กทม.เดินหน้ามาตรการป้องกันโรคอ้วน – ภาวะทุพโภชนาการ รร.ในสังกัดทั้ง 437 แห่ง
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุผลการสำรวจพบแนวโน้มเด็กไทยติดรสหวาน แนะพ่อแม่และครูปลูกฝังให้เด็กเลี่ยงรับประทานหวาน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษา มีมาตรการส่งเสริมความรู้และปลูกฝังเด็กนักเรียนในโรงเรียน (รร.) สังกัด กทม.ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานมาก ห้ามจำหน่ายอาหารและขนมที่ไม่มีคุณภาพ มีรสหวาน หรือน้ำอัดลม โดยประสานความร่วมมือโรงเรียนสังกัด กทม.ทั้ง 437 แห่ง ดำเนินมาตรการป้องกันโรคอ้วนและภาวะทุพโภชนาการใน รร.ประกอบด้วย การงดจำหน่ายน้ำอัดลม น้ำหวาน และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินร้อยละ 5 และให้ผู้ค้าลดน้ำตาลในเครื่องดื่มที่จำหน่ายภายใน รร.เหลือไม่เกินร้อยละ 5 จัดหาน้ำสะอาดให้ดื่มฟรีอย่างเพียงพอ งดจำหน่ายอาหารประเภทปิ้งย่างที่ไม่สะอาด ขนมกรุบกรอบ ลูกอมทุกชนิด และขนมที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายแก่นักเรียนภายใน รร.ห้ามโฆษณาอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ภายใน รร. ดูแลอาหารภายใน รร.ไม่ให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จัดกิจกรรมออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที สามารถทำสะสมได้อย่างน้อยครั้งละ 10 นาที จัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาโรคอ้วนและภาวะทุพโภชนาการทั้งด้านอาหารและการออกกำลังกาย จัดอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยมีผักทุกมื้อและมีผลไม้สัปดาห์ละ 3 วัน เฝ้าระวังและประเมินภาวะโภชนาการอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงปีละ 2 ครั้ง และให้ความรู้นักเรียนเรื่องการบริโภคอาหารและสุขอนามัย เช่น การงดบริโภคอาหารรสจัด เค็มจัด หวานจัด ควรบริโภคนมรสจืด
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการติดตามและควบคุณคุณภาพอาหารเช้าและอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน รร.กทม.ให้เป็นไปตามหลักโภชนาการ โดยกำชับ รร.สังกัด กทม.ควบคุมมาตรฐานคุณภาพอาหาร อาหารว่าง และเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพนักเรียนใน รร.อย่างเคร่งครัด ตลอดจนจัดทำตัวอย่างเมนูอาหารเช้าและอาหารกลางวันของนักเรียนใน รร.สังกัด กทม. จำนวน 100 วัน เพื่อเป็นแนวทางการจัดอาหารสำหรับนักเรียนที่มีคุณภาพตามหลักโภชนาการและเหมาะสมกับวัย รวมทั้งมีมาตรการเชิงรุกตรวจสอบดูแลและติดตามการสร้างเสริมสุขภาพของนักเรียน พร้อมขอความร่วมมือผู้ปกครอง ชุมชน และผู้ประกอบการร้านค้าเฝ้าระวังไม่ให้มีการจำหน่ายน้ำอัดลม อาหารกรุบกรอบ ลูกอม อาหารหวานจัดทุกชนิด อาหารประเภทปิ้งย่างที่ไม่สะอาดมีโภชนาการต่ำและไม่ปลอดภัยแก่นักเรียนใน รร.สังกัด กทม.
กทม.เร่งให้บริการวัคซีนโควิด 19 เด็ก 6 เดือน – 4 ปี พร้อมเตรียมควบคุมโรคติดต่อในฤดูหนาว
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการให้บริการวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 รวมทั้งการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือน – 4 ปี ในสถานพยาบาลของ กทม.ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ได้ปฏิบัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดแนวทางการฉีดวัคซีนเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือน – 4 ปี โดยเน้นย้ำแนวทางการให้บริการเด็กกลุ่มนี้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเชื่อมั่นมาตรฐานการให้บริการอย่างปลอดภัย จัดสถานที่สำหรับฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันความสับสนในการใช้วัคซีน พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ภายในสถานพยาบาลของ กทม. รวมถึงศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ในการดูแลของ กทม. โดยผู้ปกครองสามารถติดต่อพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนได้ตามที่กำหนด หรือลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน QueQ โดยเตรียมบัตรประชาชน/สูติบัตร หลักฐานการจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน QueQ บนมือถือ บัตรโรงพยาบาล (ถ้ามี) เอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด 19 (ถ้ามี) และปากกาส่วนตัว ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำแนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ให้เด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือน – 4 ปี แก่บุคลากรทางการแพทย์ โดยเด็กเล็กจะใช้ปริมาณวัคซีนน้อยลง ซึ่งเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี ใช้วัคซีนฝาสีแดงเข้มขนาด 3 ไมโครกรัม จำนวน 0.2 มิลลิลิตร ฉีด 3 เข็ม โดยเข็มแรกและเข็มสองห่างกัน 1 เดือน และเข็มสามห่างกันอีก 2 เดือน ซึ่งต่างจากเด็กโตอายุ 5 – 11 ปีที่มีขนาด 10 ไมโครกรัม และอายุ 12 ปีขึ้นไปใช้ฝาสีม่วงขนาด 30 ไมโครกรัม หลังฉีดให้สังเกตอาการ 30 นาที และติดตามต่อจนครบหนึ่งเดือน
