(21 มี.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรม ผู้ว่าฯ สัญจร สำนักการจราจรและขนส่ง ณ สำนักการจราจรและขนส่ง เขตดินแดง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า สำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) เป็นหน่วยงานที่สำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับการเดินทาง รวมถึงความปลอดภัยด้วย เนื่องจากดูแลเรื่องกล้อง CCTV การจราจร รถไฟฟ้าต่าง ๆ อาทิ BTS BRT ป้ายรถเมล์ ป้ายโฆษณา ซึ่ง กทม. มีป้ายโฆษณา 1,170 ป้าย ให้ภาคเอกชนบริหารจัดการและมีรายได้จากป้ายโฆษณาปีละกว่า 120 ล้านบาท
• ปรับปรุงทางม้าลายเพิ่มความปลอดภัย ตั้งเป้าลดผู้เสียชีวิตปีละ 20%
เรื่องแรกคือทางม้าลาย เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัย จากสถิติปี 2565 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 800 คน ได้ตั้งเป้าหมายให้ทาง สจส.ลดผู้เสียชีวิตลง อย่างน้อยปีละ 20% คือปีละประมาณ 160 คน การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในกรุงเทพฯ อาจมีสาเหตุ 2 ส่วน คือ พฤติกรรม และกายภาพ เรื่องพฤติกรรมอาจจะควบคุมได้ยาก ก็ได้มีการรณรงค์ร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น การใส่หมวกกันน็อก ส่วนเรื่องกายภาพ ได้มีการทำ Risk Map จุดที่ปัญหาอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อย และเข้าไปปรับปรุงจุดที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ ทำให้ข้อจำกัดทางกายภาพลดลง และสามารถลดการตายได้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีทางม้าลายทั้งหมดประมาณ 2,800 จุด ในปี 2566 มีการปรับปรุงทางม้าลายประมาณ 1,200 จุด โดยทาสีทางม้าลายที่ซีดจาง (สีขาว) 500 จุด ทาสีโคลด์พลาสติก (สีแดง) 210 จุด ล้างทำความสะอาดจุดที่เคยทาสีไว้แล้ว 507 จุด และปี 2567 จะทำอีกประมาณ 1,300 จุด ปี 2566 มีการทำสัญญาณไฟบริเวณทางข้าม 104 จุด แบ่งเป็น ทางแยก 2 จุด ไฟกดคนข้าม 52 จุด และไฟกระพริบ 50 จุด
• เตรียมนำ ITMS และ ATC มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพแก้ปัญหาจราจรติดขัด
เรื่องที่สองเป็นเรื่องกล้อง CCTV สำคัญในเรื่องความปลอดภัยและจราจร ที่ผ่านมามีการลิงก์สัญญาณกล้องไป บก.02 ประมาณ 80 กล้อง ปัจจุบันมีการเปิดให้ประชาชนขอภาพจากกล้องทางออนไลน์ได้ซึ่งมีคนขอภาพประมาณ 30% แต่ละเดือนมีคนขอภาพจากกล้อง CCTV ประมาณ 4,000 คน และกรุงเทพมหานครเสียค่าบำรุงรักษากล้อง CCTV ประมาณ 800 ล้านบาท ค่อนข้างสูง ต่อไปในปี 2567 จะทำเป็นรูปแบบ single command center รวมผู้ให้บริการกล้อง CCTV ที่มีอยู่ 6 ราย มาอยู่ด้วยกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและให้ประสิทธิภาพการรวมรวบข้อมูลของกล้องดีขึ้น รวมทั้งนำ Intelligent Traffic Management System (ITMS) มาใช้ร่วมกับ Area Traffic Control (ATC) ปัจจุบันการกดไฟจราจรต่างคนต่างกดไม่ได้ใช้ข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน การนำ ITMS มาใช้ร่วมกับ ATC เป็นการควบคุมสัญญาณไฟจราจรวงรอบใหญ่แทนการทำเป็นจุดก็จะส่งต่อการจราจรได้ดีขึ้น ตอนนี้มีทาง JICA มาช่วยทดสอบระบบ อาจทำให้การลงทุนถูกลงได้
