(2 มี.ค. 66) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม Kick Off “เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงลูกน้ำยุง” ณ สนามกีฬากลางแจ้ง ศูนย์กีฬามิตรไมตรี (อาคารกีฬาเวสน์ 3) ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานครไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง)
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถิติผู้ป่วยไข้เลือดออกของกรุงเทพมหานคร อยู่ในลำดับท้าย ๆ แต่ในปีนี้ สถิติกระโดดขึ้นมา อาจจะด้วยเหตุผลที่เราละเลยสิ่งสำคัญคือธรรมชาติของยุงที่หลายคนอาจยังเข้าใจผิด ทั้งในเรื่องวงจรชีวิตของยุงที่ไม่ได้สั้นอย่างที่คิด หรือไข่ของยุงที่สามารถอยู่ได้นานหลายเดือนกระทั่งเป็นปี เพราะฉะนั้นการจัดการแหล่งน้ำขังในที่ต่าง ๆ จึงสำคัญ รวมไปถึงการป้องกันไม่ให้ยุงกัด และที่สำคัญคือหากเคยเป็นไข้เลือดออกแล้วต้องระวังไม่ให้เป็นซ้ำเพราะอาจมีอาการรุนแรงกว่าการติดเชื้อครั้งแรก สำหรับกิจกรรมนี้ต้องขอบคุณสำนักอนามัยที่จะร่วมกับสำนักงานเขตและภาคประชาชน ในการรณรงค์เรื่องไข้เลือดออกและปฏิบัติการตัดวงจรชีวิตยุงลาย โดยทำอย่างต่อเนื่องทั่วทั้ง 50 เขต
สำหรับกิจกรรม Kick off “เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงลูกน้ำยุง” กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย จัดขึ้นเพื่อบรูณาการความร่วมมือจากสำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต และภาคประชาชน ร่วมกันจัดการสิ่งแวดล้อม Big Cleaning ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของกรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนมกราคม 2566 พบผู้ป่วยจำนวน 1,102 รายและกรุงเทพมหานครมีอัตราป่วยเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยแนวทางการควบคุมโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อนำโดยยุงลายที่ได้ผลดีที่สุด คือ การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างจริงจังและต่อเนื่องควบคู่กับการป้องกันยุงกัด โดยพื้นที่เขตดินแดงจะดำเนินการเป็นแห่งแรก และจะดำเนินการครบทั้ง 50 เขต พร้อมกันในวันที่ 3 มีนาคม 2566 พร้อมเน้นย้ำให้สำนักงานเขต ดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรค ดังนี้
1. วางแผนการจัดการสิ่งแวดล้อม Big Cleaning ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข
2. กำหนดและดำเนินการจัดการสิ่งแวดล้อม Big Cleaning และสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายในหน่วยงาน ทุกวันศุกร์อย่างต่อเนื่อง
3. ประชาสัมพันธ์การป้องกัน และอาการสงสัยโรคไข้เลือดออกผ่านช่องทาง และสื่อสารความเสี่ยงอาการสงสัยโรคไข้เลือดออก ได้แก่ ไข้สูงมากกว่า 2 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาล
4. ให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินโรคไข้เลือดออกเขต (Emergency Operation Center : EOC) ในพื้นที่เขตที่เป็นพื้นที่สีม่วง
โดยในวันนี้ นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกิจกรรมลงพื้นที่บริเวณแฟลตการเคหะดินแดง ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการจัดการสิ่งแวดล้อม คือ การจัดการขยะ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้พร้อมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้เลือด สำรวจลูกน้ำยุงลายและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
กิจกรรมในวันนี้ มีนายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย นายชูชาติ พุ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตดินแดง นายเทพฤทธิ์ ฤทธิณรงค์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ข้าราชการและบุคลากรสำนักอนามัยและสำนักงานเขตดินแดง และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรม
#สุขภาพดี
———–