นอกจากนั้น สำนักการแพทย์ ยังได้เตรียมมาตรการเฝ้าระวังและจัดทำแนวทางการดำเนินงานควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในฤดูหนาว โดยสั่งการให้ทุกโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด กทม.เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดโรคระบบทางเดินหายใจในช่วงฤดูหนาว รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาโรค และจัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย พร้อมจัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรคในฤดูหนาว ได้แก่ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพผ่านเว็บไซต์สำนักการแพทย์ และเพจเฟซบุ๊ก : สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพผ่านสายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ 1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
กทม.เข้มมาตรการดูแลความปลอดภัยในสวนสาธารณะช่วงเทศกาลลอยกระทงปี 65
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยในสวนสาธารณะของ กทม.ในช่วงเทศกาลลอยกระทงว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้เปิดสวนสาธารณะให้ประชาชนเข้าไปลอยกระทง เพื่อสืบสานประเพณีในเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2565 ในวันอังคารที่ 8 พ.ย.65 ระหว่างเวลา 05.00 – 24.00 น. จำนวน 33 สวน ในพื้นที่ 22 เขต โดยมีมาตรการดูแลความปลอดภัยในสวนสาธารณะ ประกอบด้วย (1) จัดกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ของสวนในการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน ประสานขอความร่วมมือสำนักงานเขตพื้นที่จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ร่วมปฏิบัติงาน ณ กองอำนวยการร่วมของแต่ละสวน และได้ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายเป็นระยะ ๆ ให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันตนเองจากความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ซึ่งทุกสวนจะมีเจลแอลกอฮอล์ตั้งวางไว้ในจุดทางเข้าสวน เพื่อให้บริการประชาชน (2) สวนสาธารณะต่าง ๆ ได้กำหนดพื้นที่ริมแม่น้ำ คลอง สระน้ำที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตราย เพื่อให้ประชาชนลอยกระทง โดยได้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของท่าน้ำและดูแลพื้นที่ เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายเมื่อประชาชนลงไปลอยกระทง รวมทั้งประสานสถานีดับเพลิงในพื้นที่จัดเจ้าหน้าที่ พร้อมรถและอุปกรณ์ดับเพลิงเข้าประจำในพื้นที่ (3) แจ้งประชาสัมพันธ์เสียงตามสายเป็นระยะ ๆ ให้ผู้มาใช้บริการทราบว่าห้ามจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟภายในสวนและจัดกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเดินตรวจตรา และ (4) จัดเตรียมอุปกรณ์ห่วงยาง เสื้อชูชีพ เรือพาย เพื่อเข้าช่วยเหลือกรณีเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ ตลอดจนขอความร่วมมือศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ในพื้นที่จัดหน่วยแพทย์ พยาบาล พร้อมอุปกรณ์เข้าร่วมปฏิบัติงาน ณ กองอำนวยการร่วมของแต่ละสวน
สำหรับการเตรียมจัดเก็บกระทงทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักสิ่งแวดล้อมร่วมกับสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตได้จัดทำแผนการจัดเก็บและคัดแยกกระทงในเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2565 โดยเริ่มเก็บกระทง ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 8 พ.ย.65 จนถึงเวลา 05.00 น.ของเช้าวันรุ่งขึ้น โดยสำนักสิ่งแวดล้อมจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 9 – สะพานพระราม 8 โดยใช้ยานพาหนะ ประกอบด้วย เรือชนิดต่าง ๆ 37 ลำ รถเก็บขนมูลฝอยและรถตรวจการณ์ 14 คัน มีข้าราชการและลูกจ้างปฏิบัติงาน 199 คน พร้อมทั้งมีมาตรการป้องกันดูแลความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยให้ติดตั้งไฟกระพริบบริเวณท้ายเรือ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ สวมเสื้อกั๊กสะท้อนแสงให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน มีเสื้อชูชีพ พร้อมห่วงชูชีพช่วยเหลือกรณีตกน้ำประจำเรือทุกลำ
นอกจากนั้น ยังได้ขอความร่วมมือสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง เพื่อเชิญชวนประชาชน รวมถึงสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองในพื้นที่ที่มีการจัดงานลอยกระทง ขอให้งดใช้กระทงโฟม เพื่อรักษาสภาพแวดล้อม เชิญชวนให้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์แหล่งน้ำสาธารณะ งดการใช้กระทงโฟม เปลี่ยนมาใช้กระทงที่ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ง่ายไม่ทำลายสภาพน้ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดปริมาณกระทงที่จะใช้ลอยให้น้อยที่สุดด้วยการลอยกระทง 1 ครอบครัว 1 กระทง