ตรวจคัดแยกขยะเขตหลักสี่ ติดตามการจัดเก็บภาษีด้วยระบบ OIL TAX และ BMA TAX MAP เช็กค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์ก่อสร้างศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โซน C ชมคัดแยกขยะชุมชนพัชราภา คุมเข้มฝุ่นจิ๋วแพลนท์ปูนนครหลวง สำรวจ Hawker Center วิภาวดีรังสิต 62
(27 ก.พ.66) เวลา 15.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตหลักสี่ ประกอบด้วย
ตรวจเยี่ยมต้นแบบการคัดแยกขยะ ภายในสำนักงานเขตหลักสี่ มีข้าราชการและบุคลากร 210 คน วิธีการคัดแยกขยะตามประเภท โดยตั้งวางถังรองรับขยะแยกประเภท ได้แก่ ถังขยะทั่วไป (สีน้ำเงิน) ถังขยะเศษอาหาร (สีเขียว) ถังขยะรีไซเคิล (สีเหลือง) ถังขยะอันตราย (สีส้ม) ถังขยะติดเชื้อ (สีแดง) โดยดำเนินการคัดแยก ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล แต่ละฝ่ายดำเนินการคัดแยก และแม่บ้านจัดเก็บในทุกวัน 2.ขยะอินทรีย์ แต่ละฝ่ายดำเนินการคัดแยก และแม่บ้านรวบรวมนำเศษอาหารมาทิ้งที่จุดรวมที่กำหนดไว้ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บนำไปทำปุ๋ยแห้ง จัดเก็บทุกวัน 3.ขยะอันตราย รวบรวมนำส่งกำจัดเดือนละครั้ง 4.ขยะทั่วไป แต่ละฝ่ายดำเนินการคัดแยก และแม่บ้านจัดเก็บในทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกรวมทั้งหมด 3,150 กิโลกรัม/เดือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2566) ขยะทั่วไป หลังคัดแยก 915 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิล หลังคัดแยก 1,575 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ หลังคัดแยก 570 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตราย หลังคัดแยก 60 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อ หลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/เดือน
ติดตามการจัดเก็บภาษีบำรุงกรุงเทพมหานครสำหรับน้ำมันเบนซินและน้ำมันที่คล้ายกัน น้ำมันดีเซลและน้ำมันที่คล้ายกัน และก๊าซปิโตรเลียม ด้วยระบบ OIL TAX และระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร หรือระบบ BMA TAX MAP ในพื้นที่เขตฯ มีประเภทกิจการ ดังนี้ น้ำมัน 12 แห่ง ก๊าซปิโตรเลียม NGV 1 แห่ง ก๊าซปิโตรเลียม LPG 1 แห่ง น้ำมันและก๊าซ 1 แห่ง รวมทั้งสิ้น 15 แห่ง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมฝ่ายรายได้ สอบถามปัญหาอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ การใช้งานระบบจัดเก็บภาษีสำหรับน้ำมันฯ แบบใหม่ ด้วยระบบ OIL TAX ผ่านทางเว็บไซต์ พร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีรายได้ ตลอดจนการจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้เปิดให้เปิดช่องทางการชำระภาษีบำรุงกรุงเทพมหานครสำหรับน้ำมันฯ ทางเว็บไซต์ http://oiltax.bangkok.go.th/ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นแบบและชำระภาษีของเดือนที่จำหน่ายภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตในพื้นที่ หรือดาวน์โหลดคู่มือการใช้งานระบบภาษีบำรุงกรุงเทพมหานครสำหรับน้ำมันเบนซินและน้ำมันที่คล้ายกัน น้ำมันดีเซลและน้ำมันที่คล้ายกัน และก๊าซปิโตรเลียม สำหรับผู้ประกอบการทาง https://drive.google.com/file/d/1G3A0u1LjudAPCoLTLeNLIfIyT66TALuL/view?usp=drivesdk
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยาย ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โซน C เจ้าของโครงการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ผู้รับเหมางานก่อสร้างอาคาร บริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ความสูง 11 ชั้น ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งโครงการก่อสร้างดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 ดังนี้ 1.ติดตั้งเครื่องฉีดพ่นละอองฝอยบริเวณรั้วกำแพงที่ล้อมรอบโครงการ และฉีดพ่นละอองฝอยเป็นประจำทุกวัน 2.ติดตั้งตาข่ายกันฝุ่นบริเวณโครงการ 3.ล้างล้อรถบรรทุกที่วิ่งเข้า-ออกโครงการ 4.ปิดคลุมผ้าใบรถบรรทุกที่มีการขนส่งวัสดุ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองและวัสดุตกหล่น 5.บำรุงรักษายานยนต์และเครื่องจักรภายในโครงการ รวมทั้งรณรงค์พนักงานดับเครื่องยนต์ขณะที่ไม่ใช้งาน 6.ตรวจวัดมลพิษทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ 7.สื่อสารและประชาสัมพันธ์กับพนักงาน (Safety talk) เกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและดูแลสุขภาพในช่วงที่ปริมาณฝุ่นละอองเกินค่าเกินมาตรฐาน
เยี่ยมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนพัชราภา ซอยวิภาวดีรังสิต 70 พื้นที่ 30 ไร่ มีประชากร 624 คน จำนวน 259 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 วิธีการคัดแยกขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ เศษใบไม้ เศษอาหาร แต่ละบ้านจะนำมาทิ้งที่ทำการชุมชน บริเวณริมรั้วเพื่อเป็นอาหารไส้เดือนดิน 2.ขยะรีไซเคิล ลูกบ้านจะทำการคัดแยกในครัวเรือน และจะขายให้กับธนาคารของชุมชน โดยรับซื้อในหมู่บ้านทุกวัน 3.ขยะทั่วไป โครงการนัดทิ้งนัดเก็บสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ได้แก่ วันอังคารและวันศุกร์ 4.ขยะอันตราย รวมรวม ณ ที่ทำการชุมชน เพื่อให้เขตฯ จัดเก็บตามรอบกิจกรรมนัดทิ้งนัดเก็บขยะชิ้นใหญ่และขยะอันตราย สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกรวมทั้งหมด 1,200 กิโลกรัม/เดือน (ข้อมูลเดือนมกราคม 2566) ขยะทั่วไป หลังคัดแยก 204 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิล หลังคัดแยก 360 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ หลังคัดแยก 600 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตราย หลังคัดแยก 35 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อ หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูน บริษัท นครหลวง จำกัด บริเวณปากซอยแจ้งวัฒนะ 1 ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 ดังนี้ ทำความสะอาดฝุ่นละอองตามพื้นอย่างสม่ำเสมอ ติดตั้งแผงกั้นป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองมีความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 6 เมตร ฉีดพ่นละอองน้ำรถบรรทุกหินให้เปียกก่อนเทลงกองวัตถุดิบ ล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกและรถโม่ผสมคอนกรีตก่อนออกจากโรงงาน เครื่องผสมคอนกรีตเป็นระบบปิดที่สามารถป้องกันฝุ่นได้ มีเครื่องกรองฝุ่นจากการลำเลียงปูนซีเมนต์แบบถุงกรอง (Bag Filter) บำรุงรักษาระบบบำบัดมลพิษ และผู้รับผิดชอบดูแลระบบ ตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ฉีดพ่นละอองน้ำในพื้นที่ตลอดเวลา ล้างทำความสะอาดพื้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีฝุ่นปูนหรือเศษหินเศษทรายตกค้าง นอกจากนี้ เขตฯ ยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
สำรวจพื้นที่ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) บริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 62 ซึ่งบริเวณดังกล่าวสามารถรองรับผู้ค้าได้ 15-20 ราย ปัจจุบันมีผู้ค้า 6 ราย ใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้างมาจอดขาย 5 ราย ตั้งโต๊ะขายอาหารสำเร็จ 1 ราย เวลาทำการค้าตั้งแต่ 10.00 น.-14.00 น. สำหรับ Hawker Center เป็นนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค และอยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม พร้อมทั้งบริหารจัดการดูแลทำความสะอาดพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ซึ่งมีความเหมาะสม พิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน อย่างไรก็ตามการจัดระเบียบผู้ค้า จะต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวม ที่สำคัญผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ของทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางสมฤดี ลันสุชีพ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตหลักสี่ ชาวชุมชนพัชราภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)