(7 มี.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสาธารณสุข Urban Sandbox : Klang Model โรงพยาบาลกลาง และพื้นที่ 4 เขต ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องสาธารณสุขเป็นนโยบายสำคัญ รวมถึงเรื่องการศึกษาที่จะช่วยลดเรื่องความเหลื่อมล้ำได้เป็นอย่างดี เขตกรุงเทพฯ ชั้นในมีลักษณะที่แตกต่างจากที่อื่น สำคัญที่สุดคือเป็นเขตที่มีผู้สูงอายุสูงมากเป็น super aging หมดแล้ว หลายเขตเกิน 25% เพราะฉะนั้นรูปแบบการดูแลอาจจะไม่เหมือนกับเขตที่อยู่ชั้นนอกซึ่งจะมีผู้สูงอายุไม่มากเท่าเขตชั้นใน สิ่งสำคัญคือการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กทม.เองมีหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงานเขต สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ ต่อไปจะมีสำนักการศึกษา สำนักเทศกิจเข้ามาช่วยดูแล หัวใจคือทำอย่างไรให้ทุกหน่วยงานทำงานเป็นเนื้อเดียวกันแบบไม่มีรอยต่อ มีแผนและขั้นตอนดำเนินการเดียวกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด การมาทำ Workshop ในวันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีและน่าจะได้ผลลัพธ์ที่เชื่อว่าทำให้หลายอย่างพัฒนาการดีขึ้น คำว่า Sandbox เหมือนกระบะทราย มีการลองผิดลองถูก ถ้าได้ผลสรุปแล้วนำผลที่ได้ไปขยายต่อที่เขตอื่น ที่ผ่านมาทำที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ซึ่งเป็นโมเดลที่อาจจะอยู่ในเขตชานเมืองกรุงเทพฯ สำหรับโรงพยาบาลกลางเป็น Sandbox เขตที่อยู่ในเมืองซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป หวังว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จอย่างที่เราคาดหวังไว้
จากนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “9 ด้าน 9 ดี” ด้านสุขภาพดี สร้างความเข้มแข็งของเส้นเลือดฝอย ลด Pain Points ของประชาชน สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการดูแลประชาชนและการถอดบทเรียนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 จึงถือกำเนิดโครงการ Sandbox ทั้งนี้ Urban Sandbox : Klang Model มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน เพื่อขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข เชื่อมโยง และเสริมความเข้มแข็งในการจัดบริการปฐมภูมิ การส่งต่อ การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเปราะบาง โดยประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลด้านบริการการส่งต่อและการดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบในพื้นที่ 4 เขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลกลาง คือ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ และเขตปทุมวัน ให้สามารถเข้าถึงง่าย ทั่วถึง และครอบคลุมอย่างเป็นองค์รวมตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลรักษาฟื้นฟู และดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ โดยวางแผนโครงการตามการดูแลผู้ป่วยเป็น 4 ระยะ คือ
1. ระยะเฉียบพลัน ได้แก่ โครงการ Urgent Care Unit, Telemedicine, E-Referral, Motor-lance, Tele-Consult และเครือข่ายกู้ชีพโรงพยาบาลกลาง
2. ระยะกึ่งเฉียบพลัน ได้แก่ โครงการ Palliative Care, Geriatric Care, NCDs Health Literacy, Advance Wound Care, Stroke Corner, Stop TB BKK, เยี่ยมบ้านไตรภาคี
3. ระยะยาว คือ โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ อสส.
