(6 พ.ย. 65) รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมมอบรางวัลในงานประกาศรางวัล Greener Bangkok Hackathon 2022 แฮคกรุงเทพเพื่อเมืองที่เขียวกว่า ณ ห้องประชุม Amber ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า Greener Bangkok Hackathon 2022 เกิดจากการรวมพลังคนเมืองมาร่วมคิดและค้นหาข้อเสนอที่จะช่วยปลดล็อคการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ในเงื่อนไขต่าง ๆ นำข้อมูลหลากหลายด้านนอกเหนือจากเรื่องพื้นที่สีเขียว อาทิ ความหนาแน่นของพื้นที่ ประชากรในพื้นที่ มารวบรวมบนแผนที่เดียวกัน เพื่อนำข้อเสนอที่ได้จากโครงนี้มาทำให้เกิดสวน 15 นาที ทั่วกรุงเทพฯ โดยสามารถเห็นภาพได้ว่าการดำเนินการระยะเร่งด่วนและระยะต่อ ๆ ไปมีพื้นที่ใดบ้าง
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า Greener Bangkok Hackathon ไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ยังสามารถตอบโจทย์ในด้านอื่น ๆ ด้วย อาทิ ตอบโจทย์ในการช่วยลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เช่น การซับน้ำ ตอบโจทย์ในมิติสวนเกษตรกินได้ ตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจ ตอบโจทย์ด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ตอบโจทย์ทางด้านสุขภาพ
“สำหรับการเดินหน้าต่อไป คือ กรุงเทพมหานครจะต้องเปิดพื้นที่และสนับสนุนให้ข้อเสนอจากการ Hackathon เกิดขึ้นจริง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยทำให้เร็ว ประเมินผลให้เร็ว และปรับแก้ให้ทันควัน เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ขอบคุณทุกท่านที่เสียสละเวลาในการพยายามร่วมกันคิดหาข้อมูล ชื่นชมและภูมิใจมากที่ทุกคนอยากช่วยกรุงเทพมหานครมากขนาดนี้ ขอให้คำมั่นสัญญากับคนกรุงเทพฯ ว่า เราจะทำให้เมืองของเราน่าอยู่มากขึ้น” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวในช่วงท้าย
โครงการ Greener Bangkok Hackathon 2022 แฮคกรุงเทพเพื่อเมืองที่เขียวกว่า กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีพัฒนาเมือง ริเริ่มจากโจทย์สำคัญของกรุงเทพมหานครที่มีความจำเป็นในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ มีความเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ และตอบรับกับความต้องการของประชาชน รวมถึงมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืนในอนาคต มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายเมืองน่าอยู่ ด้วยการเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวสาธารณะระดับย่าน ละแวกย่าน หรือในระยะเวลา 15 นาที ด้วยการใช้นวัตกรรมข้อมูลเมืองแบบเปิด (open urban data) แสดงพื้นที่ในเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาทั้ง 50 เขต พร้อมเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมเสนอแนวทางการพัฒนา ทั้งในส่วนของการออกแบบ และกลไกการบริหารจัดการ พัฒนาข้อเสนอกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์ตลอดจนผลักดันข้อเสนอศักยภาพสู่การปฏิบัติจริง ผ่านการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
หลังจากมีการเปิดรับสมัครผลงานข้อเสนอแนวทางการปลดล็อกที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เข้าถึงได้ภายใน 15 นาที ได้มีผู้สมัครส่งข้อเสนอรวม 66 ข้อเสนอ ซึ่งได้รับการคัดเลือกทีมที่ผ่านเข้ารอบ 19 ข้อเสนอ จากนั้นได้มีกิจกรรม Greener Incubation Workshop & Hackathon กิจกรรมเวิร์คช็อปและรับฟังการบรรยายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียว 15 นาทีจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์ ทั้งด้านยุทธศาสตร์ผังเมือง เศรษฐศาสตร์การเงิน ภาษีที่ดิน การออกแบบ และการดูแลรักษาต้นไม้ ซึ่งทุกทีมสามารถสอบถามประเด็นที่สนใจและองค์ความรู้เชิงลึกกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำมาพัฒนาผลงานของตนเองให้ครอบคลุมรอบด้านก่อนงานนำเสนอสาธารณะ
ในงานนำเสนอสาธารณะ ผู้เข้าประกวด 19 ทีมสุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือก ได้นำเสนอผลงานขั้นสมบูรณ์ โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญจากหลากหลายศาสตร์ รวมถึงผู้บริหารจากกรุงเทพมหานคร มาคัดเลือกและให้คำแนะนำในการพัฒนาผลงาน ตลอดจนหาแนวทางในการร่วมกันขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติจริง ทั้งนี้ ได้จัดงานประกาศรางวัล Greener Bangkok Hackathon 2022 ทั้งในส่วนของรางวัลชนะเลิศ และรางวัลขวัญใจมหาชน ในวันนี้ พร้อมมีนิทรรศการผลงาน ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เสนอไอเดียการพัฒนาร่วมกับเครือข่ายการพัฒนาเมือง ผู้สนับสนุนโครงการ และสาธารณชน เพื่อร่วมกันหาแนวทางการพัฒนาและขยายผลข้อเสนอสู่การปฏิบัติจริงต่อไป
สำหรับผู้ได้รับรางวัลขวัญใจมหาชน ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท ได้แก่ ทีม BE GREEN AGAIN ด้วยผลงาน Green Bank Near Your Area ธนาคารสาขา สู่ธนาคารสีเขียว (เขตพระโขนงและบางนา) และรางวัลชนะเลิศข้อเสนอประเภทเน้นผลลัพธ์ด้านการออกแบบ และประเภทเน้นผลลัพธ์ด้านกลไกและการบริหารจัดการ ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท ดังนี้ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศข้อเสนอประเภทเน้นผลลัพธ์ด้านการออกแบบ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ได้แก่ ทีม Hipstect ด้วยผลงาน Amphibious Bangkok (พื้นที่เขตจตุจักร) ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศข้อเสนอประเภทเน้นผลลัพธ์ด้านการออกแบบ กลุ่มบุคคลทั่วไป ได้แก่ ทีม ร้านสะดวกสวน ด้วยผลงาน CONVENIENCE PARK (พื้นที่เขตห้วยขวาง) ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศข้อเสนอประเภทเน้นผลลัพธ์ด้านกลไกและการบริหารจัดการ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ได้แก่ ทีม สวนพร้อมก่อ สุดหล่อพร้อมยัง ด้วยผลงาน เหนื่อยเมื่อไร ก็แวะมา (พื้นที่เขตพระโขนงและบางนา) ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศข้อเสนอประเภทเน้นผลลัพธ์ด้านกลไกและการบริหารจัดการ กลุ่มบุคคลทั่วไป ได้แก่ ทีม Green Dot. ด้วยผลงาน Green Dot. (ไม่ใช่งานเชิงพื้นที่)
ในวันนี้มีผู้ร่วมงานประกาศรางวัลฯ ประกอบด้วย ดร.ประสาน ภิรัช บุรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทภิรัชบุรี คุณปิติภัทร บุรี กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทภิรัชบุรี ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ผศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย นายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย คุณ Eric Arndt Director Asia Regional Office, The Rockefeller Foundation นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้เข้าประกวด 19 ทีมสุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือก และผู้เกี่ยวข้อง