กรุงเทพฯห่วงฝุ่นพุ่ง 70 พื้นที่ ปลัด กทม.สั่งคุมเข้ม เมืองนนท์เกินมาตรฐานอื้อ สธ.เผยป่วยพุ่งแล้ว 1.3 ล้านคน ไหม้บ่อขยะสระแก้วฝุ่นคลุมกระทบผู้ป่วยใน รพ. เชียงใหม่เปิดคลินิกมลพิษฝุ่นควันระดับสีม่วงเข้ม คุณภาพอากาศอันตรายงดกิจกรรมนอกอาคาร
เชียงใหม่เปิดคลินิกมลพิษ
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นพ.วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ และ นพ.ปัณณวิช จันทกลาง หัวหน้ากลุ่มงานอาชีวเวชกรรมโรงพยาบาลนครพิงค์ ร่วมกันแถลงถึงการเฝ้าระวังและป้องกันตนเองจากมลพิษทางอากาศที่เข้าสู่ภาวะวิกฤตในช่วงนี้ โดยเปิดคลินิกมลพิษออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการประเมินอาการเบื้องต้น จากการได้รับผลกระทบจากภาวะหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5
นพ.วรเชษฐกล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลนครพิงค์จัดตั้งคลินิกมลพิษออนไลน์ โดยประชาชนสามารถเข้าไปศึกษาหาข้อมูล ความรู้ การปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพได้ ผ่านทางลิงก์ https://www.pollutionclinic.com/home/diagnose/?gc=nakornpngc หรือสแกน QR Code ที่ทางโรงพยาบาลนครพิงค์ได้จัดทำไว้ ช่วงนี้ขอแนะนำให้ประชาชนหมั่นตรวจเช็กค่าฝุ่นละอองในแต่ละวัน โดยหากพบว่าค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม หรือมีค่าเกิน 51-90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ประชาชนควรลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมในพื้นที่โล่งนอกอาคาร และให้เลี่ยงมาทำกิจกรรมภายในอาคารแทน หรือหากจำเป็นต้องออกนอกพื้นที่ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้ง พร้อมทั้งประเมินตนเองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ สำหรับผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม
เชียงดาวฝุ่นพิษระดับอันตราย
สถานการณ์ปัญหาฝุ่นควัน จ.เชียงใหม่ อันดับ 1 ที่ ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว ระดับสีม่วงเข้ม ฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงถึง 284 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศอันตราย ควรงดกิจกรรมนอกอาคารทุกชนิด โรงเรียนหรือสถานศึกษาควรพิจารณาปิดโรงเรียน ส่วนพื้นที่ อ.เมืองเชียงใหม่ อันดับ 1 ที่ ต.สุเทพ ฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงถึง 189 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในระดับสีม่วง คุณภาพอากาศไม่ดีอย่างยิ่ง ควรงดกิจกรรมนอกอาคาร โรงเรียนหรือสถานศึกษาควรลดกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด ประชาชนทุกกลุ่มควรสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่นขนาดเล็กตามมาตรฐาน
รายงานจุดความร้อน (Hotspot) จ.เชียงใหม่ รอบเช้า พบจุดความร้อน 20 จุด ในเขตป่าอนุรักษ์ 17 จุด ได้แก่ ฮอด 5 จุด, ไชยปราการ 4 จุด, ดอยเต่า 4 จุด, จอมทอง 2 จุด, ดอยสะเก็ด 1 จุด และฝาง 1 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 3 จุด ได้แก่ แม่อาย 2 จุด และฮอด 1 จุด สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงปัจจุบัน ทั้งหมด 3,520 จุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อุณหภูมิในพื้นที่ จ.ลำปาง ตามการรายงานของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าพื้นที่ อ.เมืองลำปาง มีอุณหภูมิที่สูงสุดในภาคเหนือ วัดได้ 36.7 องศาเซลเซียส ส่วนพื้นที่ อ.เถิน จ.ลำปาง ซึ่งเป็นอำเภอตอนใต้ที่มักมีอุณหภูมิร้อนสูงสุดในประเทศ วัดได้ 36.5 องศาเซลเซียส นับเป็นสัญญาณเข้าสู่ช่วงอากาศร้อนมากและแล้ง ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ PM2.5 เกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง โดยขณะนี้พื้นที่ จ.ลำปาง ค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องมา 17 วันติด เนื่องจากไฟป่าที่ไหม้หนัก โดยช่วง 7 วันที่ผ่านมาพบจุดความร้อนหรือจุดฮอตสปอตที่ทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปดับไฟแล้วกว่า 300 จุด
เร่งดับไฟป่าพิษณุโลก-ตราด
ที่ จ.พิษณุโลก ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ ไฟป่ายังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.วังทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ที่ยังคงควบคุมการลุกลามไปจนต้องนำเฮลิคอปเตอร์มาช่วยดับไฟป่า แต่ยังต้องใช้เวลาในการควบคุมอีกหลายวัน ล่าสุดเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากอุทยานแห่งชาติ แควน้อย นำโดยนายฟารุต ใจทัศน์กุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแควน้อยและเจ้าหน้าที่ เดินเท้าไปทำการดับไฟป่าและทำแนวกันไฟ ในพื้นที่สวนป่าน้ำตาก เขตติดต่อระหว่าง อ.วัดโบสถ์ และ อ.นครไทย ซึ่งถูกไฟไหม้ป่าไปกว่า 40 ไร่
นายฟารุตกล่าวว่า ไฟป่าในพื้นที่ ต.บ้านยาง อ.วัดโบสถ์ ลุกลามไปทั่วไปจนถึงเขตสวนป่าน้ำตาก เขต ต.หนองกระท้าว อ.นครไทย ซึ่งสาเหตุมาจากมีคนเผาป่า เพื่อหาของป่า จนลุกลามกินพื้นที่ไปกว่า 40 ไร่ ทางเจ้าหน้าที่ต้องเดินเท้าเข้าไปทำการดับไฟพร้อมกับทำแนวกันไฟ มาตั้งแต่กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ทางเจ้าหน้าที่ยังคงไปช่วยกันดับทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อป้องกันลุกลามเป็นบริเวณกว้างไปมากกว่านี้
สถานการณ์ไฟไหม้ป่าเขาบรรทัด แนวชายแดนไทย-กัมพูชา ด่านบ้านเนินมะม่วง ต.นนทรีย์ และบ้านด่านชุมพล ต.ด่านชุมพล อ.บ่อไร่ จ.ตราด เข้าสู่วันที่ 10 แล้ว ล่าสุดไฟป่ายังคงลุกลามขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น มีบางจุดไฟเริ่มสงบลงแล้ว ส่วนการป้องกันไฟป่ายังคงดำเนินต่อไปตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันหมู่บ้านทับทิมสยามกลายเป็นพื้นที่สีแดง
นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผวจ.ตราด ในฐานะผู้บัญชาการณ์เหตุการณ์เหตุไฟป่า เปิดเผยว่า ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนเข้าร่วมดับไฟ สร้างแนวกันไฟ และเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ไฟลามเข้าพื้นที่สวนของชาวบ้าน นอกจากนี้ใช้วิธีการเผาย้อนกลับตัดเส้นทางไม่ให้ไฟลาม พื้นที่ไหนรถสามารถเข้าได้จะนำรถดับเพลิงเข้าไปดับทันที แต่ด้วยขีดจำกัดของพื้นที่ ที่มีทั้งทุ่นระเบิดและช้างป่า ทำให้มีอุปสรรคเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ได้กำลังสนับสนุนจากกองทัพเรือส่งเฮลิคอปเตอร์ ซีฮอว์ก มาช่วยดับไฟ แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีภูเขาสลับซับซ้อนประกอบกับมีลมแรงและมีกลุ่มควันจำนวนมาก ทำให้ดับไฟทางอากาศค่อนข้างมีอุปสรรค แต่ภารกิจการดับไฟทางอากาศยังคงปฏิบัติต่อไป
‘โคราช-บึงกาฬ’พีเอ็ม2.5พุ่งสูง
ที่ จ.นครราชสีมา รายงานดัชนีคุณภาพอากาศของ จ.