Flag
สำรวจการจัดเก็บภาษีเขตบางเขน ผุด Hawker Center รามอินทรา 2 สร้างต้นแบบแยกขยะระดับเขต ชมคัดแยกขยะชุมชนอุ่นจิตร รามอินทรา 35

สำรวจการจัดเก็บภาษีเขตบางเขน ผุด Hawker Center รามอินทรา 2 สร้างต้นแบบแยกขยะระดับเขต ชมคัดแยกขยะชุมชนอุ่นจิตร รามอินทรา 35 เช็กค่าฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนน่ำเฮงคอนกรีต ส่องสวน 15 นาทีถนนเทพรักษ์พร้อมปลูกต้นทองอุไร 

 

(21 มี.ค.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางเขน ประกอบด้วย

 

 

ติดตามการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 79,075 แปลง สำรวจแล้ว 73,882 แปลง คงเหลือ 5,193 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 79,974 แห่ง สำรวจแล้ว 74,742 แห่ง คงเหลือ 5,232 แห่ง ห้องชุด 35,289 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 194,338 รายการ สำรวจแล้ว 183,913 รายการ คงเหลือ 10,425 รายการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA TAX) ในการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลผู้เสียภาษี ขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบการชำระภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566 รวมถึงสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี ตลอดจนให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและคำแนะนำในการจัดเก็บภาษีรายได้ การคัดแยกจดหมายเซ็นรับที่ตีกลับมาเขตฯ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่กำหนด

 

 

ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ Hawker Center บริเวณหลังสำนักงานเขตบางเขน รามอินทรา 2 ที่ผ่านมา เขตฯ ได้สำรวจและพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ เป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ Hawker Center จำนวน 2 จุด ได้แก่ หน้าวัดไตรรัตนาราม รามอินทรา 8 ผู้ค้า 65 ราย และบริเวณหลังสำนักงานเขตบางเขน รามอินทรา 2 ผู้ค้า 10 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 67 ราย ได้แก่ 1.ถนนเทพรักษ์ ผู้ค้า 11 ราย 2.ซอยรามอินทรา 14 ผู้ค้า 27 ราย 3.สวนรักษ์ธรรมชาติ ผู้ค้า 29 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่

 

 

ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตบางเขน มีข้าราชการและบุคลากร 771 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล กิจกรรมรับซื้อขยะเขตบางเขน กิจกรรมการคัดแยกขยะที่สามารถนำมารีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ 2.ขยะอินทรีย์ กิจกรรมเศษอาหารจากเจ้าหน้าที่ในเขตฯ ทั้ง 10 ฝ่าย เพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ กิจกรรมทำน้ำหมักชีวภาพ กิจกรรมไม่เทรวม 3.ขยะอันตราย กิจกรรมเชิญชวนทิ้งขยะในถังสีแดง ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บเดือนละ 1 ครั้ง 4.ขยะทั่วไป กิจกรรมเชิญชวนทิ้งขยะในถังสีน้ำเงิน ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 180 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 160 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 21 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 18 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1.5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน

 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนอุ่นจิตร ซอยรามอินทรา 35 พื้นที่ 70 ไร่ ประชากร 388 คน บ้านเรือน 156 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ กิจกรรทำปุ๋ยหมักจากใบไม้แห้ง กิจกรรมทำน้ำหมักชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล กิจกรรมลดการสร้างขยะในชีวิตประจำวัน กิจกรรมนำกลับมาใช้ซ้ำ (ใช้แล้วใช้อีก) กิจกรรมการคัดแยกขยะที่สามารถนำมารีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ 3.ขยะทั่วไป กิจกรรมเชิญชวนทิ้งขยะในถังสีน้ำเงิน เขตฯ จัดเก็บสัปดาห์ละ 2 วัน 4.ขยะอันตราย กิจกรรมเชิญชวนทิ้งขยะในถังสีแดง เขตฯ จัดเก็บเดือนละ 1 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 383 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 293 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 17.1 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 11.3 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 1.5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1.6 กิโลกรัม/วัน

 

 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูน บริษัท น่ำเฮงคอนกรีต (1992) จำกัด ถนนสุขาภิบาล 5 ซอย 13 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการตรวจสอบเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำให้สามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณโดยรอบแพลนท์ปูนตลอดเวลา ปรับปรุงบ่อล้างล้อรถโม่ปูนก่อนออกจากแพลนท์ปูน ล้างทำความสะอาดพื้นภายในแพลนท์ปูน ตรวจสอบรางระบายน้ำไม่ให้อุดตัน เพื่อให้น้ำไหลลงไปยังบ่อคายกากคอนกรีตได้สะดวก นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทแพลนท์ปูน/ตรวจวัดควันดำ ประเภทสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

เยี่ยมชมสวน 15 นาที บริเวณปากซอยเทพรักษ์ 48/1 สวนหย่อมข้างหมู่บ้านศุภาลัย ถนนเทพรักษ์ พื้นที่ 3 งาน ที่ผ่านมา เขตฯ ได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยได้รับการสนับสนุนต้นไม้จากภาคเอกชนในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดทำทางเดิน ลานออกกำลังกาย พัฒนาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้ปลูกต้นทองอุไร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวบริเวณสวนดังกล่าว

 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางเขน สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดลัอม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี #เศรษฐกิจดี

—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200