Flag
สืบลึก เจาะเน้น ‘ต้นตอฝุ่น’ ฟันธง พ่นน้ำแก้ ไม่เวิร์ก! การบ้านโจทย์ยาก ‘รัฐบาลหน้า’

ศศวัชร์ คมนียวนิช

แก้ยาก จนต้องฝากถึงรัฐบาลหน้าให้ดูแลต่อเนื่องเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ สำหรับปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยืนยันว่า ‘เป็นเรื่องที่ กทม.ไม่เคยละเลย และเราก็ทำเต็มที่’

ล่าสุด 15 มีนาคมที่ผ่านมา ณ โรงเรียนวิชูทิศ เขตดินแดง กทม. จัดแถลงข่าว ข้อค้นพบจากนักสืบฝุ่นในประเด็นต้นตอที่แท้จริงของการเกิดฝุ่นในกรุงเทพฯ โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, รศ.ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที), พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. ด้านสิ่งแวดล้อม, ประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม โดยมี เอกวรัญญู อัมระปาล โฆษก กทม. จับไมค์ดำเนินรายการ

เผยให้เห็นต้นตอ ที่มา แนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาที่หลายภาคส่วนต้องจับมือร่วมด้วยช่วยกันนับจากนี้

‘เผาไหม้ชีวมวล’ ต้นตอหลัก อากาศไม่นิ่ง แนะกำหนด ‘ช่วงเวลาเผา’

ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า ต้นตอฝุ่นในช่วงนี้มาจากการเผาไหม้ชีวมวลจากภายนอก และลอยเข้ามาในกรุงเทพฯ เพราะในช่วงเวลานี้อากาศไม่นิ่ง จึงมีฝุ่นลอยเข้ามาในช่วงกลางวันและจมตัวลงในช่วงเวลาเย็นถึงค่ำ เมื่อบวกกับฝุ่นที่มีในกรุงเทพฯเองมาจากการจราจร ทำให้เห็นตัวเลขของฝุ่นขึ้นไปแตะสูงมาก โดยการแก้ไขปัญหาการเผาไหม้ที่อยู่ข้างนอกจะต้องลดลงให้ได้ เดิมใช้มาตรการห้ามเผาแต่ก็มีการเลี่ยงไปเผาได้ช่วงอื่น จึงต้องชั่งน้ำหนักว่าจะใช้วิธีการห้ามเผา หรือกำหนดช่วงเวลาในการจัดการแทน เช่น การกำหนดช่วงเวลาที่เผาได้และช่วงเวลาที่ห้ามเผา ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการจัดการที่ดีที่สุดที่ให้ชาวบ้านอยู่ได้ ในขณะเดียวกันฝุ่นก็ต้องไม่กระทบกับภาพรวมด้วย

“กทม.ส่งข้อมูลฟิลเตอร์การวัดฝุ่น พบว่าองค์ประกอบทางเคมีสารโพแทสเซียมจะพบมากในช่วงที่ฝุ่นเยอะ ซึ่งมาจากการเผาชีวมวล ส่วนช่วงที่ฝุ่นน้อยสารโพแทสเซียมจะมีไม่เยอะ ซึ่งผลออกมาตรงกันกับการเก็บตัวอย่างที่ KU Tower ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ย้อนหลังกลับไปพบว่า ฝุ่นมาจากตอนเหนือของประเทศกัมพูชา มาพร้อมกับฝุ่นในประเทศทางทิศตะวันออกพัดเข้ามาในกรุงเทพฯ ทำให้ฝุ่นมีปริมาณเข้มข้นสูง” ผศ.ดร.สุรัตน์กล่าว

ส่วนเรื่อง “มาตรการการเก็บภาษี” ผศ.ดร.สุรัตน์บอกว่า เป็นเรื่องที่พยายามคุยกัน แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์มีขั้นตอนในการทำมาตรฐานที่จะนำเรื่องของการเผาเข้าไปคิด ที่ทำได้ง่ายคือเรื่องของการเผาอ้อย ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้วบางส่วนเกี่ยวกับการไม่รับซื้ออ้อยที่มาจากการเผา สามารถทำได้และช่วยลดการเกิดฝุ่นละอองได้

“ที่ผ่านมาความพยายามของประเทศไทยโดยหน่วยงานรัฐ จะเห็นได้ว่าดูดีขึ้นมากจากฮอตสปอตที่เกิดขึ้น แต่ฮอตสปอตที่เกิดขึ้นนอกประเทศไทยอยู่นอกเหนือการควบคุมที่จะสามารถเข้าไปจัดการได้ ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ อาเซียน และหลายองค์กรร่วมมือกัน บางครั้งอาจไปบังคับเขาไม่ได้แต่ต้องมีมาตรการจูงใจ ซึ่งต้องลองไปพิจารณาว่าจะต้องทำอย่างไร” ผศ.ดร.สุรัตน์กล่าว

เปิดผลวิจัย ‘ฉีดน้ำ’ ลดได้แค่ฝุ่นขนาดใหญ่ กางตัวเลข ‘แหล่งกำเนิดฝุ่น’ สอบตกคิวซี!

ด้าน รศ.ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวว่า ผลการวิจัยการฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อลดฝุ่น ที่โรงเรียนวิชูทิศ โดยก่อนหน้านี้ ผู้ว่าฯชัชชาติ ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่น PM2.5 และเครื่องพ่นละอองน้ำ บนอาคารเรียนโดยรอบ และจะเปิดละอองฝอยน้ำทุกๆ 1 ชั่วโมง และปิด 1 ชั่วโมง ผลสรุปการเปิดระบบฉีดละอองน้ำต่อความเข้มข้น PM2.5 ตั้งแต่ วันที่ 18 ก.พ.-7 มี.ค.66 พบว่าค่าฝุ่นลดไปเพียง 1-2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ต่อวันเท่านั้น การฉีดละอองน้ำจากอาคาร สามารถลดปริมาณของฝุ่นขนาดใหญ่ที่เข้าสู่อาคารได้ แต่ในส่วนของการจัดการฝุ่นขนาดเล็กภายในอาคารต้องใช้รูปแบบอื่นประกอบด้วย เช่น เครื่องฟอกอากาศ และเครื่องปรับอากาศ

“ส่วนการฉีดน้ำล้างถนน จะช่วยลดฝุ่นที่เคยตกลงมาแล้วครั้งนึง ไม่ให้ฟุ้งกระจายขึ้นมาอีกครั้งได้ และเมื่อฉีดน้ำแล้ว ต้องกวาดน้ำนั้นลงท่อ

ระบายน้ำทันที ไม่ควรปล่อยให้พื้นถนนแห้งเอง เพราะฝุ่นอาจจะกลับมาเหมือนเดิม” รศ.ดร.เอกบดินทร์กล่าว

ขณะที่ ประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการ สำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กทม.ได้ตรวจสอบแหล่งกำเนิดฝุ่น ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 จนถึง 14 มี.ค.66 พบสถานประกอบการโรงงาน มีจำนวน 1,052 แห่ง ดำเนินการตรวจสอบ 6,081 ครั้ง ไม่ผ่านและสั่งให้แก้ไขปรับปรุง 8 แห่ง / แพลนต์ปูน หรือโรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ 133 แห่ง ดำเนินการตรวจสอบ 793 ครั้ง ไม่ผ่านและต้องแก้ไข 17 แห่ง / สถานที่ก่อสร้างที่ตรวจโดยสำนักงานเขตมีจำนวน 277 แห่ง ไม่ผ่านและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 27 แห่ง ตรวจโดยสำนักการโยธา 399 แห่ง ไม่ผ่านและสั่งปรับปรุงแก้ไข 1 แห่ง / พื้นที่ถมดิน หรือท่าทราย มีจำนวน 9 แห่ง / ตรวจควันดำในสถานที่ต้นทาง 1,746 คัน ไม่ผ่าน 14 คัน / ตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ เรียกตรวจสอบ 60,270 คัน ถูกออกคำสั่งห้ามใช้ไป 1,265 คัน / ตรวจรถโดยสารทั้งประจำทาง และไม่ประจำทาง โดยกรมการขนส่งทางบก เลขตรวจสอบ 12,975 คัน ห้ามใช้ 57 คัน และตรวจสอบรถบรรทุก 42,755 คัน ห้ามใช้ 220 คัน

กระซิบรัฐบาลหน้า ไฮไลต์ ‘แผนจัดการฝุ่นแห่งชาติ’ฝากพิจารณา ‘ย้ายท่าเรือคลองเตย’

มาถึง พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. ซึ่งกล่าวว่า องค์ประกอบฝุ่นในกรุงเทพฯ จาก 90 มคก./ลบ.ม. พบว่า 30 มคก./ลบ.ม. แรก มาจากการจราจร 30 มคก./ลบ.ม. ต่อมา มาจากสภาพอากาศ และ 30 มคก./ลบ.ม. สุดท้าย มาจากการเผาชีวมวล ซึ่ง กทม.พยายามทำตามอำนาจหน้าที่ที่มีอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การตรวจต้นตอฝุ่นและคุมเข้ม ป้องกันสุขภาพ แจ้งเตือนประชาชน โดยในครั้งนี้มีช่องทางเพิ่มขึ้นอีกหลายช่องทาง มีการร่วมกับ LINE alert ให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลแจ้งเตือนไปง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น การแจ้งเตือนผ่านทาง Facebook การพยากรณ์เกี่ยวกับฝุ่นทุกวัน มีการเปิดคลินิกฝุ่นเพื่อให้บริการกับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยมี ผู้เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

“เมื่อกลับมาดูแหล่งกำเนิดสำคัญ มาจากการจราจรและยานพาหนะซึ่งอยู่ในส่วนของ 30 มคก./ลบ.ม.แรก เป็นเรื่องที่ กทม.ทำโดยลำพังไม่ได้ จะต้องมีภาคีที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งแผนวาระแห่งชาติการจัดการมลพิษทางอากาศ ได้ระบุไว้ชัดเจนว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่เกี่ยวข้อง โดย กทม.พร้อมที่จะประสานเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา”

พรพรหมย้ำว่า กทม.ต้องฝากถึงรัฐบาลถัดไปในการให้ความสำคัญกับแผนจัดการฝุ่นแห่งชาติ ซึ่งควรต้องเน้นในประเด็นต่างๆ อาทิ เน้นเรื่องภาคการเกษตร (การเผาชีวมวล) การจราจร การพิจารณาพื้นที่ Low Emission Zone การย้ายท่าเรือคลองเตย เป็นต้น

“ขณะนี้ทางพรรคการเมืองต่างๆ ได้เปิดนโยบายเรื่องฝุ่น PM2.5 ทางสื่อสาธารณะอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะสอดคล้องกับที่ กทม.เสนอ 2-3 เรื่องหลักที่ต้องให้ความสำคัญ จึงได้ฝากไปถึงรัฐบาลชุดหน้าในการเข้ามาผลักดัน” ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม.กระซิบดังๆ

นับเป็นโจทย์ที่แก้ไม่ง่าย แต่ต้องทุ่มสรรพกำลังทั้งบุ๋นและบู๊สู้ฝุ่น PM2.5 ในฐานะวาระแห่งชาติ เพื่อสุขภาพคนไทยที่ไม่ย่ำแย่ลงไปกว่านี้

ชัชชาติ สารพัดแอ๊กชั่น

นักเศรษฐศาสตร์ ยัน ห้ามรถวิ่ง ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’

กล่าวได้ว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ออกหมัดฟัดกับฝุ่น PM2.5 สารพัดวิธี ที่สำคัญคือการทุ่มวิจัยจริงจังให้รู้ต้นตอ และวิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยเผยผลการวิเคราะห์ฝุ่นในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่าฝุ่นน้อยกับฝุ่นมากมีสารต่างกัน โดยการนำเอาละอองฝุ่นมาวิเคราะห์ ซึ่งละอองฝุ่นจะมีสารอยู่ หากพบว่าในช่วงฝุ่นน้อย จะมีสารไนโตรเจนเยอะ แสดงว่ามาจากควันรถยนต์ ในช่วงฝุ่นมากจะมี สารโพแทสเซียมเยอะ แสดงว่ามาจากการเผาชีวมวล

การดูแลช่วงฝุ่นจึงต้องดูให้ครบวงจร เพราะอย่างที่ทราบฝุ่นมาจาก 3 ส่วนคือ รถยนต์ การเผาชีวมวล และสภาพอากาศ เพราะฉะนั้น กทม.เองก็ต้องเน้นเรื่องรถยนต์ให้เข้มข้นขึ้น จึงได้เน้นย้ำให้ไปตรวจที่แหล่งกำเนิด เช่น อู่จอดรถเมล์ ที่จอดรถยนต์ แพลนต์ปูน ไซต์ก่อสร้าง

“ที่ผ่านมา กทม.ทำเยอะ ตรวจรถไปประมาณแสนคัน ดูแพลนต์ปูน ดูโรงงานต่างๆ และก็จะเห็นว่าการเผาชีวมวลในกรุงเทพฯน้อยลง อย่างไรก็ตาม พบจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นประมาณ 45% จากปีที่แล้วช่วงที่มีฝุ่นน้อย เราก็มีการให้บริการศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลต่างๆ มีการแจกหน้ากากอนามัยไปประมาณกว่า 600,000 ชิ้น มีการทำห้องปลอดฝุ่นในศูนย์เด็กเล็ก ส่วนโรงเรียนเน้นให้ใส่หน้ากากและลดกิจกรรมกลางแจ้งลง ส่วนการ Work from Home คงดูจังหวะตามความรุนแรงอีกครั้ง” ชัชชาติกล่าว

เมื่อถามว่า กทม.จะมีมาตรการห้ามรถยนต์วิ่งเข้าบางพื้นที่ในกรุงเทพฯหรือไม่?

ชัชชาติตอบว่า ปัจจุบันการจำกัดไม่ให้รถเข้าพื้นที่เป็นอำนาจของตำรวจจราจร จึงเป็นแผนศึกษาให้สำนักสิ่งแวดล้อมสรุป แล้วถ้าจะบังคับเหมือน ที่ลอนดอนใช้ เป็น Low Emission Zone ห้ามรถเก่าเข้าพื้นที่ จะมีข้อบังคับ อย่างไร

ส่วนการห้ามวิ่งรถเลยนั้น ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้มีการปรึกษากับ นักเศรษฐศาสตร์ ก็มีข้อแนะนำว่าอาจจะได้ไม่คุ้มเสียในแง่ของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมา หรือจากการสังเกตหากลดปริมาณการใช้รถยนต์ลงแต่การเผาชีวมวลยังเยอะอยู่ ก็อาจไม่ได้ช่วย

“อย่างเช่น ช่วงเสาร์อาทิตย์ที่จำนวนรถน้อยแต่บางครั้งค่าฝุ่นก็ยังสูง เพราะฉะนั้นการจะออกมาตรการอะไรก็ต้องดูให้ละเอียดว่าที่สุดแล้วมันได้ผลคุ้มกับที่ดำเนินการหรือไม่ จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมเราจึงทำโครงการนักสืบฝุ่นทำวิจัยอย่างละเอียด เพื่อให้เห็นว่าฝุ่นมาจากไหน จะทำให้เราตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาได้” ผู้ว่าฯกทม. ทิ้งท้าย

 

บรรยายใต้ภาพ

เครื่องมือมาตรฐานตรวจวัดค่า PM2.5 พร้อมเซ็นเซอร์วัดทิศทางลม โดยใช้หลักการแสงส่องผ่าน เพื่อระบุปริมาณความเข้มของฝุ่น รายชั่วโมง ออกมาเป็นจุดสี

เขตดินแดงล้างถนนในกิจกรรม Big cleaning บริเวณถนนมิตรไมตรี

เอกบดินทร์ วินิจกุล ชี้ พ่นน้ำลดฝุ่นใหญ่ได้ แต่ไม่ลดฝุ่นจิ๋วในตึก

นักสืบฝุ่น ล้อมวงสืบต้นตอที่แท้จริงของ PM2.5 ใน กทม. (จากซ้าย) ประพาส เหลืองศิรินภา, สุรัตน์ บัวเลิศ, เอกบดินทร์ วินิจกุล และพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์

ทดลองสเปรย์น้ำเทียบค่าฝุ่น บนอาคารโรงเรียนวิชูทิศ เมื่อวันที่ 15 มี.ค.

ตรวจควันดำ รถเมล์ กทม.

 

 

ที่มา:  นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 18 มี.ค. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200