กทม.เตรียมพร้อมมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามที่กรมชลประทานคาดการณ์ปริมาณฝนเดือน เม.ย.นี้ จะต่ำกว่าค่าปกติว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนน.ได้เตรียมรองรับและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยติดตามปริมาณเก็บกักน้ำ 4 เขื่อนหลักที่ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งประชุมหารือร่วมกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ซึ่งในส่วนของ กทม.ได้เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรต่าง ๆ และมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร รวมทั้งเฝ้าระวังการรุกตัวของน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา โดย สนน.ได้เตรียมเจ้าหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่าง ๆ ตลอดจนจัดแผนการควบคุมเปิด-ปิดประตูระบายน้ำตามแนวริมเจ้าพระยาไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้าคลอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร นอกจากนั้น ยังร่วมกับกรมชลประทานปฏิบัติการ Water Hammer Operation (กระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา) เพื่อช่วยผลักดันลิ่มความเค็มไม่ให้มีผลต่อการผลิตน้ำประปาที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล
สำหรับพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ สนน.ได้ประสานกรมชลประทานในการผันน้ำผ่านคลองสิบสามและคลองต่าง ๆ เข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำในด้านเกษตรกรรม โดยแผนระยะเร่งด่วน กทม.จะขุดลอกคลองสายรอง เพื่อผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ ส่วนแผนระยะยาว ได้ก่อสร้างทำนบกั้นน้ำ โดยการทดน้ำ หรือเก็บกักน้ำไว้ในคูคลองช่วงก่อนที่จะหมดฤดูฝน โดยเฉพาะพื้นที่เขตหนองจอกที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพทำการเกษตรและมักประสบปัญหาความเดือดร้อนในช่วงฤดูแล้งเนื่องจากน้ำที่นำไปใช้ในการเกษตรมีไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างทำนบดังกล่าวได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด 17 แห่ง ประกอบด้วย บริเวณคลองสิงห์โต คลองแตงโม คลองบึงเขมร คลองขุดใหม่ คลองบึงนายรุ่ง คลองหนึ่ง คลองลัดเกาะเลา คลองสอง คลองลำแขก คลองแม๊ะดำ คลองลำเกวียนหัก คลองแยกลำต้อยติ่ง คลองกระทุ่มล้มด้านเหนือ คลองลำชะล่า คลองกระทุ่มล้มด้านใต้ คลองลำตามีร้องไห้ และคลองลำต้อยติ่ง โดยครอบคลุมพื้นที่การเกษตรประมาณ 48,000 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำเก็บกักประมาณ 0.9 ล้าน ลบ.ม.
นอกจากนั้น กทม.ได้นำน้ำที่ผ่านการบำบัดและมีคุณภาพจากโรงควบคุมคุณภาพน้ำขนาดใหญ่ รวมปริมาณน้ำที่ผ่านการบำบัดทั้งสิ้น 868,581 ลบ.ม./วัน แจกจ่ายให้ประชาชนนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ ล้างถนน ล้างตลาด และล้างเครื่องจักรภายในโรงงาน โดยสามารถขอรับน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วทั้ง 8 แห่ง ประกอบด้วย (1) โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา (2) โรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ (3) โรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี (4) โรงควบคุมคุณภาพน้ำหนองแขม (5) โรงควบคุมคุณภาพน้ำทุ่งครุ (6) โรงควบคุมคุณภาพน้ำจตุจักร (7) โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง และ (8) ศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ
กทม.ร่วมตั้งจุดบริการอำนวยความสะดวกประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 11 – 17 เม.ย.นี้
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวถึงการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 จะมีประชาชนทยอยเดินทางกลับต่างจังหวัด อาจทำให้การจราจรหนาแน่น อีกทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรมวันสงกรานต์ในหลายพื้นที่ สนท.จึงได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในหน่วยงาน กทม.และหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก สถานีตำรวจนครบาล หน่วยงานความมั่นคง อาสาสมัคร หน่วยงานทางการแพทย์ หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย เพื่อร่วมกันจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย พร้อมกำหนดแผนการดำเนินการระหว่างวันที่ 11 – 17 เม.ย.66 โดยจัดตั้งศูนย์บริการประชาชน เพื่อดูแลอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและประชาสัมพันธ์ด้านความปลอดภัย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่ประชาชนที่เดินทางไปต่างจังหวัดทั้งไปและกลับ พร้อมสรุปรายงานอุบัติเหตุ นำเสนอแนวทางปรับปรุงแก้ไขระยะเร่งด่วนและระยะยาว เพื่อแก้ไขจุดอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุในระยะเร่งด่วน
