กทม.พัฒนาต้นแบบจัดการขยะ ส่งเสริมคัดแยกจากแหล่งกำเนิด
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยของ กทม.โดยเฉพาะการลดปริมาณขยะและการคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทางและการจัดการขยะปลายทางว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม มีนโยบายและแผนที่มุ่งเน้นการจัดการขยะตามหลักการ 3R โดยส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า มุ่งเน้นการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทาง โดยประชาชน รวมถึงทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจัดการขยะ มีการแยกขยะก่อนทิ้งให้กับรถเก็บขยะ ซึ่งได้พัฒนาต้นแบบการจัดการขยะตามประเภทแหล่งกำเนิด เช่น ชุมชน สถานศึกษา อาคาร งานกิจกรรม หรือเทศกาล วัดและศาสนสถาน และตลาด รวมถึงมีมาตรการส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป อาสาเข้ามามีส่วนร่วมลดและคัดแยกขยะด้วยการลด ละ เลิกการใช้พลาสติก หรือบรรจุภัณฑ์ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง คัดแยกขยะก่อนทิ้ง ประกอบด้วย วัสดุรีไซเคิลแยกขาย หรือบริจาค แยกขยะเศษอาหารแล้วนำมาทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ หรือส่งให้ กทม.รวบรวมนำไปทำปุ๋ยหมัก เพื่อลดปริมาณขยะเศษอาหารปนเปื้อนไปกับขยะที่ต้องกำจัดและปัญหากลิ่นน้ำชะขยะ
ขณะเดียวกัน กทม.ได้เปิดแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ให้ประชาชนที่มีขยะเศษอาหารปริมาณมากลงทะเบียนแยกขยะเศษอาหาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตได้ทราบและวางแผนเข้าจัดเก็บโดยตรงแก่ผู้ที่ลงทะเบียนไว้ รวมทั้งตั้งจุดทิ้งขยะแยกประเภท (drop off point) สำหรับให้ประชาชนทิ้งขยะแยกประเภทครอบคลุมทั้ง 50 เขต รวมถึงอาคารศาลาว่าการ กทม.ทั้ง 2 แห่ง รวม 52 แห่ง โดยขวดพลาสติก PET จะรวบรวมนำไปผลิตชุดสะท้อนแสงตามมาตรฐานสากลสำหรับพนักงานกวาดสวมใส่ขณะปฏิบัติงาน เป้าหมาย 1,180 ชุด นอกจากนั้น กทม.ยังได้พัฒนาระบบกำจัดขยะที่มุ่งเน้นการแปรรูปขยะ นำไปใช้ประโยชน์เป็นพลังงาน หรือสารบำรุงดิน ประกอบด้วย โรงงานกำจัดขยะด้วยการเผาผลิตกระแสไฟฟ้าที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ระบบการหมักแปรรูปเป็นสารบำรุงดินที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ระบบชีวภาพเชิงกล (MBT) ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ระบบขนย้ายจากศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหมไปแปรรูปเป็นสารบำรุงดินในพื้นที่เอกชน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเพิ่มเติมอีก ประกอบด้วย โรงงานกำจัดมูลฝอยด้วยการเผาที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม และระบบชีวภาพเชิงกล (MBT) ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ซึ่งจะทำให้เพิ่มศักยภาพการเปลี่ยนขยะสดเป็นประโยชน์ได้ และระบบขนย้ายจากศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมไปแปรรูปเป็นสารบำรุงดิน โดยจะต้องกำกับควบคุมการบริหารจัดการให้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาจ้างเอกชนดำเนินการกำจัดขยะสัญญาต่าง ๆ ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และขยะส่วนที่เหลือนำไปกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ร้อยละ 100 แสดงถึงขีดความสามารถของ กทม.ในการกำจัดขยะโดยการหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น และกำจัดส่วนที่เหลืออย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ พ.ศ.2565-2570
สำหรับการนำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะ พ.ศ.2565 – 2570 ไปสู่การปฏิบัติ กทม.มุ่งเน้นการลดและคัดแยกขยะใช้ประโยชน์ที่แหล่งกำเนิด โดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเก็บรวบรวมขยะแยกประเภท โดยเฉพาะขยะเศษอาหารและกำจัดขยะที่จัดเก็บได้ด้วยเทคโนโลยีการแปรรูปขยะไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบของพลังงานและสารบำรุงดิน ซึ่งจะกำหนดโครงการและกิจกรรมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะ พ.ศ.2565 – 2570 ในแผนพัฒนา กทม.และแผนปฏิบัติราชการ กทม.ต่อไป
กทม.เตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกดูแลความปลอดภัยระหว่างจัดประชุม APEC 2022
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการความปลอดภัยระหว่างการจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักเทศกิจ ได้จัดทำแผนรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจร จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจในสังกัด รวมทั้งเตรียมยานพาหนะ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก เพื่อดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่โดยรอบบริเวณสถานที่จัดการประชุม สถานที่พำนักของผู้นำทุกชาติที่เข้าร่วมประชุม และสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดูแลความเรียบร้อยในเส้นทางจากสถานที่พำนักไปยังสถานที่จัดการประชุมทุกวันตลอดการประชุม APEC นอกจากนั้น ยังได้จัดประชุมชี้แจงซักซ้อมการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม.เพื่อช่วยเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและดูแลความปลอดภัยพื้นที่จัดการประชุม APEC ตลอดจนกำชับเน้นย้ำมาตรการด้านความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะแนวทางการให้ความรู้การสังเกตวัตถุ หรือสิ่งของที่เข้าข่ายต้องสงสัยว่าเป็นวัตถุอันตราย หรืออาจมีความไม่ปลอดภัย เพื่อประสานแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดทำแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในช่วงการจัดประชุม APEC และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ปี 2565 ตามที่คณะกรรมการเตรียมการด้านอำนวยความสะดวก การรักษาความปลอดภัยและการจราจร สำหรับเตรียมความพร้อมรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ปี 2565 มอบหมาย เพื่อเป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานให้ทุกส่วนราชการในสังกัด โดยจัดกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยพร้อมรถดับเพลิง รถไฟฟ้าส่องสว่าง รถอุปกรณ์พิเศษ ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการดับเพลิงและกู้ภัยประจำจุดเฝ้าระวังความปลอดภัยร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาทิ สถานที่จัดการประชุม สถานที่พักของผู้นำเขตเศรษฐกิจ สถานที่จัดงานเลี้ยง และสถานที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่กู้ภัยทางน้ำ พร้อมเรือดับเพลิง เสื้อชูชีพ ห่วงช่วยชีวิต และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ เพื่อปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยทางน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ อาทิ กรมเจ้าท่า กองเรือลำน้ำ (กองทัพเรือ) กองบังคับการตำรวจน้ำ รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้และเหตุสาธารณภัยประจำกองอำนวยการร่วม/ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า (ศปก.ส่วนหน้า) หรือที่ทำการส่วนหน้า (ทก.ส่วนหน้า) พร้อมซักซ้อมการปฏิบัติเสมือนจริงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการซักซ้อมแผนการดับเพลิงและระงับเหตุสาธารณภัยต่าง ๆ ตามมาตรการดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้นำชาติต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุม APEC และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ
กทม.เข้มมาตรการเฝ้าระวัง – ควบคุมการแพร่ระบาดโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) โรคไข้เลือดออก ไข้ไวรัสซิกา และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต และอาสาสมัครสาธารณสุข กทม.ร่วมกันดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อนำโดยยุงลาย โดยให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์โรคติดต่อนำโดยยุงลาย พร้อมเฝ้าระวังค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในชุมชนและพื้นที่ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง รวมถึงสื่อสารให้ความรู้ประชาชนในอาการสำคัญของโรค ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และไข้ไวรัสซิก้า หากมีไข้เกิน 2 วัน ควรไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาล รวมทั้งให้ความรู้วิธีการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลายกับประชาชน โดยรณรงค์กำจัดยุงลายด้วยมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่ง เพื่อไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะ เศษภาชนะ ที่อาจจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และเก็บน้ำ โดยเก็บน้ำให้มิดชิด ปิดฝาภาชนะ ภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ให้ปล่อยน้ำทิ้งไป เปลี่ยนน้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ หรือปล่อยปลาหางนกยูง เพื่อกินลูกน้ำยุงลาย รวมทั้งใส่สารเคมี เพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลายในน้ำ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชนและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ได้แก่ โรงเรือน โรงธรรม โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม โรงงาน และสถานที่ราชการอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ รวมถึงจัดกิจกรรมรณรงค์ตามกิจกรรมจิตอาสา รณรงค์วันไข้เลือดออกอาเซียน รณรงค์สัปดาห์ Big Cleaning และรณรงค์ตามวันสำคัญต่าง ๆ โดยใช้การมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายอีกด้วย
ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยในพื้นที่เขตจะเตรียมความพร้อมของทีมควบคุมโรค ได้แก่ บุคลากร เครื่องมือ และสารเคมีให้เพียงพอและพร้อมใช้งาน ควบคุมโรคเมื่อพบผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ตามมาตรการที่กำหนดและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 28 วัน เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (EOC) กรณีโรคติดต่อนำโดยยุงลายในพื้นที่เมื่อเข้าเกณฑ์ เพื่อติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมทั้งจัดสรรทรัพยากร กำลังคนในการควบคุมการระบาด แจ้งเตือนสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อนำโดยยุงลายในชุมชน พร้อมให้คำแนะนำวิธีการป้องกันยุงกัด เช่น ใช้สเปรย์กระป๋องฉีดพ่นยุงตัวเต็มวัย ใช้ยาจุดกันยุง ทาโลชั่นกันยุง รวมถึงให้ความรู้วิธีปฏิบัติเมื่อสงสัยว่าป่วยเป็นโรคติดต่อนำโดยยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชน
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. รักษาการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า สำนักการแพทย์ ได้ตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อแยกประเภทของกลุ่มโรคตามอาการและเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ด้วยการตรวจค้นพบโรคและวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว ตามแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม. เพื่อลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ตลอดจนกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายใน รพ.และชุมชนโดยรอบ ให้ความรู้เรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย รวมถึงการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัดและอาการป่วยที่ต้องพบแพทย์ให้ผู้ที่มารับบริการใน รพ.และชุมชนรอบ รพ. สื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพให้ประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มความตระหนักด้านสุขภาพ วินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออก รับส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. สำนักอนามัย หากมีอาการไข้สูงเกือบตลอดเวลา 2 – 7 วัน และมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรือมีผื่น หรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง
นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกป้องกันโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยให้ทุก รพ.ในสังกัด สำรวจตรวจสอบจุดที่มีน้ำขังและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายใน รพ.และบริเวณโดยรอบ รพ. พร้อมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคที่เกิดจากยุงลาย วิธีการป้องกัน และวิธีการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายแก่ประชาชนผู้รับบริการและบุคลากรในสังกัด ประสานสำนักงานเขตพื้นที่ให้บริการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงบริเวณพื้นที่โดยรอบ รพ. และแนะนำประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ 5 ป. เพื่อป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ได้แก่ (1) ปิดฝาภาชนะให้สนิท (2) ปล่อยปลากินลูกน้ำ (3) เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ (4) ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ (5) ปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย รวมถึงสื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด เช่น ใช้สเปรย์กระป๋องฉีดพ่นยุงตัวเต็มวัย ใช้ยาจุดกันยุง ทาโลชั่นกันยุง รวมทั้งสังเกตอาการสำคัญที่ต้องพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงหากป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน หากคนในครอบครัวมีอาการไข้สูงให้หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง หากจำเป็นให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟิแนก เนื่องจากยากลุ่มดังกล่าวอาจส่งผลทำให้เลือดออกมากขึ้น
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวว่า สำนักการศึกษา ได้เฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยประสานสำนักงานเขตพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และจัดกิจกรรม Big Cleaning Day ในโรงเรียนสังกัด กทม. 437 โรงเรียน พร้อมกำชับให้โรงเรียนป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ด้วยการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในสถานศึกษาก่อนที่จะเปิดใช้อาคารเรียน รวมถึงพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะที่พักในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อลดความหนาแน่นของยุงพาหะนำโรค และติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อนำโดยยุงลายอื่น โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์โรคติดต่อนำโดยยุงลายผ่านเว็บไซต์สำนักอนามัย www.bangkok.go.th/health หากพบผู้ป่วยให้รายงานเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังโรคและควบคุมโรคทันที และสื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชน ได้แก่ การจัดการสิ่งแวดล้อมและการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในบ้านตนเอง วิธีการป้องกันยุงกัด อาการที่ควรไปพบแพทย์ และวิธีการดูแลตนเองเมื่อสงสัยป่วยเป็นโรคติดต่อนำโดยยุงลาย