
(15 ก.ค. 68) นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม” ของกรุงเทพมหานคร สำหรับบ้านพักอาศัย หมู่บ้านจัดสรร อาคารชุดพักอาศัย และชุมชน เพื่อเป็นแนวทางการเตรียมความพร้อมก่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ ตามร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. …. โดยมี นายทศพล สุภารี รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางนทีทิพย์ จึงสมประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม ผู้แทนฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ และเจ้าหน้าที่จัดเก็บค่าธรรมเนียม (Handheld Computer) จากสำนักงานเขต 50 เขต ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่เขต ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง และผ่านระบบออนไลน์
ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม: แยกขยะลดค่าธรรมเนียม” เป็นโครงการที่จะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 68 นี้ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ได้แถลงข่าวนับถอยหลัง 80 วัน เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมใหม่ไปเมื่อวานนี้ (14 ก.ค.68) เป็นการปรับครั้งใหญ่ในการส่งเสริมการแยกขยะในภาคประชาชน ไม่ใช่แค่การขอความร่วมมือ แต่เป็นการนำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เข้ามากระตุ้นการปรับพฤติกรรมของประชาชน สิ่งที่ ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำตลอด คือ การสร้างความเชื่อมั่นระหว่างภาครัฐ คือ กทม. กับประชาชน เพราะถ้าประชาชนไม่เชื่อมั่นก็จะไม่ให้ความร่วมมือ เรื่องนี้สำคัญมาก ๆ โครงการนี้แบ่งเป็น 3 ข้อใหญ่ ๆ ที่เราจะต้องเตรียมตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างแรก คือการให้ข้อมูลแก่ประชาชน ทั้งการรณรงค์เชิญชวนประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน BKK WASTE PAY ซึ่งยังมีคำถามอยู่ต่อเนื่อง 2. การจัดระบบเก็บขยะ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเห็นว่าเมื่อประชาชนแยกแล้ว เราไม่ได้มีการเทรวม ซึ่ง ผู้ว่าฯ กทม. เน้นส่งเสริมให้ประชาชนแยกขยะเศษอาหาร ที่แสดงให้เห็นขั้นตอนของการจัดเก็บ เก็บแล้วไปไหน มีที่ไปอย่างชัดเจน 3.ระบบแอปพลิเคชัน BKK WASTE PAY ซึ่งเป็นวาระที่จะพูดคุยในวันนี้ เพราะเป็นด่านแรกที่จะนำประชาชนเข้ามาร่วมโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม” โดยจะเริ่มให้ประชาชนส่งภาพการคัดแยกขยะ เข้าร่วมโครงการฯ ในแอปพลิเคชัน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 ก่อนจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ในเดือน ตุลาคม 68
สำหรับการประชุมวันนี้เป็นการเตรียมความพร้อม สร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ทั้ง 50 เขต ก่อนมีการบังคับใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมฯ ฉบับใหม่ เพื่อให้เข้าใจแนวทางและขั้นตอนการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม” รวมถึงเป็นพลังสำคัญที่จะทำความเข้าใจและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมมือลดและคัดแยกมูลฝอยจากแหล่งกำเนิด และลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะบ้านเรือนทั่วไปที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หากคัดแยกขยะตามเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกำหนด จะจ่ายค่าธรรมเนียมเท่าเดิมคือ 20 บาทต่อเดือน หากไม่มีการคัดแยกขยะ จะจ่ายค่าธรรมเนียม 60 บาทต่อเดือน ซึ่งประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนได้ 4 วิธี ได้แก่ 1. แอปพลิเคชัน BKK WASTE PAY 2. เว็บไซต์ BKK WASTE PAY 3. ติดต่อสำนักงานเขตที่มีทะเบียนบ้านอยู่ และ 4. ติดต่อเจ้าหน้าที่เก็บธรรมเนียม Handheld
ทั้งนี้ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมฯ (ฉบับใหม่) แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มที่มีขยะไม่เกิน 20 ลิตร/วัน ได้แก่ บ้านพักอาศัยทั่วไป คอนโดมิเนียม แฟลต หมู่บ้านจัดสรร หรือชุมชน หากไม่แยกขยะ จ่ายค่าธรรมเนียม 60 บาท/เดือน แยกขยะและลงทะเบียน ค่าธรรมเนียมลดเหลือ 20 บาท/เดือน 2. กลุ่มที่มีปริมาณขยะมากกว่า 20 ลิตร/วัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร/วัน ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ สถานประกอบการขนาดเล็ก ฯลฯ จ่ายค่าธรรมเนียม 120 บาทต่อ 20 ลิตร และ 3.กลุ่มที่มีปริมาณขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตร/วัน หรือเกิน 200 กิโลกรัม/วัน ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานประกอบการขนาดใหญ่ ฯลฯ จ่ายค่าธรรมเนียม 8,000 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร (ค่าเก็บขยะ 3,250 บาท และค่ากำจัดขยะ 4,750 บาท) หากมีการคัดแยกขยะ นอกจากจะทำให้ขยะลดลงแล้ว ยังทำให้จ่ายค่าธรรมเนียมน้อยลงอีกด้วย
#บ้านนี้ไม่เทรวม #แยกขยะจ่ายน้อยกว่า #แยก20ไม่แยก60 #BKKWASTEPAY
—– (ปชส.สสล.รายงาน)