กทม.แนะประชาชนดูแลสุขภาพช่วงฤดูร้อน ลดความเสี่ยงโรคลมแดด
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กล่าวถึงการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงฤดูร้อนว่า สนอ.ได้ส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำประชาชนเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ทำงาน หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคนอ้วน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากภาวะอากาศร้อน เช่น อาการเพลียแดด ภาวะฮีตสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด ซึ่งเกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้ความร้อนภายในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที อาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ ส่วนวิธีสังเกตอาการสัญญาณเสี่ยงโรคลมแดด ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ตัวร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีเหงื่อออก กระหายน้ำมาก หายใจเร็ว และความดันโลหิตต่ำ
สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หลักการสำคัญที่สุดคือ การทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงให้เร็วที่สุดก่อนนำส่งโรงพยาบาล เช่น ย้ายผู้ป่วยมาในที่ร่ม จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย ยกขาสูง ถอดเสื้อผ้าแล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามร่างกายโดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ และนำพัดลมเป่าระบายความร้อน หากผู้ป่วยรู้สึกตัวให้ดื่มน้ำเกลือให้มากที่สุด เพื่อทดแทนภาวะการขาดน้ำ จากนั้นรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
กทม.ซ่อมไฟฟ้าส่องสว่างบนสะพานลอยเขตหลักสี่-พญาไท พร้อมตรวจสอบถนน-สะพานลอย เพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชน
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตสะพานลอยคนข้ามหลายแห่งในกรุงเทพฯ ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง อาทิ บริเวณแยกสะพานควาย ฝั่งถนนประดิพัทธ์ บริเวณหน้าไอทีสแควร์ว่า สนย.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบไฟฟ้าส่องสว่างดับชำรุดบนสะพานลอยคนข้ามบริเวณหน้าไอทีสแควร์ เขตหลักสี่ และบริเวณแยกสะพานควาย ฝั่งถนนประดิพัทธ์ เขตพญาไท พบสาเหตุเกิดจากสายไฟฟ้าถูกตัดและรีเลย์ชำรุด โดย สนย.ได้ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
นอกจากนี้ สนย.ได้มีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการสำรวจ ตรวจสอบ และติดตามแก้ไขปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะบนสะพานลอยคนข้าม โดยดำเนินการตามแผนงานตรวจสอบทั้งถนนและสะพานลอยที่อยู่ในความรับผิดชอบ ส่วนบริเวณพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น ได้ประสานหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ให้เข้าดำเนินการแก้ไข เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อทรัพย์สินที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานนั้น ซึ่งอาจทำให้ใช้ระยะเวลาดำเนินการแก้ไขมากกว่าปกติ หากกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน สนย.จะประสานหน่วยงาน เพื่อขอเข้าดำเนินการแก้ไขต่อไป
กทม.เตรียมมาตรการดูแลความปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตรวจสอบกล้อง CCTV ให้พร้อมใช้งาน
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการดูแลความปลอดภัยบริเวณสถานที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สปภ.ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของ กทม.ประจำปี 2566 โดยจัดกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมรถดับเพลิงและกู้ภัยประจำจุดเฝ้าระวัง จำนวน 36 จุด ระหว่างวันที่ 11 – 17 เม.ย.66 รวมทั้งจัดเตรียมยานพาหนะและอุปกรณ์ด้านการดับเพลิงและกู้ภัย พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุผ่านโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวว่า สจส.ได้ตรวจสอบระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนั้น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 13 – 17 เม.ย.นี้ สจส.ได้จัดทีมซ่อมเร่งด่วน เพื่อเตรียมพร้อมเข้าแก้ไขหากเกิดเหตุ ขัดข้องต่าง ๆ ได้ทันที ขณะเดียวกันได้จัดให้มีระบบแจ้งเหตุ พร้อมรายงานผลต่อผู้บังคับบัญชาทราบทันทีผ่านแอปพลิเคชันไลน์