กทม.ตรวจสอบสาเหตุรถขยะชนกัน – ติดตั้ง GPS ติดตามพฤติกรรมการขับขี่ กำชับใช้ความเร็วไม่เกินกฎหมายกำหนด
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุรถขยะ 2 คัน ชนกันบริเวณถนนอ่อนนุช ช่วงแยกประเวศ มุ่งหน้าสะพานข้ามคลองหนองบอน ปากซอยอ่อนนุช 84 ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ประเวศ ซึ่งเป็น สน.พื้นที่เกิดเหตุ เพื่อขอรับทราบรายละเอียดและสาเหตุการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งจากบันทึกประจำวัน ทราบว่าเมื่อวันที่ 3 พ.ย.65 เวลาประมาณ 04.40 น. เกิดอุบัติเหตุรถเก็บขนมูลฝอย 2 คัน เฉี่ยวชนพลิกคว่ำบนถนนอ่อนนุช ใกล้จุดกลับรถปากซอยอ่อนนุช 65 โดยเป็นรถบรรทุกขยะสีเหลืองของสำนักงานเขตปทุมวัน ส่วนอีกคันเป็นเก็บขนมูลฝอยสีเขียวของสำนักงานเขตคลองเตยเสียหลักพลิกตะแคงกีดขวางช่องทางซ้ายและช่องทางกลาง รถวิ่งได้ช่องทางขวาช่องทางเดียว และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย ภายหลังเกิดเหตุได้นำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลทันที จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทราบว่า พนักงานขับรถบรรทุกขยะคันสีเหลืองหลับในขณะขับขี่ ทำให้รถไปชนท้ายรถเก็บขนมูลฝอยสีเขียวที่กำลังหยุดรถ เพื่อกลับรถ
ทั้งนี้ สำนักสิ่งแวดล้อม ได้เช่ารถเก็บขนมูลฝอย เพื่อให้สำนักงานเขต นำไปใช้ปฏิบัติงานเก็บขนมูลฝอยในพื้นที่ โดยติดตั้งระบบติดตามยานพาหนะ (GPS) ทุกคัน เพื่อให้สำนักงานเขตสามารถตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถยนต์ได้เอง ส่วนสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ตรวจสอบระบบ GPS หากพบว่ารถเก็บขนมูลฝอย (รถเช่า) ใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดจะแจ้งสำนักงานเขตทราบและกำชับพนักงานขับรถยนต์ให้ขับขี่ด้วยความเร็วไม่เกินที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งได้มีหนังสือแจ้งสำนักงานเขต 50 เขต เพื่อกำชับพนักงานขับรถยนต์ขับขี่ด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด
กทม.พร้อมร่วมสนับสนุนการจัดงานกาชาด ปี 65
นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. กล่าวกรณีมีการเสนอข่าว กทม.ให้หน่วยงานในสังกัดสนับสนุนเงินและของรางวัลสำหรับการเล่นเกมในการออกร้าน “กรุงเทพมหานคร” ในงานกาชาดประจำปี 2565 ว่า การจัดงานกาชาดเป็นงานการกุศล เพื่อหารายได้โดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและ กทม.ได้ร่วมออกร้าน “กรุงเทพมหานคร” ในงานกาชาดมามากกว่า 25 ปี โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการในการจัดหาของขวัญและของรางวัล สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ในฐานะหน่วยงานผู้ดำเนินการออกร้าน “กรุงเทพมหานคร” จึงได้ขอความร่วมมือและขอรับการสนับสนุนของขวัญ ของรางวัลจากทุกหน่วยงานของ กทม.โดยมิได้มีการบังคับแต่อย่างใด อีกทั้งรายได้จากการจัดงานทั้งหมดได้นำส่งให้สภากาชาดไทยเป็นประจำทุกปี
ทั้งนี้ กทม.เป็นหน่วยงานสำคัญที่ให้การสนับสนุนการจัดงานกาชาดด้วยดีมาโดยตลอด นอกจากจะเป็นการสนับสนุนกิจการสาธารณกุศลของสภากาชาดไทยที่ให้การสงเคราะห์แก่ประชาชนทั่วไปแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการจับจ่ายใช้สอย และเป็นกิจกรรมที่ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจและเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก สร้างความเพลิดเพลิน และเป็นการพักผ่อนหย่อนใจในอีกรูปแบบหนึ่งที่มีคุณประโยชน์ รวมทั้งเป็นการสร้างสาธารณกุศลในเวลาเดียวกัน จึงถือเป็นภารกิจอย่างหนึ่ง ซึ่ง กทม.ควรให้การสนับสนุน
กทม.ประสานกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในคลองพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก
นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและการขุดลอกคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ ได้ติดตามสถานการณ์การระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก พร้อมประสานความร่วมมือกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตและคลองสาขาต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก โดยกรมชลประทานจะช่วยเร่งระบายน้ำจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น คลองเปรมประชากร ตอนบนใช้การสูบน้ำออกไปลงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา คลองหกวาสายล่างระบายน้ำลงสู่แม่น้ำนครนายก ส่วนคลองแสนแสบได้ระบายน้ำส่วนหนึ่งลงสู่คลองลำปลาทิว อีกส่วนลงไปตามคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ลงสู่คลองชายทะเลแล้วสูบน้ำออกลงสู่อ่าวไทย อีกส่วนระบายน้ำลงสู่คลองบางขนากและคลองนครเนื่องเขตแล้วสูบลงแม่น้ำบางปะกง สำหรับคลองประเวศบุรีรมย์ระบายน้ำไปยังสถานีสูบน้ำท่าถั่วแล้วสูบน้ำลงแม่น้ำบางปะกง
