นายช่าง
ผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวถึงประเด็นปัญหาผังเมือง กทม.ว่ามีอยู่ 2 ส่วน คือ เรื่องแรก ความล่าช้าในการบังคับใช้ เรื่องที่ 2 ผังเมืองไม่ได้บอกทิศทางอนาคตของเมืองว่าเป็นอย่างไร
นับตั้งแต่ประกาศบังคับพระราชบัญญัติการผังเมือง 2562 มานั้น ยังไม่มีผังนโยบายระดับประเทศแม้แต่ฉบับเดียว ทั้งที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าจะต้องมีจะต้องทำ ก็ไม่มีไม่ทำ เมื่อไม่มีไม่ทำแล้ว ผังระดับภาค และผังจังหวัด เป็นแนวทางหรือ Direction เสียแล้ว กรุงเทพฯ จะมี Direction ได้อย่างไร
แม้ผังเมืองกรุงเทพฯ จะปรับปรุงมาหลายฉบับ แต่ก็ยังคงมีสภาพเป็นแผนที่ระบายสีเหมือนทุกครั้ง ถนนในผังเมืองกรุงเทพฯ ที่ท่านผู้ว่าฯ บอกว่ามีอยู่ 139 เส้นทาง ทำไปแล้ว 2 เส้นทาง กำลังทำอยู่ 20 เส้นทาง ก็เป็นเส้นทางถนนที่ขีดกันในแผนที่ระบายสีของ กทม. มาแต่เนิ่นนานแล้ว
แม้แต่เรื่องของสีผังเมือง ที่คิดว่าจะเปลี่ยนกันได้ไม่ยาก นับแต่ผังเมือง กทม. ฉบับแรก ก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ หากแต่มีข้อกำหนดทางการควบคุมทางกฎหมายควบคุมอาคารมากขึ้นเท่านั้นเอง
ปัญหาที่น่าจะเป็นปัญหาสำคัญของการผังเมือง กทม. หรือ ถ้าจะให้ชัดเจนกว่านี้ก็คือเรื่องของผังเมืองรวมทั่วประเทศ ที่ในสารสำคัญของการจัดทำและจัดวางผังเมืองนั้น เป็นรูปแบบเดียวกันมีข้อกำหนดที่เหมือนกันไปทุกแผนผังเมืองรวม และ ในข้อกำหนดของแต่ละผังเมืองรวมก็ขัดแย้งหรือไม่ประสานกัน
เช่น เส้นทางของถนนหนทาง เส้นทางขนส่งมวลชน พื้นที่โครงการสาธารณูปโภคใหญ่ๆ เช่น สนามบิน การจัดการเรื่องน้ำ เรื่องคูคลองนั้น ไม่ได้ประสานงานกับคณะผู้จัดทำและผู้จัดวางผังประโยชน์การใช้ที่ดินให้สอดคล้องกัน
รถไฟขนส่งมวลชนไม่มีส่วนประสานกับโครงข่ายการคมนาคมภาคพื้นดินและรวมทั้งก็ไม่ประสานกับระบบของถนนในการทางพิเศษอีกด้วย
เหตุที่เป็นเช่นนี้ย่อมทำให้การผังเมืองของกรุงเทพฯ สร้างความอึดอัดและความเสื่อมโทรมให้แก่เมือง ชัดๆ ก็คือ ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากบรรดาอาคารตึกแถว อาคารพาณิชย์ ที่พบเห็นก็คือ การทิ้งร้างตั้งแต่ชั้น 2 ไปจนถึงชั้นที่ 4 มิได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใดให้คุ้มค่า คุ้มประโยชน์ ในบริเวณพื้นที่ที่มีทางรถไฟขนส่งมวลชนและทางด่วน ทางยกระดับทั้งหลาย
และเมื่อมองออกไปให้กว้างขึ้นก็คือ การเชื่อว่าจะแก้ไขเรื่องของเมืองตามกฎเกณฑ์แบบเดิม ตามแนวทางการออกแบบจัดทำจัดวางผังเมืองในวิธีคิดแบบเดิม
มันจึงเป็นไม่ได้ที่จะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นในกระบวนความคิดและวิธีการแบบเดิม ปัญหาที่เป็นรากของสิ่งเหล่านี้ ก็คือ การติดอยู่ในกระบวนการทางสังคมเก่า สังคมอำนาจนิยม ไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง และไม่พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร
ข้อเสนอแนะว่ามีที่ใดที่น่าจะเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนแปลงได้ ขอเสนอเป็นตอนหน้า
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 1 เม.ย. 2566