กทม.-ปริมณฑลและ 17 จังหวัดภาคเหนือจมฝุ่นพิษ ‘บิ๊กป๊อก’ เล็งกทม.เวิร์กฟรอมโฮมตามไอเดียผู้ว่าฯ ชัชชาติ หวังลดปริมาณรถยนต์ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นเตรียมออกมาตรการให้หน่วยงานราชการทำงานที่บ้าน เชียงใหม่ฝุ่นคลุ้งทั่วเมือง ค่ามลพิษพุ่งยึดอันดับ 1 โลก นายกสมาคมโรงแรมรับสถานการณ์หนักจริงแต่แค่ชั่วคราว ยันไม่กระทบการท่องเที่ยว เมืองปาย แม่ฮ่องสอน ฝุ่นพิษสูงสุดในไทย อีสานเกินค่า 11 จังหวัด พะเยายังวิกฤตจากไฟป่า อ่างทองหมอกควันปกคลุมทั่วเมือง เมือง กาญจน์ทำฝนหลวงคลี่คลายสถานการณ์ สั่งปิดพื้นที่อุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ 89 แห่ง ป้องกันภัยพิบัติจากไฟป่า
ฝุ่นคลุ้งหลายพื้นที่ระดับส้ม-แดง
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี วันที่ 10 มี.ค. 2566 ไทยพบจุดความร้อน จำนวน 1,585 จุด ในขณะที่เมียนมาสูงสุดจำนวน 7,239 จุด ลาว 3,358 จุด กัมพูชา 1,657 จุด เวียดนาม 811 จุด และมาเลเซีย 14 จุด สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทยส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 581 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 444 จุด พื้นที่เกษตร 249 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 177 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 118 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 16 จุด ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือกาญจนบุรี 193 จุด
สำหรับค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จากการตรวจสอบจากแอพพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” เวลา 10.00 น. วันเดียวกัน พบว่าหลายพื้นที่ของประเทศอยู่ในระดับสีส้มและสีแดง เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดและมีผลต่อสุขภาพ อาทิ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ตาก น่าน พะเยา ลำพูน ลำปาง เลย ในขณะที่ทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานครอยู่ระดับปานกลางจนถึงเริ่มมีผลต่อสุขภาพโดยเฉพาะเขตบึงกุ่ม ทั้งนี้ สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิดค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่พัดผ่านเข้ามา ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของประเทศโดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะใช้ระบบ THEOS-2 เต็มรูปแบบ หนึ่งในภารกิจสำคัญของระบบนี้คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ทันท่วงทีและแม่นยำ
เมืองปายฝุ่นพิษพุ่งสูงสุด
เวลา 12.00 น. วันเดียวกัน ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศพื้นที่ทั่วประเทศ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพดีมากถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 พบค่าฝุ่นระหว่าง 11-156 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.)
ภาคเหนือ ตรวจวัดค่าฝุ่นระหว่าง 67-156 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐานใน 17 จังหวัด รวม 32 พื้นที่ พบเป็นพื้นที่สีแดง (กระทบต่อสุขภาพ) 19 พื้นที่ ได้แก่ ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย ค่าฝุ่น 93 มคก./ลบ.ม., ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ค่าฝุ่น 120 มคก./ลบ.ม., ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ค่าฝุ่น 110 มคก./ลบ.ม., ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ค่าฝุ่น 100 มคก./ลบ.ม., ต.หางดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ค่าฝุ่น 122 มคก./ลบ.ม., ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ค่าฝุ่น 108 มคก./ลบ.