(27 ก.พ. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดภายภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 6/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ว่า วันนี้เป็นการประชุมร่วมกับคณะผู้บริหารฯ ซึ่งมีเรื่องที่เน้นย้ำคือการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน โดยกำชับให้สื่อสารไปถึงบุคลากรและเจ้าหน้าที่ทุกคนของกทม.ว่าเราเอาจริงในเรื่องของความโปร่งใส ดังนั้น ถ้ามีเรื่องพวกนี้รายงานเข้ามาเราก็จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด
“เชื่อว่าบุคลากรและเจ้าหน้าที่กทม. ส่วนใหญ่เป็นคนดี เรามุ่งมั่นที่จะนำคนทุจริตซึ่งเป็นส่วนน้อยออกไป และให้คนที่ตั้งใจทำงานเข้ามา ที่ผ่านมาเห็นการปรับปรุงที่ดีขึ้น ทุกคนทำงานอย่างตั้งใจ ไม่เหน็ดเหนื่อย ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารต้องเอาจริงเอาจังและให้ความเป็นธรรมกับทุกคน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2564 – 2566 มีรายงานเข้ามาประมาณ 390 เรื่อง ส่วนตั้งแต่เปิดศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) และศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) ระหว่างวันที่ 2 – 27 กุมภาพันธ์ 2566 มีแจ้งเข้ามาทาง Traffy Fondue 11 เรื่อง ผ่านทางผู้บริหารกทม. 8 เรื่อง รวมทั้งหมด 19 เรื่อง โดยดำเนินการแล้วเสร็จ 2 เรื่อง ส่งต่อหน่วยงานดำเนินการ 4 เรื่อง ส่งให้คณะทำงานดำเนินการ 12 เรื่อง และส่งเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ช. 1 เรื่อง ซึ่งเรื่องที่มีผลกระทบในภาพรวมจะดำเนินการส่ง ป.ป.ช.
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่จะดำเนินการต่อไปคือสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่าหากต้องการแจ้งเหตุจะสามารถแจ้งได้ที่ไหน เพราะพลังที่สำคัญที่สุดคือให้ประชาชนมีส่วนร่วม มอบอำนาจ (Empower) ให้ประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการทำให้กรุงเทพฯ โปร่งใสขึ้น ดังเช่นที่เราได้ทำระบบ Traffy Fondue ซึ่งปัจจุบันมีคนแจ้งเข้ามาประมาณ 240,000 เรื่อง แก้ไปแล้วประมาณ 170,000 เรื่อง ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการให้อำนาจประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
● หาแนวทางการเพิ่มรายได้ของกรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับเรื่องรายได้ของกทม. หากดูตัวเลขแล้ว รายได้หลักของกทม.คือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากข้อมูลพื้นฐานตอนนี้เก็บได้ประมาณ 96% ซึ่งแบ่งออกเป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และคอนโดมิเนียม ก็ได้เร่งรัดเรื่องการจัดเก็บ ทั้งนี้ อาจมีปัญหาในเรื่องการลดภาษี 15% ตามที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้เล็กน้อย แต่ทางกทม.ก็ประมาณการว่าต้องเก็บได้ไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว และได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อหาช่องทางในการเพิ่มรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ได้ไปเบียดเบียนคนที่ลำบาก แต่ให้การเก็บภาษีเป็นไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
อีกเรื่องหนึ่งที่มีผลต่อรายได้ของกทม.ที่จะต้องพยายามเร่งรัดจัดเก็บคือเรื่องภาษีป้าย (ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์) ที่กรมการขนส่งทางบกนำส่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 13,000 ล้านบาทต่อปี ปีที่แล้วจะเห็นว่าตัวเลขภาษีป้ายลดลงจากเดิมบ้าง เพราะฉะนั้นจะมีการทำ MOU ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ถ้ามีคนที่ไม่จ่ายภาษีเราจะช่วยออกจดหมายทวงถามให้ โดยตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กทม.ไม่มีอำนาจเป็นผู้จัดเก็บเอง แต่จะทำหน้าที่ช่วยทวงถามให้มากขึ้น
นอกจากนี้จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ที่จะให้เราสามารถมีอำนาจในการเก็บภาษีเพิ่มทั้งในแง่ของภาษีบำรุงกทม.สำหรับยาสูบ ค่าธรรมเนียมบำรุงกทม.จากผู้พักในโรงแรม ตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และภาษีบำรุงกทม.สำหรับน้ำมันฯ โดยเรามีการจัดเก็บภาษีน้ำมันอยู่แล้วแต่ในอัตราที่ต่ำอยู่ อาจจะมีการปรับให้สอดคล้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ซึ่งก็ได้ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ แต่คงเป็นขั้นตอนที่ไม่เร็ว เพราะต้องส่งให้กระทรวงมหาดไทยแล้วเข้ารัฐบาล คงต้องรอในรัฐบาลชุดหน้า รวมถึงให้พิจารณาภาษีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกทม.ยังไม่เคยทำมาก่อน แต่ในเมื่อมีแนวคิดจะแก้ พ.ร.บ. แล้ว ก็คิดว่าจะแก้ไปทีเดียวเลยได้หรือไม่ โดยเป็นไปตามหลักการ Polluter Pays Principle (PPP) คือผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ซึ่งหลายประเทศได้มีการจัดเก็บแล้ว เช่น คนไหนที่ทำกิจกรรมซึ่งทำความเสียหายกับสิ่งแวดล้อม เราจะเก็บภาษีเพิ่ม เหมือนที่ลอนดอนมี Low Emission Zone คือโซนที่ไม่อยากให้เกิดฝุ่น PM2.5 หากมีรถที่ได้ไม่ได้มาตรฐานมาวิ่งจะต้องมีการเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมเพิ่ม เป็นต้น ซึ่งภาษีสิ่งแวดล้อมนี้คาดว่าจะช่วยลดต้นตอมลพิษได้ และยังเป็นการเพิ่มรายได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม การจะแก้ พ.ร.บ.เรื่องนี้ จะต้องอ้างอิงจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ มาประกอบ ในส่วนของค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมเก็บขยะ ค่าธรรมเนียมน้ำเสีย อยู่ในช่วงการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
• คาด มิ.ย. นี้ เริ่มเก็บค่าขยะอัตราใหม่ตามความเหมาะสม และหารือแนวทางเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย
ค่าธรรมเนียมเก็บขยะและบำบัดน้ำเสียนั้น ค่าเก็บขยะไม่ต้องแก้ข้อบัญญัติใหม่ มีระยะเวลาดำเนินการอยู่ คาดว่าน่าจะเริ่มเดือน มิ.ย. นี้ ปัจจุบันเก็บค่าขยะได้ประมาณ 500 – 600 ล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งอาจไม่คุ้ม แต่การเก็บค่าขยะเป็นการจูงใจให้สร้างขยะน้อยลง มีการแยกขยะก่อนทิ้งมากขึ้น ยากที่จะเก็บค่าขยะให้คุ้มทุนกับค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ค่าธรรมเนียมเก็บขยะไม่ได้สร้างความลำบาก แต่เพื่อให้มีความเหมาะสมและมีความยุติธรรมมากขึ้น ใครสร้างขยะเยอะก็จ่ายเยอะกว่า ต้องดูในรายละเอียดที่คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง ส่วนการบำบัดน้ำเสียต้องดูความพร้อมของระบบ ไม่ง่าย ต้องหารือกับการประปานครหลวง เนื่องจากต้องดูจากการใช้น้ำดีตามมิเตอร์ ต้องดูว่าจะพ่วงกับค่าน้ำประปาหรือไม่ ซึ่งต้องคุยรายละเอียดกับการประปานครหลวงเพิ่มเติม
• ผุดแนวคิดเก็บค่าจอดรถด้วยเทคโนโลยี เพื่อความหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องค่าจอดรถ ปัจจุบันกทม.ออกประกาศให้เก็บค่าจอดรถยนต์บนถนน 66 สายทั่วกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง ทั้งนี้ การจัดเก็บค่าจอดรถปัจจุบันใช้คนเดินเก็บ ซึ่งอาจไม่มีประสิทธิภาพ การใช้คนเดินเก็บค่าจอดรถที่ได้อาจจะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายสำหรับคนเดินเก็บด้วย เป็นแนวคิดว่าอาจปรับนำเทคโนโลยีมาช่วยให้การเก็บค่าจอดรถให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเหมือนเมืองอื่นๆ ไม่ได้ให้เป็นภาระใคร เพียงแต่มองว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความหมุนเวียนทางเศรษฐกิจด้วย เพราะเวลาให้จอดฟรีหรือจอดนานบนที่สาธารณะที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันคือความไม่คุ้มค่า รถไม่เกิดการหมุนเวียน อาจให้จอดฟรี 1 ชั่วโมง เพื่อที่จะได้มีการหมุนเวียนรถมาจอด ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น ก็ต้องดูว่าจะมีจุดไหนที่สามารถทำเป็นที่จอดรถเพิ่มเติมได้ ได้ให้คณะกรรมการพิจารณารายได้ไปดูว่าจะสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง ซึ่งอยู่ในอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528
• วางแผนให้ประชากรแฝงย้ายทะเบียนบ้านเข้ากรุงเทพฯ เพิ่มรายได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต
สำหรับเรื่องที่จะทำหลังการเลือกตั้งคือ ทำอย่างไรให้ประชากรแฝงในกรุงเทพฯ ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามา เพื่อสะท้อนตัวเลขที่แท้จริง เพราะรายได้บางประเภท เช่น vat เราได้ปันตามจำนวนประชากร ซึ่งหากเราได้รายได้ตามจำนวนประชากรที่แท้จริงจะทำให้มีงบประมาณไปทำโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์บริการสาธารณสุข ให้เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่มาใช้บริการ ตลอดจนปรับปรุงสภาพการจราจร หรือเรื่องต่าง ๆ ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนต่อไปในอนาคต
● เดินหน้า City Lab ตอบปัญหาเมือง
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องต่อไปเป็นเรื่อง City Lab เป็นหนึ่งในกระบวนการ Open Bangkok ในหัวข้อ Open Innovation: สร้างสรรค์นวัตกรรมแก้ปัญหาเมือง ซึ่งการทำ City Lab มี 2 คณะ โดยคณะหนึ่งก็คือนำงานวิจัยทั้งหมดที่เคยมี เชื่อมกับทางหน่วยงานในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มาเก็บรวบรวมไว้ อีกคณะหนึ่งคือ City Lab ซึ่งจะมีเรื่องของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอยู่ด้วย แล้วนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาทดลองปฏิบัติจริง บางเรื่องที่ยังไม่มีงานวิจัยก็ส่งกลับไปที่คณะหนึ่งให้ทำวิจัย ก็จะเป็น 2 หน่วยงานที่คู่กัน
สำหรับใน Ciry Lab ก็จะมีหลายเรื่องที่ทำคู่ขนาน โดยมีเรื่องหนึ่งที่กำลังตั้ง คือเรื่องของ Nudge หรือเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ซึ่งในวันพุธที่ 1 มีนาคม นี้ จะมีการสรุปว่าจะมีกี่เรื่อง เบื้องต้นตั้งไว้ 5 ประเด็น เช่น จราจร โภชนาการอาหาร การแยกขยะ เป็นต้น ซึ่งหลายประเด็นจะต้องมีการประกาศนโยบายที่เป็นข้อบังคับคู่ขนานไปกับการทำเรื่องพฤติกรรม คือต้องทดลองในคนด้วย โดยทางกลุ่มผู้วิจัยจะมาช่วยทำ A/B testing ถ้าประสบความสำเร็จก็จะเริ่มประกาศเป็นนโยบาย
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่อง “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” ว่า จากการที่ได้ไปประชุมที่ประเทศอังกฤษ หน่วยงานที่ชื่อว่า Behavioral Insight Team (BIT) ได้มีการใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในการออกแบบนโยบายสาธารณะ โดยเน้นการออกแบบโครงการที่ช่วยสะกิด (Nudge) หรือจูงใจให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งในส่วนของกทม. ก็ได้มีการดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การจัดสลัดบาร์ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเพื่อให้เด็กนักเรียนกินผักมากขึ้น ซึ่งในตอนแรกที่เริ่มจัดสลัดบาร์นั้นเด็กไม่กินเลย เราจึงได้มีการนำ Innovation ง่าย ๆ เข้ามาปรับปรุง โดยศึกษาพฤติกรรมว่าเด็กชอบหรือไม่ชอบอะไร เช่น เด็กไม่กินผักสีม่วง ผักสีเขียวกินได้ ข้าวโพดเป็นผักที่เด็กชอบ เป็นต้น จากนั้นเราก็ปรับให้เขา นำสิ่งที่เด็กชอบเพิ่มเข้าไป อาทิ ปูอัด ไส้กรอก น้ำสลัด ทำให้เด็กมีพฤติกรรมการกินสลัดเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งปัจจุบันเราได้จัดสลัดบาร์สัปดาห์ละ 2 วัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นที่ต้องทำเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม อาทิ เรื่องคอร์รัปชัน เรื่องการแยกขยะ เรื่องวินัยจราจร เป็นต้น ซึ่งน่าจะเห็นความก้าวหน้าต่อไป
● เล็งจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลชุดใหม่
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า กทม.ได้สั่งการให้ทางทีมงานไปสรุปโครงการต่าง ๆ ว่ามีประเด็นอะไรบ้าง มาจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย หากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแล้วเห็นตรงกัน จะได้สามารถลุยไปด้วยกันแบบไร้รอยต่อ เช่น การนำพื้นที่ใต้ทางด่วนหรือพื้นที่ของรัฐ มาทำเป็น Hawker Center สำหรับหาบเร่-แผงลอยที่ไม่มีที่ขาย หรือการย้ายท่าเรือคลองเตยออกจากกรุงเทพฯ ซึ่งมีการขนถ่ายสินค้าปีละกว่า 1 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ หากย้ายออกไปได้ น่าจะลดผลกระทบด้านการจราจร ถนนพังเสียหาย ตลอดจนมลพิษที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้งทำให้การบริหารจัดการน้ำท่วมในอนาคตก็น่าจะดีขึ้นด้วย
● ซ่อมแบตฯ เรือไฟฟ้า เตรียมทดสอบเดินเรือคลองผดุงฯ อีกครั้ง
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษม ตอนนี้เราได้ปรับเรื่องค่าจ้างให้เหมาะสมขึ้น ตามที่คุยกับรองผู้ว่าฯ วิศณุ คิดว่าน่าจะลดจากเดือนละ 2.5 ล้านบาท เป็น 1.7 ล้านบาท ซึ่งเข้าใจว่ามีการประมูลไปแล้ว แต่ไม่มีผู้รับจ้าง สุดท้ายแล้ว บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) อาจจะเดินเรือเอง ก็คือนำเรือไปซ่อมแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันมีความเสียหายอยู่ ตอนนี้ดำเนินการซ่อมแล้ว 3 ลำ น่าจะต้องซ่อมให้เสร็จทั้งหมด แล้วจึงทดสอบเดินเรือได้ อย่างไรก็ตาม เรายินดีรับฟังคำติชมทุกอย่างเพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินการให้ดีขึ้น ซึ่งการเดินเรือก็ต้องพิจารณาปริมาณผู้ใช้ด้วย
• การเดินเรือแบบโครงข่ายทำได้ยาก เพราะหน้าที่ของคลองเปลี่ยนไป เล็งเพิ่มศักยภาพเหมาะสมกับเส้นทาง
อนึ่ง ลักษณะของคลองบ้านเราเปลี่ยนหน้าที่จากเส้นทางสัญจรมาเป็นคลองระบายน้ำเป็นหลัก มีเพียงบางเส้นทางที่ใช้เป็นเส้นทางสัญจรได้ คลองเชื่อมโยงกันจริงแต่มีประตูน้ำกั้น ยากที่จะต่อเชื่อมการเดินเรือในแต่ละคลอง ซึ่งการเชื่อมโยงเรือต่อเรือไม่ง่าย ถ้าทำได้ก็น่าจะเป็นคลองแสนแสบกับคลองลาดพร้าว จุดอื่นไม่น่าง่าย การเชื่อมโยงเรือกับรางน่าจะง่ายกว่า อย่างเรือคลองผดุงกรุงเกษมไม่ได้เร็วมาก ถ้าเคยนั่งจะทราบว่าระยะทางไม่ไกลแต่ใช้เวลานาน ปัจจุบันมีคนใช้อยู่วันละประมาณ 400 คน เส้นทางเดินเรือที่มีคนใช้บริการส่วนใหญ่จะมีโรงเรียนอยู่ปลายทาง คงพยายามพัฒนาเส้นที่เดินเรืออยู่ให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น อาจเป็น feeder บางเส้นทางจะมีการพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเพิ่มเติม มีด้านการตลาดเพิ่มขึ้น แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของผู้ใช้ว่ามีปริมาณมากน้อยแค่ไหน
● มอบปลัดติดตามงานคลองเปรมประชากรใกล้ชิด
สำหรับสถานการณ์คลองเปรมประชากร ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาหลักคือมีชุมชนบุกรุกจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถทำเขื่อนริมคลองได้ ไม่สามารถขุดลอกคลองได้แม้ว่าจะได้ผู้รับจ้างแล้ว บริเวณคลองเปรมประชากรจึงมีความตื้นเขินหลายจุด แต่หากเราไปขุด บ้านเรือนที่อยู่ริมคลองก็จะไหลลง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องคุยกับมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีความเร่งด่วนที่ต่างกัน อย่างเราเร่งด่วนในเรื่องของการระบายน้ำ อีกหน่วยงานอาจจะเร่งด่วนในเรื่องการหาที่อยู่ใหม่ให้คน ได้มอบหมายให้ปลัดกรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการเรื่องนี้ ให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้