นครราชสีมา คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานหลายพื้นที่ เช่น ที่ ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา พบว่า ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ AQI อยู่ที่ 144 คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม มีผล กระทบต่อสุขภาพ ส่วนค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน ตรวจวัดได้ 68 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานอยู่ในเกณฑ์สีส้มเริ่มมีผลกระทบ ต่อสุขภาพ โดยภายในตัวอำเภอเมืองจังหวัดนครราชสีมาบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีจะเห็นได้ว่าหากมองไปยังตึกสูงจะเห็นกลุ่มฝุ่น PM2.5 ค่อนข้างชัดเจน และบริเวณถนนจอมพลซึ่งอยู่ด้านหลังประตูชุมพลก็จะสังเกตเห็นฝุ่น PM2.5 อีกด้วย นอกจากนี้บริเวณถนนราชสีมา-โชคชัยบริเวณด้านหน้าโรงเรียนเมืองนครราชสีมา ที่เป็นจุดที่มีการจราจรคับคั่งในช่วงเช้าและเย็นเป็นอีกหนึ่งจุดที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 ค่อนข้างหนาแน่น พบจุดความร้อนใน จ.นครราชสีมา 46 จุด
ที่ จ.บึงกาฬ ผู้สื่อข่าวรายงานว่ายังเจอสภาพอากาศย่ำแย่ ท้องฟ้าหลัว ขุ่นมัวไปด้วยหมอกควันและฝุ่นละออง ปกคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณกลางแม่น้ำโขง ผู้ประกอบการเรือขนส่งสินค้าระหว่างเมืองบึงกาฬ-เมืองปากซัน สปป.ลาว และเรือรับส่งผู้โดยสาร ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือให้ช้าลงในการขนส่งสินค้า เนื่องจากทัศนวิสัยในการมองเห็นสั้นลง จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.บึงกาฬ อ.เมือง จ.บึงกาฬ พบปริมาณฝุ่น PM2.5 เพิ่มสูงขึ้น 81 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์สีส้ม มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ไหม้บ่อขยะสระแก้วควันคลุม
ที่ จ.สระแก้ว ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีเหตุเพลิงไหม้ภายในศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลแบบครบวงจรของเทศบาลเมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว เนื้อที่ 43 ไร่ ซึ่งมีปริมาณขยะกว่า 50,000 ตัน ล่าสุดไฟยังปะทุต่อเนื่อง ส่งผลให้มีกลุ่มควันและฝุ่นละอองกระจายไปทั่วบริเวณในรัศมีกว่า 10 กิโลเมตร โดยเฉพาะที่บริเวณ รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ซึ่งมีคนไข้จำนวนมากและเขตชุมชนเมือง ชาวบ้านต้องประสบกับปัญหาจากกลิ่นเหม็นของไฟไหม้ขยะและหมอกฝุ่นควันกระจายเต็มไปทั่วพื้นที่ เกิดหมอกควันที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพขอให้พี่น้องประชาชนสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นและหมอกควันปกคลุมได้ และขณะนี้เทศบาลเมืองสระแก้ว เจ้าหน้าที่ได้เร่งควบคุมเพลิงตลอด 24 ชั่วโมง และจะพยายามให้เข้าสู่สภาวะปกติในเร็ววัน
นายปริญญา โพธิสัตย์ ผวจ.สระแก้ว มีประกาศให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่ดูแลตนเอง กำชับมายังนายกเทศบาลเมืองสระแก้วให้ดับไฟที่ไหม้บ่อขยะภายในวันนี้
ฝุ่นพิษวิกฤตป่วยแล้ว1.3ล.คน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2566 พบพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกิน 51 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ติดต่อกันเกิน 3 วัน 15 จังหวัด ได้แก่ น่าน (อ.เมือง อ.เฉลิมพระเกียรติ) เชียงใหม่ (อ.เมือง อ.ฮอด อ.เชียงดาว อ.แม่แจ่ม) เชียงราย (อ.เมือง อ.แม่สาย อ.เชียงของ) แพร่ (อ.เมือง) พะเยา (อ.เมือง) ลำพูน (อ.เมือง อ.ลี้) ลำปาง (อ.เมือง อ.แม่เมาะ) แม่ฮ่องสอน (อ.เมือง อ.แม่สะเรียง อ.ปาย) อุตรดิตถ์ (อ.เมือง) สุโขทัย (อ.เมือง) ตาก (อ.แม่สอด อ.เมือง) พิษณุโลก (อ.เมือง) เพชรบูรณ์ (อ.เมือง) นนทบุรี (อ.เมือง อ.ปากเกร็ด) และกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต โดยมีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 15 จังหวัด และกำลังเปิดเพิ่มอีก 6 จังหวัด ส่วนพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นมากกว่า 51 มคก./ลบ.ม. แต่ไม่ต่อเนื่องเกิน 3 วัน มี 36 จังหวัด