• เล็งหารือรัฐบาลใหม่ดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเทาและสายสีเงิน เพื่อประโยชน์ของประชาชน
ส่วนเรื่องรถไฟฟ้ายังมีอีก 2 สาย ที่อยู่ในขั้นตอน คือ สายสีเทา เลียบทางด่วนประดิษฐ์มนูธรรม สายสีเงิน จากบางนาไปสุวรรณภูมิ มีการศึกษาแล้วและมีแนวคิดทำ PPP แต่ปรากฎว่าทำสำรวจทางการตลาดแล้ว กทม. ต้องออกเงินให้ภาคเอกชน สายสีเทาประมาณ 20,000 ล้านบาท สายสีเงิน ประมาณ 40,000 ล้านบาท ภาคเอกชนจึงจะสามารถดำเนินการได้ จึงเป็นข้อเสนอให้รัฐบาลใหม่หากสนใจทำ 2 โครงการนี้ก็เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับเอกชน โดยกทม.ก็พร้อมหารือโดยไม่มีข้อขัดข้อง เพราะ กทม. ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟฟ้า และเงินที่ต้องจ่ายไปมีภาระกิจอื่นที่ต้องทำ เช่น การศึกษา สาธารณสุข ความสะอาด ความปลอดภัย เป็นต้น
สำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียวปัจจุบันอยู่บางหว้า แต่มีเส้นราชพฤกษ์อยู่ตรงกลาง ถ้าสามารถขยายไปถึงตลิ่งชันได้จะสามารถรับประชาชนที่อยู่ตามแนวเส้นราชพฤกษ์เข้าสู่ระบบได้ จึงต้องมีการหารือกับกรมทางหลวงชนบทซึ่งเป็นเจ้าของเขตทางอีกครั้ง ต้องรอดูว่าสรุปอนาคตสายสีเขียวจะเป็นอย่างไร แต่เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
• ทบทวนแนวทางเดินรถ BRT คุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพ ให้บริการประชาชนได้มากขึ้น
ด้านรถ BRT จะหมดสัญญาในเดือนสิงหาคมปีนี้ ปัญหาคือผู้โดยสารไม่เยอะมาก จะทำยังไงให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อาจเพิ่มความถี่เพื่อทำให้ราคาลดลง อยู่ในนโยบายที่จะทบทวนว่าทำอย่างไรให้คุ้มทุน รถ BRT เป็นรูปแบบพิเศษคือ High Floor ต้องเทียบชานชาลาแล้วเปิดประตูขวาซึ่งจะอยู่คนละข้างกับรถเมล์ปกติ อาจให้ทบทวนเกี่ยวกับข้อจำกัดต่างๆ และพิจารณาความเหมาะสมว่าจะให้วิ่งเป็นรถเมล์ปกติและเพิ่มป้ายขึ้นตามสี่แยกให้คนขึ้นได้ง่ายขึ้น โดยให้ สจส.รีบหาข้อสรุปก่อนที่สัญญาจะหมดเพื่อจะได้มีแนวทางดำเนินการต่อไป
• ลดค่าใช้จ่ายเดินเรือคลองผดุงได้ราว 6 แสนบาทต่อเดือน เล็งเปิดเส้นทางใหม่ที่เหมาะสม
การเดินเรือคลองผดุงฯ ค่อนข้างดี หัวใจคือสามารถลดค่าใช้จ่ายจาก 2.4 ล้านต่อเดือน เหลือประมาณ 1.8 ล้านต่อเดือน ปัจจุบันผู้โดยสารประมาณ 450 คนต่อวัน ช่วงเช้าประมาณ 150 คน ส่วนหนึ่งก็มาจากท่าเรือเทเวศร์แล้วเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ตอนเย็นมีผู้โดยสารประมาณ 300 คน กลางวันแทบไม่มีผู้โดยสาร ส่วนวันเสาร์และอาทิตย์มีผู้โดยสารน้อย อนาคตให้ดูว่าถ้าเดินเรือถึงคลองบางลำพูเพื่อการท่องเที่ยวจะมีผู้โดยสารมากน้อยเพียงใด ซึ่งจากการทดลองวิ่งดูแล้วพบว่ามีวิวที่สวยงามและจุดท่องเที่ยวหลายจุด
ส่วนการเดินเรือคลองภาษีเจริญ กรุงเทพธนาคม (KT) เคยเดินเรือช่วงแรกที่ยังไม่มีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีผู้โดยสารอยู่บ้าง แต่พอรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเปิดทำให้คนใช้บริการลดลงเพราะรถไฟฟ้าอาจจะสะดวกกว่า อย่างไรก็ตามที่ปลายทางมีโรงเรียนอยู่ซึ่งอาจมีนักเรียนที่ใช้บริการ จึงให้สจส.ไปดูรายละเอียดอีกครั้ง รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการเดินเรือคลองลาดพร้าวและคลองประเวศบุรีรมย์เพิ่มเติม ว่าจะมีเอกชนสนใจเดินเรือหรือไม่
• รถ Feeder ทำได้ดี ประชาชนตอบรับ และอยากให้เพิ่มรถ
สำหรับรถ Feeder จาก กทม.2 ไปรถไฟฟ้า BTS ทำได้ค่อนข้างดี มีคนใช้ประมาณ 500 คนต่อวัน อีกเส้นคือ แอร์พอร์ตลิงค์ไปลาดกระบังมีคนใช้บริการประมาณ 1,000 คนต่อวัน และประชาชนอยากให้มีการเพิ่มรถ ส่วนเสาร์-อาทิตย์นำไปวิ่งตลาดน้ำตลิ่งชันมีคนใช้บริการหลักพันคนต่อวัน จึงอยากทำฟีดเดอร์เพิ่มขึ้น ขณะนี้เป็นการทดสอบเดินรถนำร่องจึงยังไม่มีการเก็บค่าโดยสาร ซึ่งในอนาคตถ้ามีเอกชนสนใจนำรถมาวิ่งก็จะช่วยขยายเส้นทางเพิ่มเติมต่อไปได้
นอกจากนี้มีแนวคิดในการเพิ่มเส้นทางจักรยาน ซึ่งไม่ได้เป็นเส้นทางหลักแต่ให้เป็น Feeder ปั่นออกจากบ้านไปขึ้นรถไฟฟ้า นั่งรถไฟฟ้ามาแล้วปั่นจักรยานกลับบ้าน ถ้าสามารถเชื่อมโยงจากบ้านมาถึงรถไฟฟ้าก็ทำให้คนเดินทางได้สะดวกขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นการใช้จักรยานในระยะทางยาวหรือระยะไกล แต่เป็นเพียงระยะสั้น ๆ และอาจหาชุมชนต่าง ๆ ร่วมพัฒนาให้จักรยานเป็นทางเลือกมากขึ้น อีกทั้งมีแนวคิดทำไบค์แชร์ริ่ง เป็นการใช้จักรยานร่วมกันคล้ายโครงการ “ปันปั่น”แต่ทำให้คล่องตัวขึ้น
● จัดทำศาลาที่พักผู้โดยสารมีหลังคาและแสงสว่าง 13 จุดนำร่อง
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เรื่องต่อมาคือเรื่องศาลาที่พักผู้โดยสาร เรามีป้ายรถเมล์ 5,000 จุด และมีศาลาที่พักผู้โดยสาร 2,200 จุด ซึ่งนโยบายจะมีการปรับปรุง โดยศาลาที่พักฯ ขนาดใหญ่ กทม.ได้ให้สิทธิไปกับป้ายโฆษณา 350 จุด ซึ่งทำเสร็จไปแล้ว ยังเหลือศาลาที่พักฯ ขนาดย่อยลงมาอีกประมาณ 2,000 จุด ขณะนี้ได้ออกแบบต้นแบบแล้ว โดยให้มีที่กันแดดและมีไฟฟ้าแสงสว่าง ปีนี้จะเริ่มทำต้นแบบ 13 จุด และดูว่าประชาชนชอบหรือไม่ หากผลตอบรับออกมาดี ปี 2567 จะตั้งงบเพิ่มเพื่อขยายผลต่อไป อย่างไรก็ตาม ได้กำชับ สจส. ว่าที่นั่งพักขอให้เป็นรูปแบบที่สามารถนั่งได้แต่นอนไม่ได้ ทั้งนี้ ในขั้นต้นจะเน้นให้มีหลังคาและไฟแสงสว่างก่อน ส่วนอนาคตก็อาจจะพัฒนาเพิ่มเติมให้มี wifi หรือมี GPS ติดตามรถเมล์ที่จะเข้าป้ายมา
● ทยอยเพิ่มกล้อง CCTV ทางม้าลาย- สะพานลอย รวม 2,000 จุด
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับเรื่องกล้อง CCTV ได้มีแผนเพิ่มจุดติดตั้งกล้องเพิ่มเติมประมาณ 2,000 จุด โดยจะทยอยติดตั้งบริเวณทางม้าลาย และสะพานลอย เพื่อเพิ่มความปลอดภัย นอกจากนี้ก็ยังมีบริเวณ Safety Zone ที่ทางตำรวจขอมาก็จะมีการติดตั้งกล้องเพิ่มเติมเพื่อขยายเครือข่ายเรื่องความปลอดภัย ขณะเดียวกันได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อใช้ตรวจการกระทำผิดกฎหมายได้อัตโนมัติ เช่น รถจอดเกินเวลาที่กำหนด จอดค้างตามจุดจอดต่าง ๆ ก็จะมีแนวทางที่นำข้อมูลจากภาพมาใช้ประโยชน์มากขึ้น
