(27 มี.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2566 ก่อนประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ณ บริเวณหน้าห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
โดย รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นของการจัดงานสงกรานต์ กทม.ร่วมมือกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลักดันงานสงกรานต์เป็น Intangible Cultural Heritage (มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม) ซึ่งคือศิลปวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น ต้มยำกุ้ง ปีนี้เลยต้องมีธีมตามที่กำหนด ประมาณ 7 – 8 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ การสืบสานวัฒนธรรม ซึ่งจะจัดที่ลานคนเมืองในวันที่ 12 – 14 เมษายน 2566 ซึ่งจะมีการแนะนำว่าวัดไหนที่สามารถไปสักการะได้ มีการรดน้ำดำหัว การรดน้ำมนต์จากวัดดัง นอกจากนั้นมีงานสงกรานต์ที่คลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งในตอนนี้กำลังปรับปรุงทางเท้าอยู่ เราอยากทดลองความเป็นพื้นที่สาธารณะ อยากให้คนมาเดิน ในการนี้ กทม. โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ได้นำเรือ เช่น เรือปั่น เรือคายัค มาทดลองให้ประชาชนได้มาเล่น แล้วดูผลว่าประชาชนรู้สึกอย่างไร ควรจะจัดต่อหรือไม่
ในส่วนกิจกรรมที่ทางเอกชนจัด ทางกทม.ก็ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อกับภาคเอกชนหลาย ๆ เจ้า จัดทำแมพ (แผนที่) ที่สามารถดูทางออนไลน์ได้ ใครเป็นสายปาร์ตี้ สายสาดน้ำ อยากเปียก จะแสดงระดับน้ำให้เห็น ประชาชนช่วยกันบอกได้ว่า ตรงนี้เปียก จะมีแมพที่สามารถให้เรตติ้งน้ำได้ ถ้าใครไม่อยากเปียก ก็สามารถเช็คในแมพก่อนได้ ในตอนนี้รวบรวมได้แล้วกว่า 30 งาน คาดว่าใกล้ ๆ วันแถลงข่าวน่าจะชัดว่ามีทั้งหมดกี่งาน โดยในแต่ละเขตจะมีพื้นที่ที่เอกชนที่ดำเนินการจัดอยู่แล้ว นอกจากนี้ ในแต่ละเขตก็จะมีชุมชนที่จัดงานด้วย เช่น ชุมชนบ้านบาตรที่ได้กำหนดจัดงานสงกรานต์โดยมี Hidden ต่าง ๆ ไม่ให้คนเบื่อ ซึ่งครั้งนี้กิจกรรมจะยาวหน่อย เพราะเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 – 15 เมษายน โดยบางที่อาจจะจัดเร็ว บางที่อาจจะจัดช้า ทางกทม.ก็จะมีการประชาสัมพันธ์เรื่อย ๆ
ทั้งนี้ หากทำแมพเสร็จแล้ว จะขอให้สื่อมวลชนช่วยในเรื่องการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ทราบว่ามีงานสงกรานต์จัดขึ้นที่ไหนบ้าง ซึ่งในส่วนของแอปพลิเคชันแมพที่ระบุจุดเปียกน้ำ จะเปิดตัวในวันแถลงข่าว คือวันที่ 7 เมษายน นี้ เป็นรูปแบบเว็บแอป ไม่ต้องดาวน์โหลด ใช้งานได้ง่าย โดยรูปแบบแอปพลิเคชันนี้เคยใช้ในช่วง Bangkok Design Week มาแล้ว คิดว่าน่าจะรองรับการใช้งานของประชาชนได้
สำหรับเรื่องความปลอดภัยของประชาชน ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเสริมว่า ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่สถานการณ์โควิดดีขึ้น ข้อกังวลจึงเป็นเรื่องของความปลอดภัยในการเบียดเสียดต่าง ๆ ซึ่งทางเทศกิจได้มีการลงพื้นที่อยู่ เพื่อกำกับดูแลทางเข้า-ออกงาน และร่วมมือกับผู้จัดงานแต่ละพื้นที่ในการดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาขน
ในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยว ปีนี้น่าจะคึกคักมาก สังเกตจากอัตราการเข้าพักโรงแรม (Occupancy Rate หรือ OR) ที่ส่วนใหญ่มีอัตราใกล้เคียงก่อนโควิดแล้ว ซึ่งเป็นจังหวะที่ดี เมืองก็พร้อม และเรามีพื้นที่เปิดอีกมากมาย เรามีสวนเพิ่มขึ้น ถ้าหากเรามีพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นและมีการจัดงานที่ไม่ได้กระจุกอยู่ในแค่บางพื้นที่ ประชาชนและนักท่องเที่ยวก็จะกระจายกันมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีในการกระจายทั้งในแง่เศรษฐกิจและความหนาแน่น
ปัจจุบันเราจะเห็นนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวสถานที่ Unseen เยอะ ขี่จักรยานไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่ไม่เคยไป และนักท่องเที่ยวจำนวนมากก็อาจจะเบื่อกับพื้นที่เดิมๆ แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็จะพยายามสร้างอัตลักษณ์ให้กระจายไปในทุกชุมชนให้มากที่สุด เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่หลากหลายในพื้นที่กรุงเทพฯ
“ต้องบอกว่าในช่วงนี้กรุงเทพมหานครมีชีวิตชีวา ซึ่งไม่ใช่เพราะกทม.เพียงคนเดียว แต่มีหลายหน่วยงานร่วมมือกันในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น ทำให้เมืองมีสีสันและสามารถกระจายกิจกรรมไปในพื้นที่ต่าง ๆ ได้มากขึ้น ส่วนข้อกังวลในเรื่องของการซื้อ-ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ห้ามทำผิดกฎหมาย ความสนุกของเทศกาลไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างได้ เพราะความสนุกไม่ต้องมีสุราก็ได้ และงานของเราก็เน้นประเพณีวัฒนธรรมของไทย ไม่ได้เน้นเรื่องสุราอยู่แล้ว ฉะนั้น ต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย