นายช่าง
จากรายงานของ TDRI และสถาบันเพื่อการพัฒนาร่วมกันกับองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นไทย ระบุถึงอุปสรรคของงาน ขออนุญาตก่อสร้างอาคารใน กทม. รวมทั้งเสนอการแก้ปัญหา ซึ่ง ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเห็นด้วย และจะมีการว่าจ้างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิธีการหรือกระบวนการที่จะแก้ปัญหาความล่าช้าในการขออนุญาตในการแก้ไขในเรื่องนี้ โดยหวังจะได้ผลสรุปในรายงานครั้งนี้ในเวลา 3 เดือน
จริงๆ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่เป็นปัญหา อย่างเดียวกันทั้งประเทศ
ปัญหาหรือผลของการพิจารณาออกใบอนุญาตที่ล่าช้านั้นน่าจะมาจากสาเหตุ 2 ประการ
1.การใช้หรือตีความในการปฏิบัติการในการอนุญาตจาก ข้อกำหนดกฎหมายเพื่อทำให้เกิดความล่าช้าในการออกใบอนุญาต เพื่อทำให้ผู้ขออนุญาตก่อสร้างจ่ายเงินใต้โต๊ะ เพื่อเร่งรัดการให้อนุญาตด้วยความรวดเร็ว ซึ่งก็คือการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ หรือจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาอนุญาต และ
2.เกิดจากความไม่แน่ใจในการจะตีความถ้อยคำทางกฎหมายอันอาจทำให้เกิดปัญหาที่อาจจะถูกกล่าวหาว่าใช้กฎหมายด้วยความประมาทเลินเล่อ ทำให้เสียหายต่อทางราชการอันมีผลต่อความก้าวหน้าในชีวิตราชการ
หากจะลดปัญหาที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการให้อนุญาตก่อสร้างนั้น จะต้องลดปัญหาอันเกิดจากความซับซ้อน ซ้ำซ้อน ความไม่ชัดเจนในถ้อยคำทางกฎหมาย กฎกระทรวงให้ถูกต้องตามที่ TDRI เสนอนั้นคงไม่อาจดำเนินการได้โดยรวดเร็วตามความประสงค์ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
เพราะการจะแก้ไขกฎหมาย กฎกระทรวงนั้น บรรดาข้อกำหนดต่างๆ ที่ตราออกมาเป็นข้อบังคับข้อกำหนดนั้นมีมากมายนักการจ้างคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ศึกษาให้แล้วเสร็จใน 3 เดือนคงไม่พอ
อีกทั้งข้อกำหนดข้อบังคับทางกฎหมายเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องแปลความไปในทางกายภาพ รูป ขนาด และทางการใช้ประโยชน์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่น่าที่นักกฎหมายทั่วไปจะตีความถ้อยคำในเรื่องนั้นๆ ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการตรากฎระเบียบ
รวมทั้งบรรดาความซับซ้อนและซ้ำซ้อนของข้อกำหนดกฎหมายต่างๆ เหล่านั้น ก็อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการ กระทรวง ทบวง กรม กันหลายแห่งหลายที่
หากจะแก้ไขให้รวดเร็วและยั่งยืน มีข้อเสนอ 3 ขั้นตอน จากภาคเอกชนจริงที่มาจากประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพอิสระทั้งสถาปนิก วิศวกร ผู้รับจ้างเหมา และผู้ประกอบการ
ขั้นตอนแรก ใช้บทบัญญัติที่มีอยู่ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันผ่านการตรวจสอบ ควบคุมวิธีการและเงื่อนไขของเวลากันอย่างเคร่งครัด
ขั้นตอนที่ 2 นำบทบัญญัติทางกฎหมายหรือกฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่สำหรับกทม. หรืออำนาจส่วนท้องถิ่นที่ควบคุมจัดการได้มาจัดระบบกันใหม่
ขั้นตอนที่ 3 คณะปฏิรูปกฎหมายแห่งชาติต้องยกเรื่องปัญหานี้มาจัดการ เพราะอำนาจท้องถิ่นไม่อาจแก้ไขอะไรได้เลย
เสาร์หน้าจะขอยกรายละเอียดในการปรับปรุงในเรื่องแก้ไข ขั้นตอนที่หนึ่งมาเสนอโดยละเอียด
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 18 มี.ค. 2566