่างวันที่ 30 ต.ค. – 5 พ.ย.65 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รักษาตัวในโรงพยาบาล (รพ.) เฉลี่ย 87 คน/วัน ผู้ป่วยสะสมประจำสัปดาห์ที่ 44 จำนวน 5,988 คน เฉลี่ย 855 คน/วัน ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 8 คน เฉลี่ย 1 คน/วัน ซึ่งแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในกรุงเทพฯ ในช่วงหลังปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อย ผู้ติดเชื้ออาการไม่หนัก มีอัตราการนอน รพ.ร้อยละ 10 และมีอัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.15 อย่างไรก็ตาม กทม.ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ในประชาชนทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันได้มีมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งในชุมชน ตลาด สถานบันเทิง สถานดูแลผู้สูงอายุและใน รพ.รวมทั้งรณรงค์กระตุ้นเตือนประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด และเว้นระยะห่าง เพื่อลดโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อโควิด 19 และการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว ตลอดจนเน้นย้ำ ให้ประชาชนที่มีอายุ 6 ปี ขึ้นไป เข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ทุกคน อย่างน้อย 3 เข็ม ตามด้วยเข็มกระตุ้นเพิ่มอีก 1 เข็ม 4 เดือน หลังเข็มสุดท้าย เพื่อลดความรุนแรงของโรคและลดการเสียชีวิต
สำหรับความคืบหน้าการให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่ กทม.ยังเน้นย้ำให้ประชาชนเข้ารับบริการฉีดวัคซีนทั้งสองชนิดในสถานพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด 19 และไข้หวัดใหญ่ ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรค โดยให้บริการวัคซีนวัคซีนป้องกันโควิด 19 ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.64 – 7 พ.ย.65 เข็มที่ 1 จำนวน 10,022,956 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 9,332,934 โดส เข็มที่ 3 จำนวน 5,925,977 โดส และเข็มที่ 4 จำนวน 2,339,123 โดส ส่วนการฉีดไข้หวัดใหญ่ในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ระหว่างวันที่ 1 พ.ค. – 30 ส.ค.65 มีผลการฉีด 103,831 ราย
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. รักษาการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า สำนักการแพทย์ ได้กำหนดแนวทางดำเนินงานภายหลังประกาศให้โรคโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในวันที่ 1 ต.ค.65 ประกอบด้วย (1) ปิดโรงพยาบาล (รพ.) สนามเอราวัณ (2) ให้ รพ.ทุกแห่ง เปิด 1 แผนก (ward) สำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด 19 (กรณีที่มาด้วยโรคอื่นแล้วตรวจพบเชื้อโควิด 19 (3) ผู้ป่วยสีเขียวให้เข้าโครงการเจอ แจก จบ โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาใน รพ. (4) รพ.ราชพิพัฒน์ รับผู้ป่วยกรณีส่งต่อจาก รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ และ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน (5) รพ.สิรินธร รับผู้ป่วยกรณีส่งต่อจาก รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร และ รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ (6) ผู้ป่วยสีแดงส่งไปที่ รพ.กลาง รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ และ รพ.สิรินธร และ (7) การเบิกจ่ายให้เบิกจ่ายกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รักษาฟรีตามสิทธิทั้ง 3 กลุ่ม คือ บัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ โดยผู้ติดเชื้อสามารถรับบริการทางการแพทย์ในการรักษาโรคโควิด 19 ผ่านระบบออนไลน์ หรือ Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” กรณีที่ผู้ติดเชื้ออาการทรุดอย่างรวดเร็ว (อาการฉุกเฉินวิกฤตสีแดง) สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐ หรือเอกชนตามสิทธิ UCEP Plus จนกว่าจะหายป่วย (ซึ่งแตกต่างจาก UCEP ทั่วไปที่รักษาได้ 72 ชั่วโมง จากนั้นต้องส่งไปรักษาตามสิทธิ) ส่วนแรงงานต่างด้าว หากมีประกันสุขภาพสามารถใช้ประกันในการรักษาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันได้เฝ้าระวังประชาชนกลุ่มเสี่ยง 608 และเตรียมความพร้อมด้านเตียงรองรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงใน รพ.รวมทั้งมียาต้านไวรัส ได้แก่ Favipiravir Molnupiravir และ Remdesivir ซึ่งปัจจุบัน กทม.มีเตียงและยาต้านไวรัสเพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ
ส่วนการฉีดวัคซีนวัคซีนโควิด 19 ประชาชนยังสามารถรับบริการฉีดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.กำหนด โดยกลุ่มเฉพาะกลุ่ม 608 ควรฉีดเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถฉีดเข็มกระตุ้นได้ทุก 4 – 6 เดือน ตามความสมัครใจ นอกจากนั้น สำนักการแพทย์ ยังได้เปิดให้บริการคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ใน 11 รพ.สังกัด กทม.ให้บริการวัคซีนโควิด 19 วัคซีนไข้หวัดใหญ่ คอตีบ บาดทะยัก หัด และวัคซีนที่จำเป็นอื่น ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยไม่ต้องเว้นระยะห่าง แต่หากมีโรคประจำตัว หรือมีประวัติการแพ้วัคซีนแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนการเข้ารับบริการ สามารถดูรายละเอียดการให้บริการคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ได้ที่ https://shorturl.asia/Qs5EL
กทม.พร้อมสนับสนุนค่าอาหารนักเรียนโรงเรียนในสังกัดเพิ่มเติม ติดตามตรวจสอบคุณภาพอาหารผ่าน Thai School Lunch for BMA
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวถึงการสนับสนุนค่าอาหารสำหรับเด็กนักเรียนโรงเรียน (รร.) สังกัด กทม.ทุกระดับชั้น ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารกลางวันของนักเรียน ตั้งแต่ระดับชั้นเด็กเล็ก-ประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6) ของสถานศึกษาทุกสังกัดว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษา ได้จัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวันให้นักเรียนใน รร.สังกัด กทม.ปีการศึกษา 2565 จำนวน 437 โรงเรียน คนละ 25 บาท จำนวน 200 วัน ดังนี้ (1) งบเงินอุดหนุนรัฐบาล จัดสรรให้นักเรียนระดับอนุบาล – ป.6 คนละ 21 บาท จำนวน 200 วัน (2) งบ กทม.จัดสรรให้นักเรียนระดับอนุบาล – ป.6 สมทบงบเงินอุดหนุนรัฐบาล คนละ 4 บาท จำนวน 200 วัน และจัดสรรให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 คนละ 25 บาท จำนวน 200 วัน ส่วนปีงบประมาณ 2566 กทม.ได้จัดสรรงบประมาณให้ รร.ในสังกัด กทม. ตามงบประมาณที่ได้รับและพิจารณาโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณเหลือจ่ายมาจัดสรรเพิ่มเติมค่าอาหารกลางวันในส่วนที่ไม่เพียงพอ หรือขอจัดสรรงบประมาณต่อสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ กทม.ยังมีมาตรการกำกับ ดูแล ติดตาม และควบคุมตรวจสอบคุณภาพอาหารเช้าและอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน รร.ในสังกัด โดยใช้ระบบ Thai School Lunch for BMA จัดเมนูอาหารเช้า – กลางวัน และติดตามผล ขณะเดียวกันศึกษานิเทศก์ที่ออกตรวจเยี่ยม ควบคุม กำกับโรงเรียน ได้ถ่ายภาพอาหารและเมนูอาหารในวันที่เข้าตรวจส่งกองคลัง เพื่อตรวจสอบเมนูอาหารในระบบ Thai School Lunch for BMA เป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งจัดประกวดโครงการโรงเรียนต้นแบบอาหารนักเรียน กทม. ซึ่งมีโรงเรียนที่ชนะการประกวดเป็นโรงเรียนต้นแบบอาหารนักเรียน กทม.ประเภทละ 4 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนขนาดเล็ก คือ โรงเรียนวัดพระพิเรนทร์ เขตป้อมปราบฯ โรงเรียนวัดศรีสุก (แย้มเยื้อนอุปถัมภ์) เขตคลองสามวา โรงเรียนออเงิน (อ่อน-เหม-อนุสรณ์) เขตสายไหม โรงเรียนมัชฌันติการาม เขตบางซื่อ ส่วนโรงเรียนขนาดกลาง คือ โรงเรียนสุเหร่าสามวา (ซุน เวทย์สฤษฎ์อุทิศ) เขตคลองสามวา โรงเรียนวัดบางพลัด (ป.สุวณโณ) เขตบางพลัด โรงเรียนวัดบางโพโอมาวาส เขตบางซื่อ และโรงเรียนวัดประชาบำรุง เขตบางขุนเทียน และโรงเรียนขนาดใหญ่ คือ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน โรงเรียนคลองปักหลัก เขตประเวศ โรงเรียนประชาราษฎร์อุปถัมภ์วิทยา เขตคลองสามวาและโรงเรียนมัธยมวัดสุทธาราม เขตคลองสาน เพื่อเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนในสังกัด กทม.ต่อไป