กทม.เฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วงในกลุ่มเด็กเล็ก – ผู้สูงอายุ แนะดูแลสุขอนามัยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมพร้อมเฝ้าระวังและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงของสถานพยาบาลสังกัด กทม.ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา (Epinet) ของกองควบคุมโรคติดต่อ สนอ.พบสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 23 ก.พ.66 มีผู้ป่วย 8,706 ราย เป็นผู้ป่วยเดือน ม.ค. 6,147 ราย และเดือน ก.พ. 2,559 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 0 – 4 ปี (17%) 5 – 9 ปี (11.92%) และ 25 – 29 ปี (11.58 %) โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโรงเรียนเด็กเล็กและประถมศึกษา รวมถึงมีการติดเชื้อโนโรไวรัสและโรต้าไวรัสเพิ่มขึ้นในช่วงหลัง ซึ่งอาการที่พบบ่อยคือ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ปวดท้อง กรณีผู้ที่มีอาการอุจจาระร่วงถ่ายเป็นน้ำอย่างรุนแรง อาจเกิดภาวะช็อกจนเสียชีวิตจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หากอาการไม่ดีขึ้น หรือถ่ายอุจจาระเหลวมากกว่า 10 ครั้ง/วัน อุจจาระเป็นมูก หรือมูกเลือด อาเจียนบ่อย ริมฝีปากแห้ง ผิวหนังไม่ยืดหยุ่น ปัสสาวะน้อยลง หรือปัสสาวะไม่ออก ไม่รับประทานอาหาร ไม่ดื่มน้ำ นม สารละลายเกลือแร่ หรือรับประทานได้น้อยลง ไข้สูง หรือชัก ซึมลง อ่อนเพลีย ตาลึกโหล หายใจหอบลึก ในเด็กเล็กอาจมีกระหม่อมบุ๋ม ควรรีบพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้ สนอ.ขอให้ประชาชนและผู้บริหารสถานศึกษาตระหนักถึงความปลอดภัย โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน น้ำสำหรับชงนมต้องต้มให้สุก ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร ก่อนเตรียมอาหาร หรือชงนมให้เด็ก หลังเข้าห้องน้ำและหลังสัมผัสสิ่งสกปรก หรือสัตว์เลี้ยง ดื่มน้ำ หรือน้ำแข็งที่สะอาด ปลอดภัย มีเครื่องหมายสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หมั่นทำความสะอาดเครื่องใช้ ของเล่นเด็กอยู่เสมอ เลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่มีอาการอุจจาระร่วง กรณีพบผู้มีอาการอุจจาระร่วง มีตัวอย่างอาหารส่งตรวจ เพื่อหาสาเหตุของเชื้อก่อโรคได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย โทร.0 2203 2885
นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม.กล่าวว่า สนศ.ร่วมกับ สธ. สนอ.และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ดูแลสุขภาพและสุขอนามัยของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.โดยขอความร่วมมือโรงเรียนกำกับดูแลการจำหน่ายอาหารว่างและเครื่องดื่มให้มีคุณค่าตามหลักโภชนาการ สะอาดและปลอดภัย ไม่ให้จำหน่ายสินค้าให้นักเรียนบนห้องเรียน ไม่ให้จำหน่ายน้ำอัดลม อาหารกรุบกรอบ ลูกอมทุกชนิด รวมถึงอาหารประเภทปิ้งย่างที่ไม่สะอาด จัดอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้มีผักและผลไม้ทุกมื้อ สัปดาห์ละ 5 วัน จัดหาน้ำสะอาดให้ดื่มฟรีอย่างเพียงพอ ทั้งยังมีนโยบายส่งเสริมสุขภาพนักเรียนในสังกัดให้มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง โดยมีอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) ฟรี ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือสร้างเสริมสุขภาพของนักเรียนกับผู้ปกครอง ชุมชน และผู้ประกอบการร้านค้า โดยให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเรื่องการจำหน่ายอาหาร อาหารว่าง และเครื่องดื่มที่มีคุณค่าถูกหลักโภชนาการแก่บุคลากรและร้านค้าทั้งในโรงเรียนและบริเวณรอบโรงเรียน และจัดอบรมให้ความรู้เรื่องสุขอนามัยด้านอื่น ๆ เช่น การดำเนินงานอนามัย อย.น้อย การรายงานสารบอแร็กซ์ในอาหารของโรงเรียนสังกัด กทม. รวมถึงได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย นวมินทราธิราชเข้ามาวิเคราะห์คุณภาพน้ำภายในโรงเรียนสังกัด กทม. นอกจากนั้น ยังมีนโยบายส่งเสริมสุขภาพนักเรียนในสังกัดให้มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง โดยมีอาหารกลางวัน อาหารเสริม (นม) ฟรี พร้อมทั้งให้ความรู้เรื่องการบริโภคอาหารและสุขอนามัย เช่น การแปรงฟันหลังรับประทานอาหาร งดบริโภคอาหารรสจัด เค็มจัดหวานจัด การบริโภคนมรสจืด เป็นต้น
