นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะทำการส่งมอบให้กทม. เป็นผู้ดูแลรักษาอุโมงค์ทางลอดรถไฟในโครงการระบบรถไฟ (ชานเมือง) สายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ตั้งแต่สี่แยกเทอดดำริ จนถึงดอนเมือง ถนนกำแพงเพชร 6 ซึ่งการรถไฟฯ รับผิดชอบในการก่อสร้างและทดลองเปิดใช้งานอุโมงค์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 65
อุโมงค์ถนนกำแพงเพชร 6 ถนนเลียบทางรถไฟสายเหนือเป็นการก่อสร้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างถนนเทอดดำริกับถนนกำแพงเพชร 6 โดยอุโมงค์มีขนาด 4 ช่องจราจร กว้าง 17.1 เมตร ยาว 791.162 เมตร พื้นที่รวม 13,529 ตรม. พร้อมอาคารควบคุมอุโมงค์ขนาด 84 ตรม. งานเครื่องกล ได้แก่ ระบบปั๊ม พัดลมระบายอากาศในอุโมงค์ ถังบำบัดน้ำเสีย เครื่องปรับอากาศ งานไฟฟ้าแสงสว่างในอุโมงค์ ไฟฟ้าแสงสว่างในอาคาร แสงสว่างทางวิ่ง และระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบอุโมงค์เมื่อ 31 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา พบว่ามีบางส่วนที่ชำรุดเสียหาย เช่น งานระบบไฟฟ้า ระบบระบายน้ำ ระบบดับเพลิงในอุโมงค์ จำเป็นต้องมีการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ รวมทั้งยังควรมีการปรับปรุงและติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยบริเวณจุดขึ้นลง และภายในอุโมงค์เพิ่มเติม ได้แก่ การติดตั้งเป้าสะท้อนแสงด้านขอบทาง การตีเส้นชะลอความเร็วก่อนทางขึ้น-ลง ติดตั้งป้ายเตือนหัวเกาะเพิ่มเติมก่อนทางลงอุโมงค์ การติดตั้งป้ายจำกัดความสูง ก่อนทางลงอุโมงค์ และการติดตั้งป้ายเตือนทางโค้งก่อนลงอุโมงค์
ซึ่งการปรับปรุงอุปกรณ์ที่ชำรุดและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยเพิ่มเติมดังกล่าว ทางรฟท.จะรับผิดชอบทั้งหมดให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ โดยบริษัทผู้รับจ้างของรฟท. จะเข้าทำการปรับปรุงตามเงื่อนไขการรับประกันความชำรุดบกพร่องตามสัญญา ก่อนที่จะส่งมอบให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแลรักษาต่อไป
นอกจากการส่งมอบอุโมงค์ลอดใต้ทางรถไฟให้ กทม. บำรุงรักษาแล้วรฟท. ยังมีความประสงค์จะส่งมอบถนนในความรับผิดชอบของ รฟท.จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ ถนนกำแพงเพชร 5, ถนนกำแพงเพชร 6, ถนนกำแพงเพชร 7 และถนนรถไฟถนนบุรี ให้ กทม. เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบำรุงรักษา รวมทั้งหมด 5 เส้นทาง ความยาวรวม 40.13 กม.
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมหารือแนวทางการรับมอบถนนในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้บำรุงรักษา