“ค่าฝุ่น PM2.5 ปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปี 2564 และ 2565 เป็นช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 การเดินทางน้อย ทำให้มีค่าฝุ่นน้อย อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ วันที่ 9-14 มีนาคม 2566 โดยกรมควบคุมมลพิษ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากมีลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ส่วนภาคเหนือตอนบนและตอนล่างยังมีแนวโน้มสูงขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว
ปลัด สธ.กล่าวต่อว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน สถานการณ์ฝุ่นจะค่อยๆ ลดลง คาดว่าจะยังมีปัญหา อยู่อีก 1-2 สัปดาห์ จึงต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคทางปอดและหัวใจ รวมถึงเด็กเล็ก โดยช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง ควรเลี่ยงการ ทำกิจกรรมกลางแจ้ง ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เฝ้าระวัง และดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่าง วันที่ 1 มกราคม-5 มีนาคม 2566 พบผู้ป่วยด้วยโรค ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ รวม 1,325,838 ราย โดยสัปดาห์นี้พบผู้ป่วย 196,311 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่พบเพียง 161,839 ราย กลุ่มโรคที่เจ็บป่วยสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 583,238 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 85,910 ราย กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 267,161 ราย เพิ่มขึ้น 35,878 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ 242,805 ราย เพิ่มขึ้น 36,537 ราย และโรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง 208,880 ราย เพิ่มขึ้น 33,413 ราย
กทม.ลาม70พื้นที่-กระทบสุขภาพ
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครขอสรุปผลการตรวจวัด PM2.5 โดยตรวจวัดได้ 61-103 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 78.8 มคก./ลบ.ม. ซึ่งพบว่าค่า PM2.5 มีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงเกินมาตรฐานทุกพื้นที่ โดยอยู่ในระดับ สีแดงมีผลกระทบต่อสุขภาพและอยู่ในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ณ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 61-101 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อวานในช่วงเวลาเดียวกัน และพบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 70 พื้นที่ อาทิ เขตบึงกุ่ม ภายในสำนักงานเขตบึงกุ่ม เขตทวีวัฒนา ทางเข้าสนามหลวง 2 เขตตลิ่งชัน ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ตัดกับถนนบรมราชชนนี และสวน วชิรเบญจทัศ เขตจตุจักร เป็นต้น
โดยในช่วงวันที่ 8-13 มี.ค. การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างอ่อน อยู่ในสภาวะอากาศปิดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ฝุ่น PM2.5 เกิดการสะสมตัวมี แนวโน้มเพิ่มขึ้น จนถึงวันที่ 9 มี.ค. ควรระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแห้งในระยะนี้ และต้องระมัดระวังรักษาสุขภาพจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ควรระวังโรคลมแดด
ขณะที่ นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพ มหานคร ได้ลงนามในหนังสือถึงหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร กำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการเพื่อควบคุมฝุ่นละอองอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดดำเนินมาตรการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 9 มี.ค. 2566