กทม.กำชับมาตรการป้องกันไฟไหม้หญ้า – เร่งแก้ไขผลกระทบจากกลิ่นควันจากการเผาหญ้าในเขตประเวศ
นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการเขตประเวศ กทม. กล่าวกรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากควันและกลิ่นรบกวนจากการเผาหญ้าใน ซ.เฉลิมพระเกียรติ 28 เขตประเวศว่า สำนักงานเขตประเวศ อยู่ระหว่างค้นหาข้อมูลเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินว่างเปล่าแปลงที่เกิดเหตุไฟลุกไหม้ เพื่อแจ้งถึงหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 8 (2) ไม่ปล่อยปละละเลยให้ต้นไม้ หรือธัญพืชที่ตนปลูกไว้ หรือที่ขึ้นเองในที่ดินของตนให้เหี่ยวแห้ง หรือมีสภาพรกรุงรัง หรือปล่อยปละละเลยให้มีการทิ้งสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอยในบริเวณที่ดินของตน และมาตรา 32 (2) ไม่ปล่อยปละละเลยให้มีสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอยในที่ดินของตนในสภาพที่ประชาชนอาจเห็นได้จากที่สาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท หากไม่ดำเนินการจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ จะได้ดำเนินการกับที่ดินว่างเปล่าแปลงอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย
นอกจากนั้น ยังได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจและ อปพร.เขตประเวศ ประชาสัมพันธ์ ตรวจตรา สอดส่องในพื้นที่เขต ห้ามไม่ให้มีการเผาขยะมูลฝอยและเผาวัชพืชในพื้นที่ว่างโดยเด็ดขาด ขณะเดียวกันได้มีหนังสือประสานสถานีตำรวจนครบาล (ส.น.) ประเวศ สน.อุดมสุข สน.พระโขนง และ สน.บางนา ขอให้ช่วยสอดส่องดูแลผู้ลักลอบเผาหญ้า เผาขยะมูลฝอย หรือเผาวัชพืชในที่ดิน หากพบขอให้จับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวว่า สถิติไฟไหม้หญ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการขยายตัวของเมือง รวมถึงการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยในปี 2563 มีเหตุไฟไหม้หญ้า จำนวน 2,528 ครั้ง ปี 2564 จำนวน 1,646 ครั้ง และปี 2565 จำนวน 1,300 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายฤดูหนาวต่อเนื่องไปถึงฤดูร้อน เหตุไฟไหม้หญ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายด้าน อาทิ เรื่องกลิ่นและควันไฟที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีผลต่อสุขภาพและก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ รวมถึงเป็นมลพิษด้านฝุ่น PM2.5 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงได้มีประกาศ กทม.เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟไหม้หญ้าบริเวณพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเขตกรุงเทพมหานคร โดยให้ผู้อำนวยการเขตในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 แจ้งให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองที่ดินและประชาชนทราบและปฏิบัติ ดังนี้ (1) สำรวจพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เพื่อกำหนดให้เป็นจุดเฝ้าระวังและประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้เผาหญ้าและขยะในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า (2) งดการเผาซากวัชพืชหลังการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร (3) งดการเผาขยะมูลฝอย การเผาหญ้า เศษกระดาษในชุมชน และบริเวณริมถนนสองข้างทาง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากกลุ่มควันจากการเผาไหม้บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ยานพาหนะ (4) จัดทำรั้วกั้นรอบพื้นที่ของตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นนำขยะมาทิ้งและขอให้กำจัดวัชพืชในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้หญ้า และ (5) ให้ทุกสำนักงานเขตตรวจสอบปรับปรุงข้อมูลพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ และประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่กวดขัน จับกุมผู้ที่กระทำการเผาหญ้าและลุกลามสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรืออาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตราอื่น ๆ ซึ่งมีโทษหนักกว่า ทั้งนี้ หากประชาชนพบเหตุไฟไหม้หญ้า หรือกองขยะ สามารถแจ้งเหตุทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจะได้จัดส่งเจ้าหน้าที่และรถดับเพลิงเข้าระงับเหตุโดยเร็ว