นอกจากนั้น ได้ตั้งจุดบริการประชาชนบริเวณสถานีรถไฟดอนเมือง ถนนวิภาวดีรังสิต ใต้สะพานข้ามแยกมหานคร ถนนสุวินทวงศ์ หน้าสำนักงานเขตลาดกระบัง ถนนลาดกระบัง หน้าสถานีบริการน้ำมันบางจาก กม.4 + 800 ถนนบางนา – ตราด สถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ ถนนบรมราชชนนี หน้าสำนักงานเขตหนองแขม ถนนเพชรเกษม สถานีบริการน้ำมัน ปตท.ถนนพระรามที่ 2 กม.12 ขณะเดียวกันได้ประสานสถานีตำรวจนครบาลตั้งจุดตรวจความมั่นคงและความปลอดภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังจุดเสี่ยง รับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย ชุดเคลื่อนที่เร็ว เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือ ลาดตระเวนพื้นที่ และประชาสัมพันธ์รณรงค์ความปลอดภัยบนเส้นทางเสี่ยงอันตราย ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกการจราจรให้แก่ประชาชนที่มาร่วมงานในพื้นที่จัดกิจกรรม โดยเน้นย้ำมาตรการควบคุมดูแลการจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเล่นแป้ง กระบอกฉีดน้ำแรงดันสูง การแต่งตัวไม่เหมาะสม วาบหวิว และการเล่นน้ำสงกรานต์ต้องเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงเคร่งครัดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด 19 ด้วย
กทม.เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ แนะฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่จำเป็น
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวกรณีแพทย์เตือนการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ หลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายว่า สนพ.ได้จัดทีมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสรุปข้อมูลสถานการณ์รายงานผู้บริหารทุกวัน รวมทั้งสั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดดำเนินการตามแนวทางเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรง ขณะเดียวกันได้เตรียมมาตรการเฝ้าระวัง พร้อมจัดทำแนวทางควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ รวมถึงภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยสั่งการให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัด กทม.เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค และจัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย พร้อมจัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรค ได้แก่ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งมอบหมายกลุ่มงานอนามัยชุมชนของโรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 11 แห่ง ให้บริการเชิงรุก เช่น จัดกิจกรรมและนิทรรศการให้ความรู้การดูแลและป้องกันสุขภาพของตนเองแก่ประชาชนที่มารับบริการและประชาชนในพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาล รวมทั้งแนะนำให้ผู้ใหญ่เข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้น ได้พัฒนารูปแบบ “คลินิกวัคซีนผู้ใหญ่” ในโรงพยาบาลสังกัด กทม. ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโควิด โรคคอตีบ(dT) บาดทะยัก โรคหัด หัดเยอรมัน เป็นต้น เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่มีความจำเป็น โดยเปิดให้บริการในแผนกอายุรกรรมและเป็นไปตามสิทธิของผู้ป่วย เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค ลดป่วยและลดโรคให้ประชาชน ซึ่งสามารถเข้าถึงวัคซีนตามสิทธิประโยชน์ของตนเอง และเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในกลุ่มผู้ใหญ่ เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายจากการได้รับวัคซีนในวัยเด็กจะลดลงเมื่อสูงวัยขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคนิวโมคอคคัส ไข้หวัดใหญ่ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก รวมถึงไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งอาจนำไปสู่โรคมะเร็งตับได้ ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดการให้บริการคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ทั้ง 11 โรงพยาบาลสังกัด กทม.ได้ที่ https://shorturl.asia/Qs5EL