(24 ก.พ.66) เวลา 08.15 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อพระองค์ผู้ทรงคุณต่อประเทศชาตินานัปการ โดยมีคณะผู้บริหารและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธี ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เขตบางกอกใหญ่
ด้วยวันที่ 24 ก.พ.ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กรุงเทพมหานครได้กำหนดจัดพิธีถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เขตบางกอกใหญ่ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีและเฉลิมพระเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์แก่อนุชนคนรุ่นหลังสืบไป
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 2 ในราชวงศ์จักรี เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชสมภพเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 ทรงครองราชย์วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 ขณะมีพระชนมายุ 42 พรรษา เสด็จสวรรคตวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 สิริพระชนมายุได้ 57 พรรษา และครองราชย์สมบัติได้ 15 ปี พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 2 เป็นรูปครุฑยุดนาค เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า “ฉิม” อันหมายถึงพญาครุฑในวรรณคดีไทยซึ่งอยู่ที่วิมานชื่อ ฉิมพลี
ทั้งนี้ ตลอดรัชสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสืบทอดพระราชปณิธานและพระราชภารกิจน้อยใหญ่จากพระบรมชนกนาถ ทั้งในยามบ้านเมืองปกติสุขและประสบเภทภัย ทรงนำคำสอนในพระพุทธศาสนามาเป็นแนวทางในการบริหารแผ่นดินปลูกฝังให้ประชาชนทุกระดับชั้น มีพื้นฐานศีลธรรมในใจ โดยทรงลงมือปฏิบัติเป็นแบบอย่างแก่ข้าราชบริพาร และจัดระเบียบการคณะสงฆ์ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ราชธานีในยุคของพระองค์จึงมั่นคงร่มเย็น เป็นยุคแห่งการฟื้นฟูด้านศิลปวัฒนธรรมทุกสาขาให้วิจิตรตระการตาเป็นเกียรติยศยิ่งของพระนคร ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่าง ๆ หลายสาขา ทั้งด้านกวีนิพนธ์ ด้านประติมากรรมและด้านดนตรี โดยเฉพาะด้านกวีนิพนธ์ที่รัชสมัยของพระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคทองของวรรณคดี เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระราชนิพนธ์ที่เป็นบทกลอนมากมาย อีกทั้งยังทรงเป็นยอดกวีด้านการแต่งบทละคร โดยมีหลายเรื่องที่ทรงนำมาแต่งใหม่เพื่อใช้ในการแสดง เช่น รามเกียรติ์ อุณรุท และ อิเหนา
—————————