กทม.เร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นและ LAAB สถานพยาบาลในสังกัด ป้องกันการระบาดช่วงสงกรานต์
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดการณ์อาจพบการติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เน้นย้ำผู้ป่วยกลุ่ม 608 รับวัคซีนเข็มกระตุ้นว่า สนอ.ได้เตรียมพร้อมดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่และสื่อออนไลน์รณรงค์กระตุ้นเตือนและเน้นย้ำความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด 19 ของ สธ.อย่างเข้มข้น ได้แก่ การฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นและภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจให้ตรวจคัดกรองด้วย ATK และสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น ส่วนกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) หากมีอาการป่วยให้รีบเข้ารับการรักษา รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และขนส่งสาธารณะ สำหรับเด็กเล็กแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ขณะเดียวกันได้มุ่งเน้นมาตรการเชิงรุกติดตามและอำนวยความสะดวกการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในกลุ่ม 608 โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด 19 หรือฉีดวัคซีนครบกำหนด ให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทุกวันศุกร์ ระหว่างเวลา 13.00 – 15.00 น. รวมถึงให้บริการเชิงรุกที่บ้านกลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งส่งเสริมให้กลุ่ม 608 ทุกราย ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เข้ารับบริการตรวจรักษาโรคทั่วไปในคลินิกโรคเรื้อรังของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นและภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ที่จุดบริการ
นอกจากนั้น ยังประสานสถานดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) ฉีดวัคซีนโควิด 19 และภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในความดูแล พร้อมทั้งประสานขอความร่วมมือศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานครรณรงค์ให้ผู้ปกครองนักเรียนตระหนักถึงความสำคัญของการพาบุตรหลานและสมาชิกในครอบครัวเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้ติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 อย่างใกล้ชิด โดยเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ด้วยการฉีดวัคซีนโควิด 19 หรือฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 รวมทั้งเปิดให้บริการฉีดวัคซีนชนิด Bivalent เพิ่มอีก 1 ชนิด ทั้งนี้ ได้สำรองวัคซีนโควิด 19 ทุกประเภทไว้อย่างเพียงพอ เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนในช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ตลอดเดือน มี.ค. – เม.ย.นี้ ขณะเดียวกันได้เตรียมบุคลากรทางการแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพสำหรับดูแลผู้ป่วยทุกระดับความรุนแรง หากพบผู้ป่วยขาดการดูแลรักษาให้ติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่ หรือศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่เข้าช่วยเหลือ และหากต้องการรถฉุกเฉินทางการแพทย์ให้ประสานศูนย์เอราวัณ โทร.1669 เพื่อส่งต่อผู้ป่วยใน 6 โซนหลักทั่วกรุงเทพฯ โดยขณะนี้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลหลัก รวมถึงยาต้านไวรัสยังมีเพียงพอรองรับผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ นอกจากนั้น ยังร่วมกับ สนอ.ให้บริการเชิงรุกฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านติดเตียงในระบบเครือข่ายศูนย์ส่งต่อ เพื่อการพยาบาลต่อเนื่องที่บ้าน (BMA Homeward Referral) ในชุมชน รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มผู้สูงอายุที่ดูแลโดยผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) ที่ผ่านการอบรม และประสานอาสาสมัครสาธารณสุขสำรวจกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือยังรับวัคซีนไม่ครบ เพื่อรวมกลุ่มและนัดวันลงพื้นที่ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมาย
สำหรับประชาชนกลุ่ม 608 กลุ่มคนที่ทำงานกับผู้ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยง ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน ส่วนบุคคลทั่วไปฉีดเข็มกระตุ้นได้ทุก 4 – 6 เดือนตามความสมัครใจ สามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 เบิกจ่ายตามสิทธิการรักษา ณ สถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด โดยจองผ่านแอปพลิเคชัน QueQ และ Walk in ทั้ง 12 โรงพยาบาลสังกัด กทม. อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งหากอยู่ในพื้นที่แออัด โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงคือ กลุ่ม 608 และกลุ่มเด็กเล็ก
กทม.แนะหมั่นตรวจสอบสายไฟ อุปกรณ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ป้องกันอัคคีภัยช่วงหน้าร้อน
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กล่าวว่า จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 สปภ.ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยพร้อมรถดับเพลิงออกระงับเหตุเพลิงไหม้อาคารที่ทำการของกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 เลขที่ 84 ซอยสาทร 8 ถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กทม.ลักษณะที่เกิดเหตุเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น เพลิงลุกไหม้เสียหายทั้งหมดและลุกลามไหม้รถยนต์ได้รับความเสียหาย 7 คัน และรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย 1 คัน โดยสาเหตุและค่าเสียหายอยู่ระหว่างการสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทุ่งมหาเมฆ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน อัคคีภัยเป็นภัยใกล้ตัวและมีสถิติการเกิดเพลิงไหม้สูงเนื่องจากสภาพอากาศร้อน แห้งแล้ง และลมพัดแรง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความประมาทและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กทม.จึงขอแนะนำประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ หมั่นตรวจสอบสายไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพใช้งานอย่างปลอดภัย เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน ปิดสวิตซ์และถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหลังใช้งาน และไม่เสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดกับรางปลั๊กไฟสายพ่วงเดียวกัน รวมทั้งขอให้หมั่นตรวจสอบถังก๊าซหุงต้มและเตาแก๊สให้อยู่ในสภาพใช้งานได้อย่างปลอดภัย เปลี่ยนสายท่อนำก๊าซทุก 3 – 5 ปี หรือสังเกตที่เนื้อสายยาง หากผิว หรือเนื้อสายยางบวม มีรอยปริ เปลี่ยนสีจากใส ๆ เป็นสีน้ำตาล หรือสายยางแข็งจนงอไม่ได้ให้รีบเปลี่ยนสายยางแก๊สใหม่ทันที ตรวจสอบข้อต่อและวาล์วถังก๊าซไม่ให้มีรอยรั่ว เพื่อป้องกันก๊าซรั่วไหลทำให้เกิดเพลิงไหม้ และปิดวาล์วถังก๊าซและเตาแก๊สทุกครั้งหลังใช้งาน เป็นต้น อีกทั้งไม่เผาขยะและหญ้าแห้ง โดยเฉพาะบริเวณที่มีเศษวัสดุติดไฟง่าย ใกล้พงหญ้าแห้ง และขอให้จัดทำแนวกันไฟบริเวณรอบบ้าน หากเกิดไฟไหม้หญ้าจะช่วยป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามไหม้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งนี้ หาก ประชาชนพบเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กทม.เตรียมรวบรวมรายชื่อผู้ประสบอุทกภัยช่วงฤดูฝน ปี 65 เพิ่มเติมให้ ปภ.ตามเวลาที่กำหนด
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 เพิ่มเติม ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.65 – 31 ม.ค.66 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 15 จังหวัด ว่า กรุงเทพมหานครได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงวันที่ 13 พ.ค. – 28 ต.ค.65 ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 พ.ย.65 (ครั้งแรก) โดยรวบรวมและจัดส่งรายชื่อผู้ประสบภัย ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 พร้อมเอกสารที่กำหนด ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้ประสบภัย รวมทั้งสิ้น 25 เขต จำนวน 45,257 ครอบครัว นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.66 อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เชิญผู้แทน กทม.และจังหวัด 15 จังหวัด เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ ZOOM เพื่อแจ้งแนวทางปฏิบัติให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ กรณีการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ก.พ.66 (ครั้งที่ 2) สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และการระบายน้ำ ในช่วงฤดูฝนปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.65 – 31 ม.ค.66 โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ (1) ต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่สำนักงานเขตพื้นที่ออกให้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 30 ต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย และต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลทั้งระดับสำนักงานเขตและระดับกรุงเทพมหานคร และ (2) กรณีที่ประสบภัยหลายครั้ง ให้ได้รับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว ซึ่ง สปภ.จะได้จัดการประชุม เพื่อชี้แจงขั้นตอนการปฏิบัติให้สำนักงานเขต เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด
นายชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ อยู่ระหว่างตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารคำร้องที่ผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ที่ได้ยื่นขอรับความช่วยเหลือฯ ไว้ และรวบรวมส่ง สปภ.กทม.เพื่อดำเนินการตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2563 และตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่เขตลาดกระบังต่อไป ทั้งนี้ จากการสำรวจเบื้องต้นในพื้นที่เขตลาดกระบัง ไม่พบผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 เพิ่มเติมระหว่างวันที่ 29 ต.ค.65 – 31 ม.ค.66 และได้มีประกาศยุติภัยตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.65
เขตพระนครแจงรื้อถอนป้ายโฆษณาถนนข้าวสารรุกล้ำแนวเขตทางสาธารณะ
นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม.กล่าวกรณีสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ขอให้ชะลอการบังคับรื้อถอนป้ายบริเวณถนนข้าวสารว่า ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้มีหนังสือลงวันที่ 17 ต.ค.65 ประสานกรุงเทพมหานคร (กทม.) สอดส่องดูแลป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารโดยเคร่งครัด ประกอบกับเมื่อวันที่ 12 ก.ย.65 ที่ประชุมโครงการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยบริเวณถนนข้าวสาร โดยมี พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธาน ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพระนครรื้อถอนป้ายโฆษณาของอาคารพาณิชย์ทั้งสองฝั่งของถนนข้าวสาร เนื่องจากรุกล้ำแนวเขตทางสาธารณะและขนาดป้ายโฆษณาขัดกับกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวที่สัญจรผ่านไป-มา อีกทั้งหากเกิดเพลิงไหม้ รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าดับเพลิงได้สะดวก สำนักงานเขตฯ จึงตรวจสอบป้ายขนาดใหญ่ในถนนข้าวสาร พบว่า มีหลายป้ายที่ติดตั้งรุกล้ำที่สาธารณะ ไม่เป็นไปตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 จึงมีหนังสือถึงเจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคาร เมื่อวันที่ 19 ม.ค.66 เพื่อแจ้งให้รื้อถอนป้ายออกจากพื้นที่อาคารให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากพ้นระยะเวลาที่กำหนด สำนักงานเขตฯ จะลงพื้นที่รื้อถอนป้ายเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง พบว่าเจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคารยังไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้อง สำนักงานเขตฯ จึงเข้ารื้อถอนโดยใช้กำลังคน เครื่องจักร และอุปกรณ์การรื้อถอนของ กทม.