ม., ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ค่าฝุ่น 99 มคก./ลบ.ม., ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง ค่าฝุ่น 97 มคก./ลบ.ม., ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน ค่าฝุ่น 96 มคก./ลบ.ม., ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน ค่าฝุ่น 103 มคก./ลบ.ม., ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน ค่าฝุ่น 102 มคก./ลบ.ม., ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ ค่าฝุ่น 98 มคก./ลบ.ม., ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา ค่าฝุ่น 101 มคก./ลบ.ม., ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ค่าฝุ่น 106 มคก./ลบ.ม., ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ค่าฝุ่น 109 มคก./ลบ.ม., ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย ค่าฝุ่น 136 มคก./ลบ.ม. ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ค่าฝุ่น 114 มคก./ลบ.ม., ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ค่าฝุ่น 105 มคก./ลบ.ม., ต.เวียงใต้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ค่าฝุ่น 156 มคก./ลบ.ม. ซึ่งมีค่าฝุ่นสูงสุดในไทย
อีสานเกินค่า 11 จังหวัด
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตรวจวัดค่าฝุ่นระหว่าง 49-136 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐานใน 11 จังหวัด รวม 11 พื้นที่ พบเป็นพื้นที่สีแดง 2 พื้นที่ ได้แก่ ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลย ค่าฝุ่น 128 มคก./ลบ.ม. และ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม ค่าฝุ่น 136 มคก./ลบ.ม. ภาคกลาง ตรวจวัดค่าฝุ่นระหว่าง 38-80 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐาน 9 พื้นที่ ภาคตะวันออก ตรวจวัดค่าฝุ่นระหว่าง 30-70 มคก./ลบ.ม. พบเกินมาตรฐาน 3 พื้นที่ ภาคใต้ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดีมากถึงคุณภาพดี
กทม.-17 จว.เหนือฝุ่นยังคลุ้ง
กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล วันที่ 12 มี.ค. 2566 อาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงในบางพื้นที่ หลังวันที่ 13 มี.ค. เป็นต้นไปสถานการณ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตามช่วงระหว่างวันที่ 15-18 มี.ค. เป็นช่วงควรเฝ้าระวังของพื้นที่เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองข้ามพื้นที่
สำหรับพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงในพื้นที่ภาคเหนือทั้งตอนบนและล่างระหว่างวันที่ 12-13 มี.ค. และวันที่ 16-18 มี.ค. ทั้งนี้ช่วงระหว่างวันที่ 12-13 มี.ค. มีโอกาสพบเจอฝนตกในบางพื้นที่ของภาคเหนือตอนบน รวมถึงกรุงเทพฯ ประชาชนทั่วไปควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากจำเป็น ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ สำหรับประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีแดง) ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้สามารถติดตามสถานการณ์ผ่านเว็บไซต์ Air4Thai.com, airbkk.com แอพพลิเคชั่น Air4Thai และ AirBKK
พะเยายังวิกฤตจากไฟป่า
สำหรับสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ จ.พะเยายังคงวิกฤตจากสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ต้องใช้กำลังเข้าควบคุมไฟป่า ส่งผลให้สถานการณ์หมอกควันในพื้นที่จ.พะเยา ยังคงเกินค่ามาตรฐาน ล่าสุดค่าหมอกควัน PM 2.5 อยู่ที่ 99 มคก./ลบ.ม. ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ PM 10 อยู่ที่ 126 มคก. และ AQI อยู่ที่ 209 มคก. ล่าสุดวานนี้พบการเกิดไฟป่าในพื้นที่จ.พะเยา รวม 42 ครั้ง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังสามารถจับกุม ผู้ลักลอบเผาป่าในพื้นที่ ต.งิม อ.ปง จ.พะเยา เป็นชายอายุ 63 ปี ที่เข้าไปหาของป่าและจุดไฟ นำตัวดำเนินคดี