4. การส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ โครงการนักสืบ Dementic, Day Care ผู้สูงอายุ และชมรมผู้สูงอายุ
โดยในวันนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้ร่วมมอบนโยบาย ทิศทาง การเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งกล่าวถึงโครงการนี้ว่า Sandbox ด้านสุขภาพโดยหลักคิดในการรื้อขั้นตอนและวิธีการทำงานใหม่ทั้งหมด ซึ่งขั้นตอนการทำงานใหม่ไม่สามารถรื้อทั้งกรุงเทพฯ ได้ เพราะฉะนั้นต้องรื้อทีละเรื่อง ทีละโซน ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่สามารถทำเหมือนกันได้ และต่างกัน เช่น บริบทของพื้นที่ ยกตัวอย่าง กรุงธนกับกรุงเทพตะวันออก ซึ่งเป็นสอง Sandbox ที่เราเปิดไว้ก่อนหน้าในพื้นที่รอบนอก ดังนั้นการสร้างบริบทของการบริบาลผู้สูงอายุก็จะเป็นลักษณะหนึ่ง ในขณะที่โซนกลาง เช่น ดุสิต Model หรือ โรงพยาบาลกลาง Model ครอบคลุมพื้นที่รอบใน ซึ่งมีลักษณะสภาพพื้นที่แออัด รถติด มีผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงอยู่เยอะ การจะเข้าไปในชุมชนที่แคบให้เร็วต้องใช้หน่วย Motor-lance เป็นจุด ๆ หรือไม่ จอดประจำที่ไหนอย่างไร ก็จะนำมาสู่กระบวนการทำงานแบบใหม่ ๆ โดยวันนี้ได้ให้โจทย์กับทางโรงพยาบาลกลางว่า ในการทำงานตาม 17 โครงการของโรงพยาบาลกลาง Sandbox จะทำอยู่ในรูปลักษณ์ไหน ใช้ความร่วมมือจากเครือข่ายต่างจากพื้นที่อื่นหรือไม่ เพียงใด ทั้งนี้ในส่วนพื้นที่ กทม.ชั้นใน ต้องเน้นเรื่องการทำข้อมูลให้มาก แล้วนำข้อมูลใส่เข้าไปในแผนที่ เพื่อให้เห็นว่าใครอยู่ตรงไหน มีทรัพยากรอะไร แล้วจะบริหารจัดการอย่างไรกับพื้นที่เหล่านั้น เพื่อให้พื้นที่ 4 เขตทำงานได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งตอนนี้โรงพยาบาลกลางกำลังช่วยออกแบบระบบสาธารณสุข ของ กทม.ในพื้นที่โซนเหนือว่าจะเป็นอย่างไร เนื่องจากโซนเหนือไม่มีโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ต้องอาศัยความร่วมมือและช่วยเหลือของ รพ.หลักอื่นๆในพื้นที่ ในการเป็นพี่เลี้ยงและสนับสนุนมาตรฐาน ให้ก่อนที่ศูนย์บริการสาธารณสุขจะเป็นผู้จัดการพื้นที่สาธารณสุขได้ ทั้งหมดนี้อยู่บนวัตถุประสงค์หลักที่ว่าทำอย่างไรให้คนเข้าถึงหมอได้ง่าย แต่ในความทั่วถึงนั้นท่านผู้ว่าฯ เน้นย้ำว่าต้องมีมาตรฐาน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราต้องมีโรงพยาบาลเป็นพี่เลี้ยงควบคู่ไปด้วย เมื่อเครือข่ายปฐมภูมิแข็งแรง อาสาสมัครเราแข็งแรง คลินิกเราแข็งแรง ศูนย์บริการสาธารณสุขเราแข็งแรง ในที่สุดเราจะได้มีบริการการแพทย์และสาธารณสุข กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร
การประชุมในวันนี้ มี รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร พลอากาศโท นพ.อนุตตร จิตตินันทร์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายวิพุธ ศรีวะอุไร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางรัก ดร.เมธาวี ธารดำรงค์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน น.ส.นิภาพรรณ จึงเลิศศิริ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ผู้บริหารสปสช. ผู้บริหารสำนักการแพทย์ ผู้บริหารสำนักอนามัย ผู้บริหารเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ บางรัก และปทุมวัน อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. และผู้เกี่ยวข้องร่วมการประชุม
#สุขภาพดี