ส่วนความคืบหน้าการขุดลอกคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมชลประทาน คลองดังกล่าวมีความกว้าง 60 เมตร ความยาว 34.200 เมตร แบ่งการดำเนินการเป็น ช่วงที่ 1 งบประมาณปี 2564 จากคลองแสนแสบ – ถนนสุวินทวงศ์ ความยาว 6.400 กิโลเมตร ขุดลอกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.63 – 31 มี.ค.64 ปริมาณดิน 76,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ช่วงที่ 2 งบประมาณปี 2565 จากถนนสุวินวงศ์ – คลองประเวศบุรีรมย์ ความยาว 9.000 กิโลเมตร ขุดลอกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย.64 – 31 พ.ค.65 ปริมาณดิน 76,000 ลบ.ม. และช่วงที่ 3 งบประมาณปี 2566 – 2567 จากคลองประเวศบุรีรมย์ – คลองสำโรง ความยาว 18.600 กิโลเมตร ปัจจุบันยังไม่ได้ขุดลอกคลองเนื่องจากอยู่ระหว่างของบประมาณ โดยกรมชลประทานจะขอเครื่องจักรของต่างประเทศที่ดำเนินการอยู่ในประเทศมาช่วยขุดลอกคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตด้วย
กทม.เตรียมตั้งกองอำนวยการร่วม พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำโป๊ะและท่าเรือดูแลความปลอดภัยงานลอยกระทง
ในเขตพระนคร-สัมพันธวงศ์
นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมดูแลความปลอดภัยสถานที่จัดงานลอยกระทงในพื้นที่ว่า สำนักงานเขตพระนครได้จัดตั้งกองอำนวยการร่วม 3 แห่ง คือ บริเวณใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งพระนคร สวนสันติไชยปราการ และท่าเรือสะพานพุทธ โดยแต่ละแห่งจะจัดกำลังพล อาทิ เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ประจำจุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาลอยกระทงในพื้นที่ ระหว่างเวลา 17.00 – 24.00 น. รวมทั้งมอบหมายให้ อปพร.ประจำโป๊ะและท่าน้ำในพื้นที่เขตพระนครแห่งละ 1 – 2 นาย บริเวณท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ท่าเรือเทเวศร์ ท่าเรือพระราม 8 ท่าเรือพระอาทิตย์ ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ท่าเรือพระจันทร์ ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือท่าเตียน ท่าเรือราชินี ท่าเรือปากคลองตลาด และท่าเรือสะพานพุทธ รวมทั้งบริเวณท่าเรือในคลองผดุงกรุงเกษม ได้แก่ ท่าเรือตลาดเทเวศร์ และท่าเรือวัดมกุฏกษัตริยาราม และบริเวณท่าลอยกระทงในคลองโอ่งอ่าง 2 แห่ง
ขณะเดียวกันได้จัดทำแผนตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของโป๊ะเรือในพื้นที่เขตพระนคร และลงพื้นที่ตรวจสอบ หากพบปัญหาจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและแก้ไข หรือติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนทันที พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำท่าเรือและจุดเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ ดูแลความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกให้ประชาชน นอกจากนั้น ยังได้ประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ในท้องที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เก็บ ทำ หรือจำหน่ายดอกไม้ไฟในพื้นที่เขตพระนคร หากพบการฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมาย ตลอดจนรณรงค์เชิญชวนประชาชนร่วมอนุรักษ์และสืบสานประเพณีลอยกระทง โดยใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เพื่อลดปริมาณขยะ
นายวัลลภ เกียรติวรศรีกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ได้จัดตั้งกองอำนวยการร่วม 2 แห่ง คือ บริเวณคลองโอ่งอ่างและท่าเรือสี่พระยา โดยแต่ละแห่งจะจัดกำลังพลประจำการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาลอยกระทงในพื้นที่ ระหว่างเวลา 17.00 – 24.00 น. รวมทั้งมอบหมายให้ อปพร.ในสังกัดประจำโป๊ะและท่าน้ำในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์แห่งละ 2 นาย โดยประจำจุดท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 7 แห่ง คือ ท่าเรือข้ามฟากสี่พระยา ท่าเรือริเวอร์ซิตี้ ท่าเรือบางกอกริเวอร์วิว ท่าเรือกรมเจ้าท่า ท่าภาณุรังษี ท่าเรือสวัสดี และท่าเรือราชวงศ์ และท่าลอยกระทงในคลองโอ่งอ่างอีก 1 แห่ง ขณะเดียวกันจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่มาร่วมงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเอง ด้วยการเว้นระยะห่าง ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ในพื้นที่แออัด นอกจากนั้น ยังได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือร่วมกัน เพื่อรับทราบภารกิจและเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น กำลังพล อุปกรณ์ช่วยเหลือชีวิต อุปกรณ์ดับเพลิง เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลลอยกระทง ตลอดจนรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนใช้ 1 กระทงต่อ 1 ครอบครัว และใช้กระทงที่ย่อยสลายง่าย เพื่อร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมและปริมาณขยะ