(27 มี.ค.66) เวลา 13.00 น. บริเวณหน้าห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยหลังการประชุมผู้บริหารฯ ว่า วันนี้เมื่อเวลา 10.00 น. ได้รับทราบเรื่องราวร้องทุกข์จากนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ยื่นเรื่องผ่านทางนางอรกัญญา บุณยมหาศาล ผู้อำนวยการส่วนเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรณียื่นคำร้องต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดพนักงานเจ้าหน้าที่ กทม.ที่เกี่ยวข้องกับการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้ บริษัท แสนสิริ จำกัด ได้ก่อสร้างสะพานข้ามคลองพระโขนง เขตวัฒนา และมีการเรียกเก็บค่าผ่านทางซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรการและเงื่อนไขที่กำหนไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นั้น
เบื้องต้นเข้าใจว่าทางสะพานที่ถูกร้องเรียนดังกล่าวเป็นทางสาธารณะที่ใช้ข้ามคลอง ซึ่งประเด็นคือทางสาธารณะต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายในการผ่านทาง เรื่องนี้ทางกทม.ขอรับไปตรวจสอบซึ่งตรวจสอบได้ไม่ยาก เนื่องจากการดำเนินการทุกอย่างนั้นเป็นไปตามระเบียบของทางราชการอยู่แล้วโดยไม่ได้ใช้ความรู้สึกในการดำเนินการแต่ต้องดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การขออนุญาตก่อสร้าง การปฏิบัติตามระเบียบ EIA ซึ่งการบังคับใช้ตามกฎหมายกทม.ต้องรับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว โดยตามหลักการหากก่อสร้างบนที่ดินของเอกชน เอกชนสามารถดำเนินการเก็บค่าผ่านทางได้ จึงต้องขอตรวจสอบในแง่ของการอนุญาตก่อสร้างสะพานและจุดประสงค์ของการสร้างสะพานดังกล่าวว่ามีจุดประสงค์อย่างไร ซึ่งการขออนุญาตก่อสร้างสะพานต้องมีการขออนุญาตกรุงเทพมหานคร(กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ราชการกำหนด ดังนั้นต้องตรวจสอบว่าเงื่อนไขในการก่อสร้างสะพานมีจุดประสงค์เพื่ออะไรเพื่อสาธารณะหรือขอเป็นทางส่วนตัวของเอกชน ซึ่งการตรวจสอบจะมอบหมายให้ทางสำนักงานเขตวัฒนาเจ้าของพื้นที่เป็นผู้ตรวจสอบ ทั้งนี้การก่อสร้างสะพานผ่านพื้นที่เอกชนหรือหมู่บ้านในรูปแบบนี้มีอยู่มากมายในกรุงเทพฯ
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากนายศรีสุวรรณได้ร้องเรียนว่า บ.แสนสิริ ได้ขออนุญาตสำนักการโยธา กทม.ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษโครงการ The Base Park East และโครงการ The Base Park West โดยจัดทำรายงาน EIA ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แล้วทั้ง 2 โครงการ โดยได้ระบุไว้ในรายงานว่า ในการดูแล บำรุงรักษา ถนนภาระจำยอมบนโฉนดที่ดิน 8 แปลง และสะพานข้ามคลองพระโขนง ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคริมถนน ฯลฯ นั้น หากเกิดกรณีสะพานชำรุดเสียหาย นิติบุคคลอาคารชุดจะเป็นผู้ดำเนินการประสานไปยังสำนักงานเขตวัฒนาเพื่อซ่อมแซมด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ที่ถือครองกรรมสิทธิ์เองทั้งสิ้น รวมทั้งรับผิดชอบค่าไฟฟ้าส่องสว่างที่เกิดขึ้นในที่ดินภาระจำยอมนั้นด้วย ซึ่งในการขออนุญาตก่อสร้าง บ.แสนสิริ นำที่ดินถนนภาระจำยอมมายื่นร่วมในการขออนุญาตก่อสร้าง รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินภาระจำยอมทั้ง 8 แปลง ได้ยินยอมให้บุคคลทั่วไป สามารถเข้าใช้ประโยชน์ถนนภาระจำยอม เพื่อเป็นเส้นทางลัดเชื่อมระหว่างถนนซอยสุขุมวิท 77 (อ่อนนุช) ผ่านถนนของการทางพิเศษฯ ออกสู่ถนนซอยปรีดีพนมยงค์ 2 ได้ และต้องแจ้งให้บุคคลภายนอกทราบว่าถนนภาระจำยอมเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้สัญจรได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อ 14 ของระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการขออนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลอง 2549
แต่เมื่อเปิดใช้สะพานดังกล่าวตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา กลับมีการตั้งป้อมเรียกเก็บเงินค่าผ่านสะพานและถนนภาระจำยอมดังกล่าวจำนวน 10-20 บาทมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประมาณรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท โดยเป็นที่สงสัยว่าสำนักงานเขตวัฒนา หรือ สำนักการโยธา ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ หรือบังคับให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน EIA ซึ่งหากไม่ดำเนินการอาจถือได้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของกทม. มีการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทดังกล่าวหรือไม่อย่างไร จึงนำมาซึ่งการร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบสวน เอาผิดพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยเร็วที่สุด และสั่งการไปยังบุคคลหรือบริษัทที่เก็บค่าผ่านทางดังกล่าวให้คืนเงินทั้งหมดกลับคืนสู่ผู้จ่ายเงินไปก่อนหน้านี้ฐานลาภมิควรได้ หรือให้ กทม.นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการสาธารณะต่อไป