กำชับครู-บุคลากรทางการศึกษา รร.ในสังกัด กทม.ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ ป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวถึงแนวทางการป้องกันเหตุล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน (รร.) สังกัด กทม.ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษา ได้กำชับเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติของครูและบุคลากรทางการศึกษาใน รร.สังกัด กทม.ให้ประพฤติและปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อเป็นต้นแบบครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ดีตามมาตรฐานวิชาชีพ หากพบพฤติกรรมของครูและบุคลากรใน รร.สังกัด กทม.ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศ การใช้สื่อลามกอนาจาร จะดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองและทำให้ รร.ในสังกัด กทม.ทุกแห่ง เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กนักเรียนทุกคนอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำให้ครูประพฤติและปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยมีหนังสือแจ้งผู้อำนวยการเขต เพื่อกำชับให้ข้าราชการครูในสังกัดปฏิบัติตามมาตรการ อาทิ การกำหนดแนวทางควบคุมการใช้สื่อโซเชียลระหว่างข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากับเด็กนักเรียน และมาตรการป้องกันดูแลความปลอดภัยของนักเรียน รร.สังกัด กทม.หากมีกรณีนักเรียนถูกล่วงละเมิด หรือคุกคามทางเพศ หรือการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ถือเป็นความบกพร่องของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้หัวหน้าหน่วยงานพิจารณาดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทราบทันที
นอกจากนั้น สำนักการศึกษา ได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดหลักสูตรเนื้อหาเพื่อจัดทำสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละระดับชั้นและใช้ใน รร.สังกัด กทม.ในเดือน พ.ย.65 ขณะเดียวกันได้ร่วมกับภาคเอกชนจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เด็กนักเรียน รร.ในสังกัด กทม.ให้รู้เท่าทันสื่อและใช้ประโยชน์สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) อย่างเหมาะสม สร้างสรรค์ และปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมให้ความรู้นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาแล้ว 6,119 คน จาก 50 โรงเรียน เพื่อสร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงสามารถแยกแยะความเสี่ยงบนโลกออนไลน์เบื้องต้นและเข้าใจความเสี่ยงที่มาจากการติดต่อและการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลบนโลกออนไลน์ รวมถึงเข้าใจรูปแบบที่คนร้ายมักใช้ล่อลวงเพื่อหาประโยชน์และล่วงละเมิดเด็กผ่านออนไลน์ โดยจะจัดกิจกรรมเพื่อขยายผลต่อไปจนครบทุก รร.ในสังกัด ตลอดจนสร้างเครือข่ายโซเชียลสีขาวใน รร.ผ่านชมรม
TO BE NUMBER ONE ตาสับปะรด พี่สอนน้อง และขยายไปในชุมชน รวมทั้งประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และการรู้เท่าทันสื่อในเด็กและเยาวชนของ กทม.
กทม.กำชับผู้รับจ้างโครงการก่อสร้างสะพานยกระดับบนถนนรัชดา-พระราม 3 ปากซอยพระราม 3 เข้มงวดมาตรการความปลอดภัย
นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวกรณีเกิดอุบัติเหตุคนงานพลัดตกจากไซต์งานก่อสร้างโครงการก่อสร้างสะพานยกระดับบนถนนรัชดา-พระราม 3 ได้รับบาดเจ็บว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา ได้ประสานความร่วมมือตรวจสอบสาเหตุอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากผู้ปฏิบัติงานพร้อมผู้ควบคุมงานติดตั้งท่อระบายน้ำ ได้ประกอบติดตั้งโครงเหล็กกระเช้าแขวนสำหรับงานติดตั้งท่อระบายน้ำบริเวณด้านบนสะพาน ซึ่งระหว่างประกอบติดตั้ง ผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับบาดเจ็บทั้ง 2 คน ได้ปีนขึ้นไปขันน็อตด้านบนกระเช้าแขวน แต่เนื่องจากกระเช้าดังกล่าวอยู่ระหว่างการประกอบติดตั้งและยังติดตั้งน้ำหนักถ่วงไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้กระเช้าแขวนพลิกคว่ำ ส่วนด้านปลายของโครงเหล็กกระเช้าแขวนร่วงตกลงไปค้ำพื้นด้านล่าง มีความสูงประมาณ 3 เมตร เป็นเหตุให้คนงานทั้ง 2 พลัดตกและกระเด็นออกจากกระเช้าได้รับบาดเจ็บ โดยภายหลังเกิดเหตุได้นำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลทันที
อย่างไรก็ตาม สำนักการโยธาได้สั่งกำชับเจ้าหน้าที่ควบคุมงานและผู้รับจ้างโครงการดังกล่าวให้กำกับดูแลและเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยผู้ควบคุมงานต้องควบคุมการดำเนินงานของผู้รับจ้าง โดยเฉพาะงานประกอบ หรือติดตั้งโครงสร้างต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ต้องอธิบายรายละเอียดให้ผู้ปฏิบัติงานทราบอย่างละเอียดก่อนเริ่มปฏิบัติงาน ติดตั้งอุปกรณ์ให้ครบถ้วนตามคู่มือของผู้ผลิต และหลังจากประกอบติดตั้งกระเช้าเรียบร้อย ต้องตรวจสอบและรับรองโดยวิศวกรตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้ควบคุมงานต้องมีความรู้ความเข้าใจขั้นตอนการทำงานอย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุต่อประชาชนในพื้นที่
นายสุเมธ อมรศรีวรากุล ผู้อำนวยการเขตยานนาวา กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้ประสานสำนักการโยธา พิจารณาเพิ่มความเข้มงวดมาตรการควบคุม ตรวจสอบ และกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวก่อสร้างวันที่ 26 ก.ย.61 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 13 มี.ค.64 ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 900 วัน
กทม.เร่งจัดสรรถังดับเพลิงให้ชุมชนอีก 40,000 ถัง พร้อมพิจารณาจุดติดตั้งประปาหัวแดงเพิ่มเติม
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวกรณีชุมชนในซอยพหลโยธิน 52 ขอให้ กทม.ติดตั้งถังดับเพลิงและประปาหัวแดง รวมทั้งนำรถดับเพลิงขนาดเล็กมาจอดประจำที่วัดราษฎร์นิยมธรรม หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชนในชุมชนว่า ในเดือน ธ.ค.63 – ก.พ.64 สปภ.ได้จัดหาเครื่องดับเพลิงยกหิ้ว (ถังดับเพลิง) ให้สำนักงานเขต เพื่อนำไปติดตั้งที่ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 36,594 ถัง และขณะนี้มีสำนักงานเขตแจ้งความประสงค์ขอรับการสนับสนุนถังดับเพลิงเพิ่มเติมมาอีกประมาณ 40,000 ถัง ซึ่ง สปภ.จะได้นำเสนอผู้บริหาร กทม.พิจารณาให้การสนับสนุนตามที่สำนักงานเขตร้องขอ สำหรับแนวทางการติดตั้งหัวจ่ายน้ำดับเพลิง (ประปาหัวแดง) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมจุดติดตั้งเพิ่มเติมของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สปภ. สำนักงานเขต และการประปานครหลวง (กปน.) ส่วนกรณีการขอสนับสนุนรถดับเพลิงขนาดเล็กมาจอดประจำที่วัดราษฎร์นิยมธรรม (วัดหนองผักชี) สปภ.จะพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ดังกล่าวในการจัดตั้งเป็นสถานีดับเพลิงย่อยต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสถานีดับเพลิงและกู้ภัยในสังกัดได้จัดการรณรงค์ส่งเสริมความรู้ เพื่อสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนและสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันเหตุอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวที่สภาพอากาศแห้งและมีลมแรง รวมถึงให้คำแนะนำและประสานความร่วมมือกับชุมชนในการตรวจตรา เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะชุมชนที่มีประชาชนพักอาศัยอยู่หนาแน่น มีสภาพการจราจรคับคั่ง และทางเข้าออกค่อนข้างแคบ ทั้งนี้ ประชาชนที่พบเห็นเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นายสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตสายไหม กทม.กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้สำรวจความต้องการเครื่องดับเพลิงยกหิ้ว (ถังดับเพลิง) ของชุมชนในพื้นที่เขตสายไหมในปี 2565 พบว่า ชุมชนทิมเรืองเวชมี 444 หลังคาเรือน ตามหลักเกณฑ์จะได้รับถังดับเพลิง 89 ถัง ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 20 ถัง และปี 2565 ไม่ประสงค์ขอเพิ่มเติม ซึ่งสำนักงานเขตฯ จะประสาน สปภ.เพื่อขอเพิ่มอีก 69 ถัง เพื่อให้ครบตามจำนวนหลักเกณฑ์การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องดับเพลิงยกหิ้วที่กำหนด 1 ถังต่อ 5 หลังคาเรือน ส่วนหัวจ่ายน้ำดับเพลิง (ประปาหัวแดง) สำนักงานเขตฯ ร่วมกับสถานีดับเพลิงกู้ภัยบางเขน และ กปน.สาขาบางเขน สำรวจความต้องการในพื้นที่ พบว่า ชุมชนทิมเรืองเวชมีจำนวนเพียงพอตามหลักเกณฑ์การติดตั้งหัวจ่ายน้ำดับเพลิงแล้ว อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ จะประสานคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมของการติดตั้งประปาหัวแดง เพื่อพิจารณาทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานเขตฯ ได้จัดทำแผนการฝึกอบรมการดับเพลิงเบื้องต้นและการอพยพหนีไฟในชุมชนพื้นที่เขตสายไหมทุกชุมชน