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเสริมด้วยว่า ปัจจุบันข้อมูลภาพที่ได้จากกล้องไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์เชิงลึก แต่เทคโนโลยีนั้นก้าวไปแล้ว คือสามารถใช้ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ได้ ซึ่งจะเริ่มเอาซอฟต์แวร์เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลให้ละเอียดขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพของการใช้งานให้ตอบโจทย์มากขึ้น เป็นการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนมาก ซึ่งสอดคล้องกับอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องรถติดที่ประชาชนบ่นเยอะ สำหรับบนถนนเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ดูแล ส่วนกทม.ดูแลทางเท้าและข้อมูลต่าง ๆ โดยปัจจุบันเรามีการวิเคราะห์จุดฝืด พบอยู่ประมาณ 80 จุด ซึ่งคงต้องมาเร่งรัดร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด โดยจะนำกล้อง CCTV เป็นเครื่องมือหนึ่งในการตรวจจับ เชื่อว่าหากเรากำจัดจุดฝืดเหล่านี้และทำให้รถผ่านคล่องขึ้นได้ ก็จะช่วยบรรเทาการจราจรไปได้ ซึ่งก็เป็นนโยบายหนึ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่
● สร้างขวัญกำลังใจ ให้ความสำคัญ ผ่านมื้อกลางวันกับตัวแทน สจส.
วันเดียวกันนี้ เวลา 12.00 น. ก่อนการประชุมรับฟังการดำเนินงานของสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมรับประทานอาหารกับตัวแทนข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานครของ สจส. ที่ได้รับคัดเลือกว่าเป็นผู้มีความขยัน ตั้งใจทำงาน และมีจิตสาธารณะ จำนวน 5 คน ได้แก่ นางสาวนัยเนตร เทียนเสม เจ้าหน้าที่ธุรการ ลูกจ้างชั่วคราวกองบังคับการตำรวจจราจร (ช่วยปฏิบัติงาน ที่สำนักการจราจรและขนส่ง) นายภาณุพงศ์ เย็นฉ่ำ วิศวกรโยธาปฏิบัติการ กลุ่มงานวางแผนและออกแบบ 2 ส่วนออกแบบระบบการจราจร สำนักงานวิศวกรรมจราจร นายชิษนุพงศ์ อัศววงศ์เจริญ ลูกจ้างประจํา ตำแหน่งพนักงานทั่วไป บ 2 นายจิตติวัฒน์ ท้วมสมวัฒน์ ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ และนายพีระพัฒน์ ภาสบุตร ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ โดยเมนูอาหารวันนี้มีข้าวผัดน้ำพริกลงเรือปลาดุกฟูไข่เค็ม ข้าวผัดมันกุ้งกุ้งสด พร้อมต้มยำเห็ดน้ำข้น และผลไม้ตามฤดูกาล
สำหรับแนวความคิดในการรับประทานอาหารร่วมกันเกิดขึ้นโดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ ในการประชุมผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะสำนักงานเขต เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 65 และได้เริ่มกิจกรรมนี้ครั้งแรกในการสัญจรเขตจตุจักรเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค. 65 เป็นต้นมา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำการให้ความสำคัญกับผู้ปฏิบัติงานทุกระดับอย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยระหว่างรับประทานอาหารผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะได้พูดคุย สอบถาม และรับฟังปัญหาทั้งเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เสนอแนะในเรื่องต่าง ๆ กับผู้ว่าฯ ด้วยตัวเอง เพื่อจะได้หาแนวทางในการสนับสนุน ช่วยเหลือ รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและแรงบันดาลใจในการทำงานต่อไป