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านค้า หาบเร่แผงลอย ร้านอาหาร และเครื่องดื่มบริเวณถนนข้าวสารจัดระเบียบ ตั้งวางแผงค้า ป้ายโฆษณา และอุปกรณ์ที่ใช้ทำการค้า หรือบริการในจุดที่กำหนดเท่านั้น ไม่ให้ตั้งวางสิ่งของใด ๆ ล้ำผิวจราจร และกีดขวางทางเข้า-ออกหน้าอาคารที่เปิดให้บริการเป็นประจำทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ที่เป็นวันหยุดทำการค้า เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของถนนข้าวสาร
เขตสาทรประสานตำรวจจัดระเบียบจราจร พร้อมตรวจสอบแรงงานต่างด้าวในซอยจันทน์ 16
นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตสาทร กทม. กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนขอให้เร่งจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาภายในซอยจันทน์ 16 แยก 18 – 1 และบริเวณศูนย์การค้าวรรัตน์ ทั้งการจอดรถไม่เป็นระเบียบ ปัญหาการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว และปัญหาขยะตกค้างในซอยสุสานจีนแคะ ซอยจันทน์ 18/7 แยก 8 และซอยจันทน์ 18/4 18/5 18/6 ว่า สำนักงานเขตสาทร ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดจัดระเบียบ ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในซอยจันทน์ 16 แยก 18-1 และบริเวณศูนย์การค้าวรรัตน์ โดยประสานผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ยานนาวา พิจารณาจัดระเบียบจราจรและการจอดรถในซอยที่กีดขวางทางเข้า – ออกศูนย์การค้าฯ ตรวจสอบการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่บริเวณศูนย์การค้าฯ และตรวจสอบแก้ไขปัญหาการมั่วสุม ปัญหายาเสพติด และจุดเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอาชญากรรมในชุมชนวรรัตน์ ซอยจันทน์ 16 แยก 18 – 1 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจ นอกจากนั้น ยังได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาฯ ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาขยะตกค้าง ภายในซอยสุสานจีนแคะ ซอยจันทน์ 18/7 แยก 8 และซอยจันทน์ 18/4 18/5 และ 18/6 โดยจัดเก็บขยะไม่ให้มีขยะตกค้างเรียบร้อยแล้ว
เขตคลองเตยสั่งระงับก่อสร้างอาคารโครงสร้างเหล็กในซอยสุขุมวิท 8 พร้อมดำเนินคดีประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต
นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม. กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตร้านจำหน่ายน้ำแข็งและสุราในซอยสุขุมวิท 8 ที่สำนักงานเขตคลองเตยมีคำสั่งปิดกิจการชั่วคราว เหตุใดยังเปิดทำการ สร้างความเดือดร้อนให้คนในชุมชนว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า บริเวณดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารโครงสร้างเหล็ก 2 ชั้น จำนวน 2 หลัง หลังแรกมีขนาด 9.10×7×5.40 เมตร เพื่อใช้เป็นอาคารอยู่อาศัย และหลังที่สองขนาด 7×7×5.40 เมตร เพื่อใช้เป็นพาณิชย์-พักอาศัย ซึ่งผู้เป็นเจ้าของ ดำเนินการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น สำนักงานเขตฯ จึงได้มีคำสั่งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้ระงับการก่อสร้าง การดัดแปลง การรื้อถอน หรือการเคลื่อนย้ายอาคารตามมาตรา 40 (1) (แบบ ค.3) คำสั่งห้ามใช้ หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคาร หรือบริเวณที่มีการก่อสร้าง การดัดแปลง การรื้อถอน หรือการเคลื่อนย้ายอาคารตามมาตรา 40 (2) (แบบ ค.4) และคำสั่งให้ยื่นคำขออนุญาต หรือดำเนินการแจ้ง หรือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการก่อสร้าง การดัดแปลง การรื้อถอน หรือการเคลื่อนย้ายอาคารตามมาตรา 41 (แบบ ค.5)
นอกจากนี้ ยังตรวจพบว่า ผู้เป็นเจ้าของได้ตั้งวางตู้ห้องเย็นคอนเทนเนอร์ จำนวน 2 ตู้ สำหรับสะสมน้ำแข็ง เพื่อนำไปส่งจำหน่ายให้กับร้านจำหน่ายอาหารและสถานบริการในละแวกใกล้เคียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น สำนักงานเขตฯ จึงได้ออกแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และมีคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น ห้ามประกอบกิจการสะสมน้ำแข็ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและให้หามาตรการป้องกันเหตุเดือดร้อนรำคาญที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้พักอาศัยข้างเคียง ขณะเดียวกันได้ส่งดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ข้อหาประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจติดตามทั้งสองกรณีอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ฝ่าฝืนกฎหมายและก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้พักอาศัยข้างเคียง