อ่างทองหมอกควันปกคลุมทั่ว
ส่วนที่บ้านรอ ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.อ่างทอง ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในระดับสีแดงที่ 113 มคก./ลบ.ม. เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตามท้องถนนและกลางแม่น้ำจะพบเห็นหมอกควันปกคลุมไปทั่วพื้นที่เมืองอ่างทองบางๆ ถึงหนาจัดในบางช่วง ส่งผลให้ทัศนวิสัยการมองเห็นต่ำ เตือนผู้ใช้รถใช้ถนนควรระมัดระวัง ประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง เด็ก คนชรา หญิงมีครรภ์ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจและหลอดเลือดควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งทุกประเภท หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพรุนแรงควรปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้ทางจังหวัดอ่างทองประกาศขอความร่วมมือหยุดการเผาไหม้ในพื้นที่โล่งแต่ยังพบการเผาหญ้าและพื้นที่นาเป็นระยะ
มลพิษเชียงใหม่ขึ้นอันดับ 1 โลก
ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวจาก จ.เชียงใหม่ ว่าสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า และคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ยังคงมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง สภาพตัวเมืองปกคลุมด้วยฝุ่นควันหนาทึบจนไม่สามารถมองเห็นยอดดอย สุเทพจากระยะไกลเหมือนปกติ ทั้งนี้รายงาน ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศจังหวัดเชียงใหม่ จากสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ ใน ต.ช้างเผือก ต.ศรีภูมิ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม, ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว และ ต.หางดง อ.ฮอด พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เฉลี่ยในวันเดียวกันนี้อยู่ที่ 100 , 91 , 98 , 86 , 98 และ 127 มคก./ลบ.ม. ตามลำดับ ส่วนค่าดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ด้านเว็บไซต์ Iqair.com ซึ่งรายงานคุณภาพอากาศจากทั่วโลก แจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลก เมื่อเวลา 12.00 น. พบว่า จ.เชียงใหม่มีดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 191 US AQI และค่า PM 2.5 วัดค่าได้ 132.6 มคก./ลบ.ม. เกินค่ามาตรฐาน และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อ ทุกคน ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศดังกล่าวสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของเมืองหลักที่มีมลพิษอากาศสูงสุดของโลก โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เชียงใหม่ ประเทศไทย, อันดับ 2 เมืองแบกแดด ประเทศอิรัก และอันดับ 3 เมืองลอฮอร์ ประเทศปากีสถาน
นายกโรงแรมชี้ไม่กระทบเที่ยว
นายภูณัช ธนาเหล่าพานิช นายกสมาคมโรงแรมไทย (ภาคเหนือตอนบน) กล่าวว่า ยอมรับว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์ปัญหาคุณภาพอากาศของ จ.เชียงใหม่ ค่อนข้างรุนแรง อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อมูลการเข้าพักโรงแรมของสมาชิกเบื้องต้นพบว่ายังไม่มีผลกระทบจนถึงขั้นทำให้นักท่องเที่ยวยกเลิกการจองหรือเข้าพัก โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60 ถือว่าเป็นปกติและน่าพอใจ อาจมีการยกเลิกบางส่วนราวร้อยละ 5 แต่ไม่ได้เป็นผลมาจากสถานการณ์ปัญหาคุณภาพอากาศ สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปีและเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ท่องเที่ยวได้ปกติ เชื่อว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เข้าใจดี