กทม.ร่วมถอดบทเรียนเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนในเขตบางคอแหลม เตรียมพิจารณาจัดทำระบบเตือนภัยชุมชนเมือง
นางวาสนา บูรณกิตติโสภณ ผู้อำนวยการเขตบางคอแหลม กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนบริเวณข้างวัดเรืองยศสุทธารามและข้อสังเกตเรื่องการแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่ว่า สำนักงานเขตฯ ได้ประสานสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถานีตำรวจนครบาล (สน.) วัดพระยาไกร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อร่วมตรวจสอบสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้และถอดบทเรียนไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก รวมทั้งได้จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวภายในศาลาวัดเรืองยศสุทธาราม โดยจัดอุปกรณ์เครื่องนุ่งห่ม เครื่องนอน อาหาร น้ำดื่ม และอุปกรณ์ที่จำเป็น พร้อมอำนวยความสะดวกการรับส่งผู้ประสบภัยไปทำบัตรประชาชนและเอกสารสำคัญต่าง ๆ รับส่งไป สน.เพื่อลงบันทึกประจำวัน และตั้งหน่วยบริการที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อสอบสวนและรับรองความเสียหายสำหรับการเยียวยาและประสานการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ โดยจัดเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือและประสานงานประจำศูนย์ฯ ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนการแจ้งเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ เนื่องจากบริเวณข้างวัดเรืองยศสุทธารามไม่ได้จัดตั้งเป็นชุมชน จึงไม่มีระบบเตือนภัยในพื้นที่เป็นการเฉพาะ โดยจะแจ้งเตือน หรือแจ้งข้อมูลข่าวสารผ่าน Facebook ศูนย์วิทยุพระราม 199 ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานเขตฯ ได้เสนอในที่ประชุมศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพกรุงเทพมหานคร เรื่องการแจ้งเตือนเหตุอุบัติภัยให้ประชาชนเพิ่มขึ้น โดยผ่านสื่อโซเชียลมีเดียทุกประเภทที่สามารถดำเนินการได้ เช่น การตั้งกลุ่ม LINE เฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ ในชุมชน Facebook Group การแจ้งเตือนผ่าน SMS เตือนภัย ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ จะสำรวจและส่งข้อมูลให้ สปภ.พิจารณาจัดทำระบบเตือนภัยชุมชนเมืองต่อไป
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวว่า จากเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชนบริเวณข้างวัดเรืองยศสุทธาราม เขตบางคอแหลม สปภ.ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเครื่องอุปโภคบริโภคผู้ประสบภัย จำนวน 15 ครอบครัว รวม 25 ราย และได้ร่วมกับสำนักงานเขตบางคอแหลมจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว โดยสนับสนุนชุดเครื่องนอนสำหรับผู้ประสบภัยและอยู่ระหว่างดำเนินการตามระเบียบ กทม.เพื่อช่วยเหลือด้านการเงินในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ค่าเช่าบ้าน) เพื่อบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าและให้ผู้ประสบภัยได้คืนภาวะปกติในการดำเนินชีวิตในสังคมโดยเร็ว
สำหรับความคืบหน้าการจัดทำแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน เพื่อรับมือภัยพิบัติเมืองในรูปแบบต่าง ๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2564 – 2570 ซึ่งจะสอดคล้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 – 2570 เพื่อเป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นอกจากนั้น ยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอัคคีภัย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากการคมนาคมและขนส่ง และแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากภัยแล้ง รวมถึงการพิจารณาจัดทำระบบเตือนภัยชุมชนเมือง เพื่อให้คนในพื้นที่โดยเฉพาะในชุมชนได้ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง