(23 ก.พ. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ว่า วันนี้มาสัญจรที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นสำนักที่มีความสำคัญเพราะดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติต่าง ๆ อาทิ ไฟไหม้ วาตภัย อุทกภัย อาคารถล่ม ยานพาหนะ ไฟฟ้าลัดวงจร หรือสารเคมี และยังมีหน้าที่จิปาถะอีกหลายอย่างที่มีความครอบคลุมอยู่หลายด้าน โดยในแต่ละวันได้ไปช่วยประชาชนเฉลี่ยกว่า 150 เรื่อง เช่น จับงู จับตัวเงินตัวทอง รังต่อ แตน ผึ้ง ช่วยสัตว์เลี้ยง ช่วยคนกระโดดตึก เป็นต้น
สำหรับปัญหาหลัก ๆ มี 3 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นต่อไป โดยเรื่องแรกคือเรื่องอัตรากำลัง เรามีเจ้าหน้าที่อยู่ประมาณ 2 พันคน และยังมีอัตราว่างอยู่จำนวนมาก ขณะเดียวกันเราก็มีอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ประมาณ 6 หมื่นคน และอาสาสมัครตามมูลนิธิอีกประมาณ 7 พันคน ที่ต้องทำงานร่วมมือกันทั้ง 3 ส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะต้องมีการอบรมเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ว่าเวลาเกิดเหตุใครจะเข้าก่อน-เข้าหลัง จะมีความสัมพันธ์อย่างไร ซึ่งการอบรมร่วมกันนี้ เพื่อให้กำลังพลทั้ง 3 ส่วนทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการวางแผนระยะยาว ทั้งนี้คิดว่ากำลังพลทุกคนยังมีขวัญกำลังใจดี
เรื่องที่ 2 คือเรื่องอุปกรณ์เครื่องมือ ซึ่งเป็นปัญหาหนักมาก เรามีรถดับเพลิงประมาณ 840 คัน ทั้งรถดับเพลิงที่รับโอนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รถดับเพลิงที่นำมาใช้จากโครงการจัดหารถเรือดับเพลิง และรถดับเพลิงจากการจัดซื้อใหม่ หลักการคือต้องพยายามจัดหาเพิ่มมา โดยปีนี้จะมีการจัดหารถกู้ภัยเพิ่มมา 15 คัน และยังคงต้องวางแผนในระยะยาว ซึ่งได้เน้นย้ำในเรื่องของความโปร่งใส คุณภาพ และความมีประสิทธิภาพ
เรื่องที่ 3 คือเรื่องสถานที่ เรามีสถานีดับเพลิงและกู้ภัยทั้งหมด 48 แห่ง แบ่งเป็นสถานีฯ หลัก 37 แห่ง สถานีฯ ย่อย 11 แห่ง ถือว่าการกระจายตัวยังไม่ดี โดยใน 1 สถานีฯ มีพื้นที่ความรับผิดชอบ 32.68 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบมากกว่าสถานีฯ ในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก อาทิ สิงคโปร์ 14.27 ตร.กม. โตเกียว 7.57 ตร.กม. กรุงโซล 4.39 ตร.กม. ฉะนั้น ต้องมีการปรับปรุงและเพิ่มจำนวน รวมถึงสถานีดับเพลิงริมน้ำด้วยยังไม่อยู่กลุ่มที่จะดำเนินการปรับปรุงแต่มีการคุยกัน ขณะเดียวกันก็คงต้องมองถึงความจำเป็น ใน 2 มิติ คือ สถานีดับเพลิงริมน้ำ และการส่งเสริมชุมชนที่อยู่ริมน้ำให้มีความเข้มแข็ง เช่น จัดเครื่องมือดับเพลิงหาบหามต่าง ๆ ซึ่งจากเหตุไฟไหม้หลายครั้งที่ผ่านมา ที่ชุมชนบ้านครัว หรือว่าในชุมชนที่อยู่ริมน้ำ เช่น มัสยิดสุวรรณภูมิที่อยู่ตรงคลองสาน ไฟไหม้ที่สามเสนเมื่อเดือนที่แล้ว ถ้าชุมชนมีตัวเครื่องดับเพลิงหาบหามที่สามารถดูดน้ำเข้าไปฉีดได้เลย ก็อาจจะทำให้บรรเทาได้
นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านการบรรเทาสาธารณภัยที่ยังคงเดินหน้าต่อ โดยปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงาน ดำเนินการด้วยความรอบคอบ บริหารงานและทรัพยากรด้วยความสมดุล เนื่องจากศูนย์ฝึกอบรมฯ มีความจำเป็นต่อการพัฒนาความเชี่ยวชาญและเตรียมความพร้อมให้แก่เจ้าหน้าที่ อนาคตถ้าหากเรามีศูนย์ก็จะทำให้การประสานความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยของเรา อปพร. และอาสาสมัครมูลนิธิต่าง ๆ เกิดความเป็นเนื้อเดียวในการบรรเทาสาธารณภัยมากขึ้น
สำหรับการเพิ่มเบี้ยให้แก่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องของเบี้ยเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่ตอนนี้กำลังอยู่ในการทบทวนอยู่ว่าจะทำให้เหมาะสม และปรับให้เสมอกันกับการเสี่ยงภัย ตลอดจนงานที่มีความเสี่ยงทางด้านต่าง ๆ
● เน้นย้ำเจ้าหน้าที่เข้าถึงที่เกิดเหตุใน 8 นาที หรือเร็วที่สุด
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า หัวใจคือการเผชิญเหตุที่ต้องเร็ว ก็ได้ย้ำว่าเป้าหมายเราคือ 8 นาที ต้องไปถึงพื้นที่เกิดเหตุ เรื่องนี้คิดว่าถ้าเกิดอยู่ในพื้นที่เมืองน่าจะพอทำได้ แต่ถ้าเกิดอยู่ไกลออกไปหน่อยอาจจะมีระยะทางในการเดินทาง แต่สำคัญคือต้องเข้าเผชิญเหตุให้ทัน ในฝั่งของเราซึ่งถือเป็นฝั่งปลายน้ำ ตามที่ดูรายงานจากศูนย์วิทยุพระราม 199 เห็นว่าส่วนใหญ่ก็จะเข้าพื้นที่ได้ค่อนข้างเร็ว ส่วนฝั่งต้นน้ำคงต้องย้ำกับประชาชนว่าช่วงนี้เป็นช่วงอากาศแห้ง ประชาชนควรช่วยกันตรวจสอบภายในบ้านเรือนของตนเอง เพราะว่าเราไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบในแต่ละบ้านได้ โดยต้องระมัดระวังเรื่องเชื้อเพลิงที่อยู่ในบ้าน เรื่องไฟฟ้าลัดวงจร เรื่องการจุดธูปจุดเทียนในบ้าน ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดความเสี่ยง ยกตัวอย่าง เราไปลงพื้นที่ตลาดที่หัวตะเข้ซึ่งเป็นชุมชนเก่า เพราะกังวลเรื่องสายไฟที่อยู่ในชุมชน เนื่องจากสายไฟมีสภาพเก่าน่าจะเกิดเพลิงไหม้ได้ อาจจะต้องมีแนวคิดว่า ทางกทม.อาจจะต้องหาแนวร่วม หรือภาคีเครือข่าย โดยอาจจะเป็นโรงเรียนอาชีวะต่าง ๆ ที่มีอาสาสมัครเข้าไปช่วยตรวจสอบ เพราะว่า กทม. ไม่มีช่างไฟที่เชี่ยวชาญทางไฟฟ้าที่มีความสามารถมาตรวจสอบไฟต่าง ๆ ได้ หรือในชุมชนที่อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ เราอาจจะลองหาอาสาสมัคร ภาคีเครือข่าย ซึ่งอาจจะเป็นโรงเรียนของ กทม. ศูนย์ฝึกอาชีพของ กทม. หรืออาจะเป็นโรงเรียนเทคนิค อาชีวะ หรือโรงเรียนทางวิศวกรรม โดยอาจจะมีการจัดหน่วยเหล่านี้ไปช่วยตรวจสอบชุมชนที่มีสายไฟเก่าและให้คำแนะนำว่าควรจะปรับปรุงอย่างไร เรื่องนี้ก็จะเป็นแนวทางที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต
● แนะประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจตรงกัน เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุใน 8 นาที เริ่มจากกระบวนการไหน
กรณีมีการต่อว่ามาว่ามีไฟไหม้แล้วเข้าถึงที่เกิดเหตุช้า คงต้องดูตัวเลขอย่างเป็นทางการ เพราะว่าเรามีตัวเลขอยู่ เวลาแจ้งผ่านวิทยุสื่อสารจะรู้เลยว่า เมื่อวิทยุแจ้งแล้วรถเข้าถึงพื้นที่ในกี่นาที ส่วนเรื่องการประชาสัมพันธ์คิดว่าคงต้องประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะว่าประชาชนบางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าเริ่มนับเมื่อไร เข้าถึงเมื่อไร หรือเข้าถึงแล้วหรือยัง หรือว่ารถอะไรเข้าถึงก่อนหลัง ก็ต้องมี 2 มิติ มิติแรกคือ เข้าถึงได้จริงหรือเปล่า ซึ่งทาง ผอ.ต้องดูตัวเลขทางการ และถ้ามีปัญหาต้องไปปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น มิติที่สอง คือ ความรู้สึกของประชาชน ซึ่งคงต้องมีการสื่อสารให้เข้าใจกันว่าอุปสรรคคืออะไร คือบางทีเป็นปัญหาเรื่องรถจอด อย่างกรณีที่ไฟไหม้เมื่อเดือนที่แล้วก็มีปัญหาว่ารถจอดสองข้างทาง ทำให้การเข้าออกหรือเข้าถึงที่เกิดเหตุค่อนข้างลำบาก เพราะฉะนั้นอาจจะต้องมีความร่วมมือกันว่าบางทีอุปสรรคก็อาจจะมาจากเรื่องทางเข้าที่มันคับแคบจริง ๆ เรื่องการจอดรถ หรือเรื่องต่าง ๆ ซึ่งถ้าหากชุมชนช่วยกันดูแลก็อาจช่วยให้เราเข้าถึงได้เร็วขึ้นด้วย
● เหตุ “ถนนยุบตัว” คำนึงถึงความปลอดภัยประชาชน หากมีปัญหาให้หยุดก่อสร้าง
สำหรับกรณีเหตุถนนยุบตัวที่พระราม 3 ต้องบอกว่า เป็นโครงการของการไฟฟ้านครหลวงที่เอาสายไฟฟ้าลงดิน ผู้รับเหมาเป็นผู้ดูแลการดำเนินการ กทม.ไม่ได้เป็นผู้คุมงาน ที่ผ่านมาได้ประสานผู้ว่าการการไฟฟ้าและพยายามย้ำตลอด สาเหตุส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องคุณภาพการก่อสร้าง ซึ่งได้เน้นย้ำ รองผู้ว่าฯ วิศณุ ไปแล้วว่า ถ้าเกิดมีปัญหาก็ให้หยุดการก่อสร้างไปเลย ต้องเอาจริงเอาจัง ถ้าไม่สามารถสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนได้ก็ให้หยุดการก่อสร้าง ปัญหาน่าจะเป็นเรื่องทรายไหลแล้วทำให้พื้นที่ยุบตัว หนแรกที่เกิดอุโมงค์ยุบอันนั้นก็ยาวเลย บางครั้งก็เป็นเรื่องเฉพาะจุดที่ทำให้ทรายมันไหล คงต้องเน้นย้ำสำนักการโยธาให้ไปกำกับดูแล เพราะว่าเขาขอมาใช้พื้นที่เราในการก่อสร้าง แต่ในระหว่างการก่อสร้างเราไม่ได้เป็นผู้ควบคุมงาน เป็นเรื่องของทางการไฟฟ้านครหลวงเป็นผู้คุมงานเอง ต้องให้เขาส่งมาตรการดำเนินการ ถ้ามีปัญหาก็จะให้ยุติการก่อสร้างเพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการนั้นถูกต้อง ก็มีหลายเส้นที่เขาทำอยู่ เช่น พระราม 4 เพชรบุรีตัดใหม่ แต่พระราม 3 น่าจะเป็นจุดที่มีปัญหามากที่สุด
สำหรับการเสวนาแผ่นดินไหววานนี้ (22 ก.พ. 66) นั้น เนื่องจากในกรุงเทพมหานครจะมีทั้งอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 และอาคารที่ก่อสร้างหลังปี 2550 ซึ่งได้มีการกำหนดว่าต้องออกแบบให้สามารถรองรับแผ่นดินไหวตามกฎกระทรวง โดยมีอาคารที่เข้าข่ายการบังคับตามกฎกระทรวงทั้งสิ้นประมาณ 13,000 หลัง แต่อาคารที่ออกแบบหลังปี 2550 ซึ่งได้รับการออกแบบตามเกณฑ์การบังคับของกฎหมายแล้วจะมีอยู่ 3,000 หลัง และมีอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนกฎหมายบังคับใช้จำนวนกว่า 10,000 หลัง หากถามว่าอันตรายหรือไม่ ก็ยังบอกไม่ได้ เนื่องจากอาคารที่ออกแบบก่อนนั้นก็ต้องออกแบบเพื่อป้องกันแรงลม ซึ่งมีลักษณะคล้าย ๆ กับแผ่นดินไหว อย่างไรก็ตาม ต้องสำรวจโดยผู้ตรวจสอบอาคารว่าอาคารมีความมั่นคงหรือไม่ หรือมีความเสี่ยงแค่ไหน กรุงเทพมหานครจึงได้ให้สำนักโยธาไปจัดแบ่งกลุ่มอาคารว่ากลุ่มไหนที่มีความเสี่ยง ซึ่งมีสองแบบคือ ประเภทการใช้งาน กับลักษณะอาคาร ให้ไปจัดกลุ่มอาคารมาก่อน ขณะเดียวกันก็เริ่มจากกทม.เลย ถ้ามีอาคารที่สร้างก่อนปี 2550 ให้ไปหาทางว่าต้องดำเนินการปรับปรุงอะไรบ้างถึงรับแรงแผ่นดินไหวได้ จะทำอย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไร เพื่อเพิ่มความมั่นใจมากยิ่งขึ้น