กทม.ตั้งกองอำนวยการร่วมดูแลความปลอดภัยการจัดงานสงกรานต์ที่ลานคนเมือง
นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการดูแลความปลอดภัยบริเวณสถานที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์ของ กทม.ว่า กรุงเทพมหานครกำหนดจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ.2566 ระหว่างวันที่ 12 – 14 เม.ย.66 ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม.โดยให้ความสำคัญกับมาตรการรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว จึงได้ประสานกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว สถานีตำรวจในพื้นที่ เจ้าหน้าที่เทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งกองอำนวยการร่วม เพื่อดูแลและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตรวจสอบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ให้พร้อมใช้งาน ติดตั้งประตูตรวจจับโลหะ Walk Through และจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำกองอำนวยการร่วมและสายตรวจพื้นที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดการจัดงาน ส่วนการจัดงานอื่น ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักงานเขตต่าง ๆ ได้ประสานการรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนด้วย นอกจากนี้ ได้ประสานสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์จัดหน่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรถพยาบาล ประสานสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดรถดับเพลิง เพื่อเตรียมความพร้อมดูแลความปลอดภัยและช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานได้อย่างรวดเร็วตลอดการจัดงาน
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้เตรียมความพร้อมบริการทางการแพทย์ของ กทม.เพื่อดูแลความปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านการแพทย์ในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) เป็นศูนย์กลางการประสานงาน อำนวยการ กำกับดูแล ติดตาม เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเตรียมความพร้อมช่วยเหลือผู้บาดเจ็บรองรับสถานการณ์ปกติทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันได้จัดเตรียมสำรองยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ น้ำมันเชื้อเพลิง เตียง เลือด และยา รวมทั้งปฏิบัติตามแผนการจัดการเหตุสาธารณภัย หรือภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขของโรงพยาบาลและรายงานข้อมูลกลับมาที่ศูนย์ประสานงานด้านการแพทย์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนเตรียมพร้อมการจัดรถปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินและประสานมูลนิธิต่าง ๆ ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และร่วมกับสำนักงานเขตต่าง ๆ เพื่อประจำจุดบริการประชาชนตามเส้นทางออกจากกรุงเทพฯ หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถแจ้งเหตุผ่านสายด่วนฉุกเฉินทางการแพทย์ โทร.1669 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
กทม.รื้อถอนกล่องป้ายไฟชำรุดบนสะพานลอยคนข้ามถนนรัชดาภิเษกป้องกันอุบัติเหตุกับผู้สัญจร
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์ขอให้ตรวจสอบและรื้อถอนป้ายบนสะพานลอยคนข้ามถนนรัชดาภิเษก เนื่องจากมีสภาพเก่าชำรุด หากมีลมแรงอาจร่วงหล่นลงมาด้านล่าง เป็นอันตรายต่อผู้สัญจรว่า สจส.ได้ตรวจสอบป้ายที่ติดตั้งบนสะพานลอยดังกล่าวแล้วพบว่า เป็นกล่องป้ายไฟที่มีการต่อกระแสไฟฟ้าและเชื่อมติดกับโครงสร้างราวกันตกของสะพานลอยคนข้าม ซึ่งไม่ใช่ป้ายมาตรฐานแนะนำเส้นทางของ สจส.และเมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่า กล่องป้ายไฟดังกล่าวมีสภาพชำรุดเสียหาย บางส่วนถูกถอดรื้อและตัดสายไฟฟ้า เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุกับผู้สัญจรผ่านไปมาบริเวณดังกล่าว สจส.จึงได้รื้อถอนกล่องป้ายไฟดังกล่าวออกเรียบร้อยแล้ว เพื่อความปลอดภัยของผู้สัญจร
เขตมีนบุรีเร่งตรวจสอบแก้ไขปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ส่วนกลางในหมู่บ้านรินทร์ทอง
นายศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี กทม.กล่าวกรณีมีข้อร้องเรียนการต่อเติมที่จอดรถบนถนนส่วนกลางในหมู่บ้านรินทร์ทอง ซอยรามคำแหง 190 ว่า สำนักงานเขตมีนบุรี ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าว พบการติดตั้งกันสาดผ้าใบแบบม้วนเก็บได้ ตั้งวางกระถางต้นไม้รุกล้ำแนวเขตถนนสาธารณะ มีต้นไม้ใหญ่บริเวณหน้าบ้านยื่นล้ำแนวเขตถนน รวมถึงจอดรถบริเวณหน้าบ้าน ซึ่งขณะตรวจสอบไม่พบเจ้าของบ้าน จึงประสานเจ้าของบ้านทางโทรศัพท์ให้ทราบถึงเหตุร้องเรียนและความผิดที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นสำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ตัดแต่งกิ่งไม้ให้อยู่ในแนวถนนและปลอดภัย พร้อมได้มีหนังสือแจ้งเจ้าของบ้านขอความร่วมมือแก้ไขปัญหาเหตุร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน หากแก้ไขเสร็จสิ้นแล้วให้จอดรถยนต์ชิดหน้าบ้าน เพื่อความสะดวกในการสัญจร ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) มีนบุรี กวดขันตรวจสอบเรื่องการจอดรถกีดขวางทางแล้ว นอกจากนั้น ได้ประสานคณะกรรมการชุมชนหมู่บ้านรินทร์ทอง เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในการอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านขนาดใหญ่ โดยเน้นย้ำเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์และช่วยกันดูแลพื้นที่ พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดตรวจสอบบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
กทม.เตรียมพร้อมหน่วย BEST ตรวจป้าย – ต้นไม้ใหญ่ รองรับสถานการณ์พายุฤดูร้อนถึงวันที่ 9 เม.ย.นี้
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์จากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ถึงวันที่ 9 เม.ย.66 ว่า สนน.ได้จัดเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (หน่วย BEST) เข้าพื้นที่ขณะที่ฝนเริ่มตก เพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่จุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวัง และบริเวณทางอุโมงค์ทางลอดต่าง ๆ ขณะเดียวกันได้เตรียมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขัง จัดเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำและบ่อสูบน้ำ เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ เร่งขุดลอกท่อระบายน้ำ คูคลอง เปิดทางน้ำไหล และจัดเก็บขยะวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ เร่งลดระดับน้ำในคูคลอง บ่อสูบน้ำ และแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองประจำสถานีสูบน้ำกรณีไฟฟ้าขัดข้อง เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) รถเครน รถบรรทุกติดตั้งเครนยกไฮโดรลิค บอลลูนไลท์ เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการติดตั้งและตรวจสอบแก้ไขเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ จัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอสำหรับเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลที่ติดตั้งใช้งานในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมติดตามและเฝ้าระวังสภาพอากาศของ กทม.ตรวจสอบกลุ่มฝนด้วยเรดาร์อย่างใกล้ชิด พร้อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ หากพบปัญหาต้นไม้หักโค่น หรือป้ายโฆษณาล้ม
นอกจากนั้น ยังได้แจ้งเตือนสถานการณ์ฝนและอิทธิพลของพายุฤดูร้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ผ่านเว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th/ www.prbangkok.com Facebook:@BKK_BEST สำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter:@BKK_BEST สำนักงานประชาสัมพันธ์ หรือแจ้งปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 0 2248 5115 และสายด่วน 1555 ตลอด 24 ชั่วโมง
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า สนย.ได้ประสานเจ้าของอาคารตรวจสอบป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุพายุฤดูร้อน หากเป็นป้ายที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเกินหนึ่งปี เจ้าของป้ายต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ ตามมาตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบและหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ.2548 ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เตรียมป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายล้ม โดยกำชับเจ้าของป้ายโฆษณาให้ตรวจสอบการใช้งานและความมั่นคงแข็งแรงของป้าย หากเป็นป้ายถูกกฎหมาย แต่มีสภาพเก่า ชำรุด อันอาจก่อให้เกิดภยันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไข หรือให้รื้อถอน และดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเร่งรัดการรื้อถอน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่ห่างจากป้ายโฆษณาที่อาจล้ม หรือหักโค่นในขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือกล เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากป้าย ส่วนป้ายหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งบนถนนสายต่าง ๆ สนย.ได้ขอความร่วมมือสำนักงานเขตให้ตรวจสอบและควบคุมให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำ สถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวว่า สนท.ได้เตรียมความพร้อมทั้งในช่วงก่อนฝนตก ขณะฝนตก และหลังฝนตก โดยก่อนฝนตกจะจัดเจ้าหน้าที่ พร้อมยานพาหนะลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชนและพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขัง พื้นที่ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าและสาธารณูปโภค รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณา ป้ายหาเสียงผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร หากพบป้ายไม่มั่นคงแข็งแรงให้ประสานเจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไขให้มีความมั่นคงแข็งแรงทันที เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับประชาชน หากเป็นป้ายที่ติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตให้จับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย และเมื่อเกิดสถานการณ์ฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขัง ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจทั้ง 50 เขต พร้อมยานพาหนะออกปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจร และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังให้ได้รับความสะดวกและปลอดภัย