ป๊อกเล็งกทม.เวิร์กฟรอมโฮม
วันเดียวกัน ที่ท่าอากาศยานกองบิน 6 (บน.6) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ไฟป่าว่า ได้ประชุมยกระดับการควบคุมปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ที่เกิดจากการเผาป่า รวมถึงพื้นที่ไร่นาต้องกวดขัน พื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องสุ่มตรวจ รวมถึงพื้นที่ก่อสร้าง หากพื้นที่ใดมีปริมาณฝุ่นจำนวนมากอาจมีมาตรการควบคุมการใช้ยานพาหนะ ซึ่งกำชับผู้ว่าราชการจังหวัดไปแล้ว ส่วนพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านพบการเผาวัชพืชในพื้นที่เกษตรเช่นเดียวกับไทย ในระดับพื้นที่มีการประสานกันอยู่แล้ว และจากการนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปตรวจราชการต่างจังหวัดกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ตลอดเส้นทางพบการเผาหลายจุดและยังเผากันอย่างต่อเนื่อง หากใช้มาตรการบังคับจะเกิดผลกระทบเพราะชาวบ้านยังต้องทำมาหากิน แต่จำเป็นต้องขอความร่วมมือให้หยุดเผา ส่วนพื้นที่ป่าต้องเข้มงวด เพราะยังมีการเผาทำลายจำนวนไม่น้อย ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีจะไปติดตามการแก้ปัญหาดังกล่าวที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 17 มี.ค. นี้ รวมถึง 9 จังหวัดในภาคเหนือ
รมว.มหาดไทย กล่าวว่าสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ อาจต้องใช้แนวทางที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เสนอไว้ในเชิงขอความร่วมมือ เช่น เวิร์กฟรอมโฮม เพราะเป็นพื้นที่ที่ใช้รถยนต์จำนวนมาก จะช่วยลดอย่างเห็นได้ชัด แต่ถ้าเลวร้ายกว่านี้ต้องมีมาตรการให้หน่วยงานราชการเวิร์กฟรอมโฮมเพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ ส่วนการเผาในพื้นที่โล่งจะอยู่บริเวณชายขอบกทม.เท่านั้น ซึ่ง ผู้ว่าฯ กทม.ดูแลอยู่แล้ว
ผู้ว่าฯชี้กทม.พุ่งติด 3 วัน WFH
ที่สำนักงานเขตธนบุรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่าฝุ่นมาจาก 3 ส่วน คือไอเสียรถยนต์ สภาพอากาศปิด และการเผาชีวมวล ถ้าสามปัจจัยนี้มาพร้อมกันจะทำให้ฝุ่นสูงเกือบ 100 มคก./ลบ.ม. การคาดการณ์ช่วงสัปดาห์หน้าลมทางทิศใต้จะพัดเข้ามาแรงขึ้น ไม่นำควันเผาชีวมวลจากทิศตะวันออกเข้ามา และสภาพอากาศเปิด จะทำให้สถานการณ์ฝุ่นในช่วง 4-5 วันนี้เบาบางลง โดย 7 วันหลังจากนี้สถานการณ์ฝุ่นจะดีขึ้น
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวต่อว่า กทม.\มีแผนดำเนินการหลักคือควบคุมควันดำจากรถยนต์และโรงงาน ซึ่งตรวจอยู่ต่อเนื่อง ทั้งยังกำชับไม่ให้มีการเผาในพื้นที่เขตหนองจอกและมีนบุรี ส่วนเรื่องรถยนต์ต้องควบคุมไอเสียจากรถยนต์ เรื่องนี้จะเป็นภาพรวมระดับประเทศ อาจจำกัดรถเก่าวิ่ง สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับผล กระทบจากฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคเยื่อบุตาอักเสบ โรคผื่นลมพิษ รวมไปถึงโรคเส้นเลือดในสมองตีบลง ช่วงปลายปีมีจำนวนผู้ป่วยเฉลี่ย 400 คนต่อวัน ขณะที่เดือนม.ค.-ก.พ. จำนวนสูงขึ้นอาจสูงถึง 700-800 คน ตัวเลขเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 45 กทม.ให้บริการที่ศูนย์สาธารณสุข และเปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ ขอความร่วมมือให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเพื่อช่วยกรองฝุ่น
ส่วนกรณีที่รมว.มหาดไทยขอความ ร่วมมือให้ทำงานที่บ้าน นายชัชชาติกล่าวว่า กทม.มีมาตรการอยู่แล้ว ถ้าค่าฝุ่นเกินมาตรฐานสามวันติดต่อกันจะประกาศให้ทำงานที่บ้าน แต่ในขณะนี้ยังไม่มีปัญหา แต่หาก รมว.มหาดไทยจะขอเป็นกรณีพิเศษก็ทำได้ สำหรับในวันที่ 12 มี.ค. ที่มีประกาศเรื่องพายุฤดูร้อน เท่าที่ดูเหมือนจะเป็นแค่จุดเดียวแต่ต้องระวังในสองมิติ คือความแรงลมซึ่งอาจเกิดต้นไม้หักล้มและเรื่องน้ำท่วม แต่ไม่น่าห่วงมากเนื่องจากพายุเข้าเพียงวันเดียว
เมืองกาญจน์ทำฝนหลวง
ที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จ.กาญจนบุรี นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและ พันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ จ.กาญจนบุรีว่า ตั้งแต่เกิดสถานการณ์ไฟป่าเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ มอบหมายให้ตนเข้ามาช่วยบัญชาการสนับสนุนการแก้ไขปัญหา โดยระดมสรรพกำลังไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ ดับไฟป่าของกรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ และชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่าของทั้ง 2 กรม ร่วมผนึกกำลังเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นและฝ่ายความมั่นคง จ.กาญจนบุรี วันเดียวกันนี้ค่อนข้างสบายใจว่าสถานการณ์คลี่คลายลงเยอะมาก จุดฮอตสปอตลดลงมาก แม้ว่าจะมีจุดสะสมค่อนข้างสูงในพื้นที่อุทยาน แต่ขณะนี้เขื่อนศรีนครินทร์เหลือ 14 จุด อุทยานฯ ไทรโยค 9 จุด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ 4 จุด อุทยานพื้นที่ข้างเคียงก็มีไม่มาก ไม่เกิน 5 จุด ถือเป็นเรื่องดีที่สถานการณ์คลี่คลายลงมาก อีกทั้งสภาพอากาศวันนี้มีความชื้นร้อยละ 60 เหมาะสมที่จะทำฝนหลวง วันนี้กรมฝนหลวงฯ จะเริ่มบินเข้ามาในพื้นที่ ถ้าทำฝนหลวงช่วยเชื่อว่าสถานการณ์จะยุติอย่างรวดเร็ว จะทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในพื้นที่หลังจากนักท่องเที่ยวลดลงไป ร้อยละ 30
จุดร้อนทั่วไทยสะสม 8 หมื่นจุด
นายอรรถพลกล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ไฟป่าทั่วประเทศว่า มีจุดฮอตสปอตสะสมประมาณ 8 หมื่นจุด เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ที่ จ.เชียงใหม่ ไล่ลงมาจนถึง จ.กาญจนบุรี และกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน โดยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 2.8 หมื่นจุด ป่าสงวน 2.1 หมื่นจุด ที่เหลืออีกประมาณ 2 หมื่นกว่าจุดอยู่ในพื้นที่เกษตรนอกเขตป่าและพื้นที่เกษตรในเขตป่า
“อิทธิพลหรือสาเหตุการเกิดไฟยังเป็นเรื่องการทำเกษตรในพื้นที่ป่า การเก็บหาของป่า การล่าสัตว์ การปศุสัตว์หรือเลี้ยงวัว ถือเป็นสาเหตุหลักที่เราต้องเอาจริงเอาจังและจัดระเบียบให้มากขึ้น แม้เราจะมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายแต่ในพื้นที่ป่าลึกเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ลักลอบได้ยาก และยังมีอีกสาเหตุหนึ่งคือหลังจากเจ้าหน้าที่เข้าปราบปรามและจับกุมการบุกรุกลักลอบทำไม้จะมีการจุดไฟกลั่นแกล้ง” นายอรรถพลกล่าว
ปิดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 89 แห่ง
นายอรรถพลกล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อตรวจสอบจุดความร้อนทั้งประเทศพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กรมอุทยานฯ จึงพิจารณาและเห็นควรว่าต้องปิดและควบคุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า) เพื่อป้องกันภัยพิบัติจากไฟป่าแล้ว 89 แห่ง โดยจะปิดไปจนกว่าสถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ จากนั้นจะเริ่มทยอยเปิดป่าอนุรักษ์ตามความเหมาะสม
“ในพื้นที่ภาคเหนือน่าเป็นห่วงเกือบทุกจังหวัด เพราะนอกจากมีจุดความร้อนในไทยแล้ว ประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดนด้วย ส่งผลให้ค่าฝุ่นสูงต่อเนื่อง จากสถิติจุดความร้อนในไทย ส่วนใหญ่พบในพื้นที่จ.กาญจนบุรี มากที่สุด เนื่องจากเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง เมื่อเกิดไฟป่าไฟจะคุกรุ่นนานและเป็นพื้นที่ภูเขาสูง ยากที่จะดับไฟทัน
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 12 มี.ค. 2566