(24 มี.ค.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ประกอบด้วย
ตรวจพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน และติดตามความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ทางเท้าบริเวณตลาดคลองถม เริ่มจากถนนเจ้าคำรบ ถนนเสือป่า ถนนเจริญกรุง ถนนศรีธรรมาธิราช จนถึงถนนยมราชสุขุม จากการเดินตรวจพื้นที่ตลาดคลองถม พบว่าทางด้านถนนเสือป่าต่อเนื่องถนนเจริญกรุง มีร้านค้าบางแห่งตั้งวางขายสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า บางร้านได้มีการต่อเติมบางส่วนยื่นล้ำทางเท้า ผู้ค้าบางรายตั้งวางสินค้าบริเวณหน้าร้านที่ปิดทำการ รวมถึงมีการตั้งแผงค้ารับซ่อมโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมต่างๆ บนทางเท้า ด้านถนนศรีธรรมาธิราช มีร้านก๋วยเตี๋ยวรถเข็นจอดขายบนพื้นที่ทางเท้า มีการล้างภาชนะและเทน้ำทิ้งลงพื้นผิวจราจรและท่อระบายน้ำ นอกจากนี้ยังมีผู้ค้าบางรายตั้งวางแผงค้าทิ้งไว้โดยไม่จัดเก็บหลังเลิกทำการค้า ร้านค้าบางแห่งนำป้ายร้านและป้ายโฆษณาสินค้ามาตั้งวางบนทางเท้า รวมถึงมีการลักลอบนำขยะมาทิ้งในจุดห้ามทิ้งขยะ ต่อมาได้ตรวจพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผันบริเวณถนนดำรงรักษ์ โดยเดินตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ทางเท้าถนนดำรงรักษ์ ตั้งแต่หน้าโรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค จนถึงถนนกรุงเกษม ส่วนใหญ่จะเป็นร้านเสื้อผ้าและร้านผลไม้ ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ขีดสีตีเส้นกำหนดขอบเขตการตั้งวางแผงค้าให้มีความชัดเจน แบ่งผู้ค้าออกเป็น 2 ฝั่ง เว้นช่องทางเดินตรงกลาง เพื่อให้ประชาชนเดินทางสัญจรและผู้ซื้อสินค้าเดินจับจ่ายได้สะดวกขึ้น
ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับร้านค้าและผู้ค้าที่ตั้งวางขายสินค้ารุกล้ำทางเท้า ให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวม ไม่ตั้งวางสิ่งของกีดขวางทางเท้า โดยร้านค้าและผู้ค้าได้ให้ความร่วมมือในการจัดเก็บสินค้าที่ตั้งวางออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางเท้าในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง กำชับร้านค้าไม่ให้วางขายสินค้ารุกล้ำในทางเท้า กวดขันผู้ค้าไม่ให้มีการตั้งวางสินค้าบริเวณหน้าร้านที่ปิดทำการ เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ที่สำคัญเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดสิดาราม ถนนดำรงรักษ์ พื้นที่ 2 งาน 61 ตารางวา มีครูและนักเรียน 207 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ สร้างจิตสำนึกให้กับนักเรียนในโรงเรียนให้รู้คุณค่าของเศษอาหารเหลือทิ้ง รณรงค์ส่งเสริมให้รับประทานอาหารให้หมด นำไปเป็นอาหารของไส้เดือนลิ้นชัก ส่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำไปทำน้ำหมักชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล รณรงค์ส่งเสริมให้ใช้ซ้ำโดยการ refill น้ำดื่ม นำขวดเปล่าไปทำเป็นสวนแนวตั้ง นำไปเป็นบรรจุภัณฑ์นำหมักชีวภาพ ส่วนขยะรีไซเคิลอื่นๆ ขายให้กับผู้รับซื้อ 3.ขยะทั่วไป บางส่วนนำมาเป็นสื่อการสอนนักเรียนในห้องเรียน นำมาเป็นพู่สำหรับกองเชียร์สำหรับการแข่งกีฬาสีของโรงเรียน ส่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ 4.ขยะอันตราย ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวันพุธ หรือเมื่อมีขยะอันตรายจำนวนมาก และในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนจะรวบรวมส่งปริมาณขยะอันตราย สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 73.43 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 26.04 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 13.17 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 38.21 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 12.43 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 33.22 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0.44 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 2.00 กิโลกรัม/วัน
พิจารณาแนวทางบริหารจัดการห้องสุขาบริเวณตลาดโบ๊เบ๊ ริมคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งห้องสุขาดังกล่าวอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ห้องสุขาชาย 2 ห้อง ห้องสุขาหญิง 2 ห้อง และอ่างล้างมือ ปัจจุบันห้องสุขาอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นผู้ค้าที่ทำการค้าในตลาดใกล้เคียง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมพิจารณาถึงความเหมาะสมและหาแนวทางในการบริหารจัดการห้องสุขา ประกอบด้วย 1.ทุบทิ้ง 2.ซ่อมแซม 3.สร้างใหม่ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ในการใช้พื้นที่ต่อไป
ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีข้าราชการและบุคลากร 350 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดของแต่ละฝ่าย ดำเนินการคัดแยกขยะรีไซเคิลและจัดเก็บตามแผนการดำเนินงานจัดการขยะ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดตั้งถังขยะสำหรับคัดแยกขยะทุกชั้นของอาคาร 2.ขยะอินทรีย์ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ และการจัดการขยะต้นทาง โครงการไม่เทรวม ให้แก่เจ้าหน้าที่ของผู้รับผิดชอบ ตั้งวางถังสำหรับใส่เศษอาหารให้กับทุกฝ่าย 3.ขยะอันตราย ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ตั้งวางถังขยะอันตรายทุกชั้นของอาคาร จัดเก็บทุกวันพุธ หรือเมื่อมีขยะอันตรายจำนวนมาก และในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนจะดำเนินการรวบรวมส่งปริมาณขยะอันตราย 4.ขยะทั่วไป เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดของแต่ละฝ่าย จะนำขยะทั่วไปที่ผ่านการคัดแยกแล้ว มาทิ้งบริเวณจุดพักขยะ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 96.10 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 41.50 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 12 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 18.45 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 13.75 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 20.50 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0.32 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1.00 กิโลกรัม/วัน
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ ขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบจัดการงานด้านภาษี การบันทึกข้อมูลผู้เสียภาษี การพิมพ์เอกสารการจัดเก็บภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ตลอดจนให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและคำแนะนำในการจัดเก็บภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)